สติปัฏฐานสี่ตามแนววิชชาธรรมกาย

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 21 สิงหาคม 2014.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    a.jpg
     
  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    ?temp_hash=97778e79e89afed51ca38a34aede78ed.jpg


    กัณฑ์ที่ ๓๖
    โพชฌงค์ปริตร
    วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๗
    ...............................................................




    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ

    ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวีตา โวโรเปตา ฯ เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คพฺพสฺส ฯ
    โพชฺฌงฺโค สติสงฺขาโต ธมฺมานํ วิจโย ตถา
    วิริยมฺปีติปสฺสทฺธิ โพชฺฌงฺคา จ ตถาปเร
    สมาธุเปกฺขโพชฺฌงฺคา สตฺเต เต สพฺพทสฺสินา
    มุนินา สมฺมทกฺขาตา ภาวิตา พหุลีกตา
    สํวตฺตนฺติ อภิญฺญาย นิพฺพานาย จ โพธิยา
    เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา ฯ
    เอกสฺมึ สมเย นาโถ โมคฺคลฺลานญฺจ กสฺสปํ
    คิลาเน ทุกฺขิเต ทิสฺวา โพชฺฌงฺเค สตฺต เทสยิ
    เต จ จํ อภินนฺทิตฺวา โรคา มุจฺจึสุ ตงฺขเณ
    เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา ฯ
    เอกทา ธมฺมราชาปิ เคลญฺเญนาภิปีฬิโต
    จุนฺทตฺเถเรน ตญฺเญว ภณาเปตฺวาน สาทรํ
    สมฺโมทิตฺวา จ อาพาธา ตมฺหา วุฏฺฐาสิ ฐานโส
    เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา ฯ
    ปหีนา เต จ อาพาธา ติณฺณนฺนมฺปิ มเหสินํ
    มคฺคาหตกิเลสา ว ปตฺตานุปฺปตฺติธมฺมตํ
    เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทาติ ฯ


    -------------------------------------------


    ณ บัดนี้อาตมภาพจักได้แสดงความจริงความสัตย์ ซึ่งปรากฏชัดตามตำรับตำราอันมีมาในโพชฌงคปริตรจะแสดงตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอเป็นเครื่องปฏิการสนองประคองศรัทธา ประดับสติปัญญาคุณสมบัติของท่านผู้พุทธบริษัท ทั้งคฤหัสถ์ บรรพชิตบรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า เริ่มต้นธรรมเทศนาว่า



    ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ เป็นอาทิ นี้เป็นคำของพระอังคุลิมาลเถระท่านแสดงไว้ ท่านเชิดความจริงความสัตย์ของท่าน ให้พุทธบริษัทจำไว้เป็นเนติแบบแผน

    เมื่อครั้งหนึ่งพระอังคุลิมาลเถระ ไปพบหญิงปวดครรภ์เต็มที่จะคลอดบุตร แต่มันคลอดไม่ออก มันจะถึงกับตายร้องไห้ พระอังคุลิมาลเถระช่วย พระอังคุลิมาลเถระจึงได้เปล่งวาจาช่วยหญิงคลอดบุตรนั้นว่า

    ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวีตา โวโรเปตา เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คพฺพสฺส

    แปลเป็นสยามภาษาว่า ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว โดยชาติเป็นอริยะ นาภิชานามิ ไม่มีใจแกล้งเลยที่จะปลงสัตว์ที่มีชีพและชีวิต ด้วยความสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่าน พอขาดคำเท่านี้ หญิงนั้นคลอดบุตรผลุดทีเดียว หายจากทุกข์ภัยกัน การคลอดบุตร

    เมื่อคลอดเสียแล้วมันก็หายทุกข์หายภัย หายลำบากแก่มารดาผู้คลอด เหมือนท้องผูกถ่ายอุจจาระไม่ออก มันก็เดือดร้อนแก่เจ้าของ แต่พอออกมาเสียแล้วก็หมดทุกข์กัน นี้ด้วยความสัตย์อันนี้แหละคลอดบุตรก็ ง่ายเต็มที นี่บทต้น

    บทที่สองรองลงไป นี่พระองค์ทรงรับสั่งเองว่า
    โพชฺฌงฺโค สติสงฺขาโต ธมฺมานํ วิจโย ตถา
    วิริยมฺปีติปสฺสทฺธิ โพชฺฌงฺคา จ ตถาปเร
    สมาธุเปกฺขโพชฺฌงฺคา สตฺเต เต สพฺพทสฺสินา
    มุนินา สมฺมทกฺขาตา ภาวิตา พหุลีกตา
    สํวตฺตนฺติ อภิญฺญาย นิพฺพานาย จ โพธิยา
    เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา ฯ


    แปลเป็นสยามภาษาว่า โพชฌงค์ ๗ ประการ คือ

    สติสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง
    ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง
    วิริยสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง
    ปีติสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง
    ปัสสัทธิโพชฌงค์ ประการหนึ่ง
    สมาธิสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง
    อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง
    เหล่านี้ อันพระมุนีเจ้าผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงกล่าวไว้ชอบแล้ว

    ภาวิตา พหุลีกตา อันบุคคลเจริญธรรมให้มากแล้ว
    สํวตฺตนฺติ ย่อมเป็นไปพร้อม
    อภิญฺญาย เพื่อความรู้ยิ่ง
    นิพฺพานาย เพื่อนิพพาน
    โพธิยา เพื่อความตรัสรู้ ด้วยความสัตย์อันนี้ ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ นี่เป็นบทต้นของโพชฌงค์



    บทที่สองรองลงไป
    เอกสฺมึ สมเย นาโถ โมคฺคลฺลานญฺจ กสฺสปํ
    คิลาเน ทุกฺขิเต ทิสฺวา โพชฺฌงฺเค สตฺต เทสยิ
    เต จ จํ อภินนฺทิตฺวา โรคา มุจฺจึสุ ตงฺขเณ
    เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา ฯ
    เอกสฺมึ สมเย ในสมัยอันหนึ่ง
    นาโถ พระโลกนาถเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะและ พระกัสสปะอาพาธถึงซึ่งความเวทนาแล้ว ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ ท่านทั้ง ๒ คือ พระโมคคัลลานะ กับพระกัสสปะ ยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า โรคก็หายไปในขณะนั้น ด้วยอำนาจความกล่าวสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านในกาลทุกเมื่อ



    บทที่สาม ต่อไป
    เอกทา ธมฺมราชาปิ เคลญฺเญนาภิปีฬิโต
    จุนฺทตฺเถเรน ตญฺเญว ภณาเปตฺวาน สาทรํ
    สมฺโมทิตฺวา จ อาพาธา ตมฺหา วุฏฺฐาสิ ฐานโส
    เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา ฯ
    เอกทา ครั้งหนึ่ง ธมฺมราชาปิ แม้พระธรรมราชาคือพระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของธรรม
    เคลญฺเญนาภิปีฬิโต ผู้อันอาพาธเบียดเบียนแล้ว
    จุนฺทตฺเถเรน ตญฺเญว ภณาเปตฺวาน ทรงรับสั่งให้พระจุนทเถรแสดงซึ่งโพชฌงค์นั้นแหละ พระองค์ทรงสดับโพชฌงค์เช่นนั้นแล้วร่าเริงบันเทิงพระทัยอาพาธก็หายไปโดยฐานะอันนั้น
    เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
    ปหีนา เต จ อาพาธา ติณฺณนฺนมฺปิ มเหสินํ
    มคฺคาหตกิเลสา ว ปตฺตานุปฺปตฺติธมฺมตํ
    เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทาติ ฯ
    ปหีนา เต จ อาพาธา อาพาธทั้งหลายเหล่านั้น
    ติณฺณนฺนมฺปิ มเหสินํ มคฺคาหต กิเลสา ว ปตฺตา
    อันท่านผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ ท่าน ถึงซึ่งความดับหายไป ดุจกิเลส อันมรรคบำบัดแล้ว หรืออันมรรคกำจัดแล้ว ด้วยอำนาจสัจวาจานี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านจงทุกเมื่อ

    นี่แปลมคธภาษาเป็นสยามภาษาฟังเพียงแค่นี้ ท่านผู้แปลบาลีฟังออกเข้าใจแล้ว แต่ว่าท่านผู้ไม่ได้เรียนอรรถแปลแก้ไขยังไม่เข้าใจ ต้องอรรถาธิบายลงไปอีกชั้นหนึ่ง



    ในบทต้นว่าพระอังคุลิมาลเถระเจ้า ท่านเป็นผู้กระทำบาปหยาบช้ามากนัก ก่อนบวชในพระธรรมวินัยของพระศาสดา ฆ่ามนุษย์เสีย ๙๙๙ ชั้นต้นก็ทำดีมา ได้เล่าเรียนศึกษาวิชา จวนจะสำเร็จแล้ว ถูกอาจารย์ลงโทษจะทำลายชีวิตเสีย เกิดต้องทำกรรมหยาบช้าลามก เศร้าโศกเสียใจเหมือนกัน ฆ่ามนุษย์เกือบพัน เก้าร้อยเก้าสิบเก้าคน

    พระทศพลเสด็จไปทรมาน อังคุลิมาลโจรนั้นละพยศร้าย กลับกลายบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา
    ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน

    ชาวบ้านชาวช่องกลัวกันนัก ขึ้นชื่อว่าอังคุลิมาลโจรละก็ ซ่อนตัวซ่อนเนื้อทีเดียว กลัวจะทำลายชีวิตเสีย กลัวนักกลัวหนา กลัวยิ่งกว่าเสือยิ่งกว่าแรดไปอีก เพราะเหตุว่าอังคุลิมาลโจรผู้นี้เป็นคนร้ายสำคัญ ถ้าว่าจะฆ่าใครแล้วไม่กลัวใครทั้งนั้น ฆ่าแล้วตัดเอาองคุลีไปร้อย จะไปเรียนวิชาเป็นเจ้าโลก

    เมื่อจำนนฤทธิ์พระบรมศาสดา เข้ายอมบวชในพระธรรมวินัยของพระศาสดาแล้ว บวชแล้วไปบิณฑบาต หญิงท้องแก่ท้องอ่อนไม่เข้าใจ พอได้ยินข่าวว่าพระองคุลิมาลมาละก็ซ่อนเนื้อซ่อนตัว วิ่งซุกวิ่งซ่อนกัน ได้ข่าวว่าหญิงท้องแก่ลอดช่องรั้ว ลูกทะลักออกมาทีเดียว ด้วยกลัวพระองคุลิมาล




    คราวนี้ท่านไปในที่สมควร หญิงที่กำลังจะคลอดบุตรอยู่นั่นหนีไม่พ้น ไปไม่ได้ก็ร้องให้องคุลิมาลช่วย

    พระองคุลิมาลเป็นพระอรหันต์แล้ว สงสารหญิงที่กำลังคลอดบุตรนั้น ก็กล่าวคำสัตย์คำจริงขึ้นว่า

    ยโตหํ ภคินิ ว่าดูกรน้องหญิง กาลใดเมื่อได้เกิดแล้วโดยชาติเป็นอริยะ ไม่มีความแกล้งปลงสัตว์จากชีวิตเลย ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่าน

    ขาดคำเท่านี้ หญิงนั้นคลอดบุตรผลุดทีเดียว นี่ยกข้อไหน?
    ให้จำไว้เป็นตำรับตำรา เป็นภิกษุก็ดี เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ดี ในพระธรรมวินัยของพระศาสดา ในศาสนาของพระพุทธเจ้า นี้เป็นคำของพระอรหันต์ พระองคุลิมาลท่านเป็นพระอรหันต์เสียแล้ว

    ท่านจะกล่าวถ้อยคำว่าตั้งแต่ท่านเกิดมาไม่ได้ฆ่าสัตว์เลยน่ะ ไม่ได้มีใจแกล้งฆ่าสัตว์เลยน่ะ ท่านกล่าวไม่ได้ ท่านเป็นคนร้ายมา พึ่งกลับมาเป็นคนดี เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อเกิดเป็นพระอรหันต์แล้ว

    ท่านจึงได้ชี้ชัดว่า จำเดิมแต่เราเกิดแล้วโดยชาติเป็นอริยะ ไม่มีความแกล้งปลงสัตว์จากชีวิตเลย นี่ความจริงของท่าน ท่านยกเอาความจริงอันนี้แหละขึ้นเชิด ที่ท่านเป็นผู้ประเสริฐ เป็นอริยบุคคลในธรรมวินัยของพระศาสดา ขอความจริงอันนี้แหละจงบันดาลเถิด

    ท่านขอความจริงอันนี้ อธิษฐานด้วยความจริงอันนี้ พอขาดคำของท่านเท่านั้นลูกคลอดทันที นี่ความสัตย์ยกความจริงขึ้นพูด



    ไม่ใช่แต่พระองคุลิมาลเท่านั้นที่ยกความจริงขึ้นพูด หญิงแพศยาทำฤทธิ์ทำเดชได้ยกความจริงขึ้นพูดเหมือนกัน

    หญิงแพศยาคนหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินยกพยุหเสนาไปพักอยู่ที่แม่น้ำใหญ่ ว่ายข้ามก็จะไม่พ้น น้ำไหลเชี่ยวเป็นฟอง ไหลปราดทีเดียว เมื่อเขาตั้งพลับพลาให้พักอยู่ที่คันแม่น้ำใหญ่เช่นนั้น

    ท่านทรงดำริว่า แม่น้ำใหญ่ไหลเชี่ยวขนาดนี้จะมีใครผู้ใดผู้หนึ่งอาจสามารถจะทำให้น้ำไหลกลับได้บ้าง ทรงดำริดังนี้ รับสั่งแก่มหาดเล็กเด็กชายของพระองค์ มหาดเล็กเด็กชายของพระองค์ก็ไปเที่ยวป่าวร้องหาว่าผู้ใดใครผู้หนึ่งอาจสามารถทำให้น้ำในแม่น้ำนี้ไหลกลับขึ้นได้บ้าง

    หญิงแพศยาคนหนึ่งรับทีเดียว ว่าฉันเองจะทำให้น้ำไหลกลับได้ เพราะนางเป็นแพศยาก็จริงมั่นใจว่า ชายคนใดไม่ว่าชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นต่ำ
    ให้เงินเพียงค่าบาทหนึ่งปฏิบัติเพียงเท่านี้
    ให้เงินค่าสองบาทปฏิบัติเพียงเท่านี้
    สามบาทปฏิบัติเพียงเท่านี้
    พอแก่ค่าของเงินเท่านั้น เหมือนกันไม่ได้ขาดตกบกพร่อง
    ไม่ว่าชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นต่ำ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ทำไปตามหน้าที่ของตัว ความสัตย์มีอย่างนี้

    นางเมื่อราชบุรุษพาไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินทรงรับสั่งว่า เจ้าหรืออาจจะทำให้น้ำไหลกลับได้

    พะย่ะค่ะหม่อมฉันอาจสามารถจะทำให้น้ำไหลกลับได้
    เจ้าจะต้องการอะไร ธูปเทียนดอกไม้จะหาให้ ถ้าเจ้าทำน้ำให้ไหลกลับได้ตามคำกล่าวของเจ้าแล้ว เราจะรางวัลให้หนักมือทีเดียว ถ้าว่าเจ้าทำน้ำไหลกลับไม่ได้ เจ้าจะมีโทษหนักทีเดียว

    นางจุดธูปเทียนตั้งสัตยาธิษฐานหันหน้าไปทางด้านแม่น้ำ ยกเอาความสัตย์นั่นเอง อธิษฐานว่า

    เดชะบุญญาภินิหารความสัตย์ ความจริงของหม่อมฉัน ได้สั่งสมอบรมมาตั้งแต่เป็นหญิงแพศยา ได้ปฏิบัติชายผู้หนึ่งผู้ใดที่มาหาข้าพเจ้า

    ข้าพเจ้าปฏิบัติโดยค่าควรแก่บาทหนึ่ง ควรแก่สองบาท ควรแก่สามบาท ตามหน้าที่ความจริงทำอยู่ดังนี้ ไม่ได้เคลื่อนคลาดไปแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าว่าความสัตย์จริงอันนี้ของหม่อมฉันจริงดังหม่อมฉันอธิษฐานดังนี้แล้ว

    ขออำนาจความสัตย์นี้ จงบันดาลให้น้ำไหลกลับโดยฉับพลันเถิด พออธิษฐานขาดคำเท่านั้น น้ำไหลกลับอู้ ไหลลงเชี่ยวเท่าใด ก็ไหลขึ้นเชี่ยวเท่านั้นเหมือนกัน พอกันทีเดียว

    พระเจ้าแผ่นดินเห็นอัศจรรย์เช่นนั้น ก็ให้เครื่องรางวัลแก่หญิงแพศยานั่นอย่างพอใจ ให้เป็นนายหญิงแพศยาต่อไป

    แล้วก็ให้บ้านส่วยสำหรับพักพาอาศัยอยู่ ไม่ขาดตกบกพร่องใดๆ ละ เป็นสุข สำราญ เบิกบานใจทีเดียว หญิงแพศยาผู้นั้น

    นี่ความสัตย์โดยความชั่วยังเอามาใช้ได้ ส่วนพระองคุลิมาลเถระเจ้านี้
    ท่านยกความสัตย์ที่ได้บรรลุพระอรหันต์ขึ้นอธิษฐาน หญิงคลอดบุตรไม่ออก พอขาดคำหญิงคลอดบุตรผลุดออกไป อัศจรรย์อย่างนี้


    นี่ใช้ความสัตย์อย่างนี้ ติดขัดเข้าแล้วอย่าเที่ยวใช้เรื่องเลอะๆ เหลวๆ บนผีบนเจ้า
    นั่นไม่ได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์เลย พวกนั้นไม่ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษเลย ความเห็นจึงได้เลอะเทอะเหลวไหลเช่นนั้น ไม่ถูกหลักถูกฐาน ถูกทางพุทธศาสนา
    ถ้าว่ารู้จักหลักทางพระพุทธศาสนาแล้ว ต้องยกขึ้นพูดความสัตย์ความจริงนั่นเป็นข้อสำคัญ





    ถ้าความบริสุทธิ์ของศีลมีอยู่ก็ต้องยกความบริสุทธิ์นั่นแหละขึ้นพูด
    หรือความบริสุทธิ์ของสมาธิมีอยู่ ก็ยกความบริสุทธิ์ของสมาธิขึ้นพูดขึ้นอธิษฐาน

    หรือแม้ว่าความจริงของปัญญามีอยู่ก็ยกความจริงของปัญญานั้นขึ้นอธิษฐาน
    หรือความสัตย์ความจริงความดีอันใดที่ทำไว้แน่นอนในใจของตัว ให้ยกเอาความดีอันนั้นแหละ ขึ้นอธิษฐานตั้งอกตั้งใจ บรรลุความติดขัดทุกสิ่งทุกประการ ให้รู้จักหลักฐานดังนี้


    นี่ในเรื่องพระองคุลิมาลเถระเจ้าเป็นสาวกของพระบรมศาสดา พระศาสดาทรงรับสั่งไว้ในโพชฌงค์กถา หรือโพชฺฌงฺคปริตตํ นั้น ปรากฏว่า โพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ ตั้งแต่สติจนกระทั่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ทั้ง ๗ ประการเหล่านี้แหละ อันพระมุนีเจ้าผู้เห็นธรรมทั้งสิ้น ได้กล่าวไว้ชอบแล้ว

    ถ้าว่าบุคคลใดเจริญขึ้นกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อนิพพาน เพื่อความตรัสรู้ ความจริงอันนี้ ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้แหละขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ ข้อนี้เป็นข้อสำคัญ

    สติสัมโพชฌงค์ เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้บรรลุมรรคผลสมมาดปรารถนา
    ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
    วิริยสัมโพชฌงค์
    ปีติสัมโพชฌงค์
    ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
    สมาธิสัมโพชฌงค์
    อุเบกขาสัมโพชฌงค์



    สติสัมโพชฌงค์ เราต้องเป็นคนไม่เผลอสติเลย เอาสตินิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่น ตั้งสติตรงนั้นทำใจให้หยุด ไม่หยุดก็ไม่ยอม ทำให้หยุดไม่เผลอทีเดียว ทำจนกระทั่งใจหยุดได้



    นี่เป็นตัวสติสัมโพชฌงค์แท้ๆ ไม่เผลอเลยทีเดียว ที่ตั้งที่หมาย หรือกลางดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ สะดือทะลุหลังขวา ทะลุซ้าย กลางกั๊กนั่นใจหยุดตรงนั้น

    เมื่อทำใจหยุดตรงนั้น ไม่เผลอสติทีเดียว ระวังใจหยุดนั้นไว้ นั่งก็ระวัง ใจหยุด นอนก็ระวังใจหยุด เดินก็ระวังใจหยุด ไม่เผลอเลย นี่แหละตัวสติ สัมโพชฌงค์แท้ๆ จะตรัสรู้ต่างๆ ได้เพราะมีสติสัมโพชฌงค์อยู่แล้ว

    ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ เมื่อสติใจหยุดนิ่งอยู่ก็สอดส่องอยู่ ความดีความชั่วจะเล็ดลอดเข้ามาท่าไหน ความดีจะลอดเข้ามา หรือความชั่วจะลอดเข้ามา

    ความดีลอดเข้ามา ก็ทำใจให้หยุด
    ความชั่วลอดเข้ามา ก็ทำใจให้หยุด
    ดีชั่วไม่ผ่องแผ้วไม่เอาใจใส่ ไม่กังวล ไม่ห่วงใย ใจหยุดระวังไว้ ไม่ให้เผลอก็แล้วกัน นั่นเป็นตัวสติวินัย ที่สอดส่องอยู่นั่นเป็นธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

    วิริยสัมโพชฌงค์ เพียรรักษาใจหยุดนั้นไว้ไม่ให้หาย ไม่ให้เคลื่อนทีเดียว ไม่เป็นไปกับความยินดียินร้ายทีเดียว


    ความยินดียินร้ายเป็น อภิชฌา โทมนัส เล็ดลอดเข้าไปก็ทำใจหยุดนั่นให้เสียพรรณไปให้เสียผิวไป ไม่ให้หยุดเสียให้เขยื้อนไปเสีย ให้ลอกแลกไปเสีย มัวไป ดีๆ ชั่วๆ อยู่เสียท่าเสียทาง

    เพราะฉะนั้นต้องมีความเพียรกลั่นกล้ารักษาไว้ให้หยุดท่าเดียว นี้ได้ชื่อว่าวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นองค์ที่ ๓





    ปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อใจหยุดละก็ชอบอกชอบใจ ดีอกดีใจ ร่าเริงบันเทิงใจ อ้ายนั่นปีติ ปีติที่ใจหยุดนั่น ปีติไม่เคลื่อนจากหยุดเลย หยุดนิ่งอยู่นั่น นั่นปีติสัมโพชฌงค์ นี้เป็นองค์ที่ ๔


    ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิ แปลว่า ระงับซ้ำ

    หยุดในหยุดๆๆ ไม่มีถอยกัน พอหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั่น หยุดในหยุด หยุดในหยุด นั่นทีเดียว นั่นปัสสัทธิระงับซ้ำ เรื่อยลงไป ให้แน่นหนาลงไว้ ไม่คลาดเคลื่อน ปัสสัทธิ มั่นคงอยู่ที่ใจหยุดนั่น ไม่ได้เป็นสองไป เป็นหนึ่งทีเดียว นั่นเรียกว่า สมาธิทีเดียว นั่นแหละ


    พอสมาธิหนักเข้าๆ นิ่งเฉยไม่มีสองต่อไป นี่เรียกว่า อุเบกขา เข้าถึงนิ่งเฉยแล้ว อุเบกขาแล้ว



    นี่องค์คุณ ๗ ประการอยู่ทีเดียวนี่ อย่าให้เลอะเลือนไป

    ถ้าได้ขนาดนี้ ภาวิตา พหุลีกตา กระทำเป็นขึ้นแค่นี้ กระทำให้มากขึ้น
    สํวตฺตนฺติ ย่อมเป็นไปพร้อม
    อภิญฺญาย เพื่อรู้ยิ่ง
    นิพฺพานาย เพื่อสงบ ระงับ
    โพธิยา เพื่อความตรัสรู้ ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้แหละขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านในทุกกาลทุกเมื่อ



    ความจริงอันนี้ ถ้ามีจริงอยู่อย่างนี้ละ รักษาเป็นแล้ว รักษาโพชฌงค์เป็นแล้ว อธิษฐานใช้ได้ ทำอะไรใช้ได้ โรค ภัย ไข้เจ็บ แก้ได้ ไม่ต้องไปสงสัยละ




    ความจริงมีแล้ว โรคภัยไข้แก้ได้ แก้ได้อย่างไร?

    ท่านยกตัวอย่างขึ้นไว้
    เอกสฺมึ สมเย นาโถ โมคฺคลฺลานญฺจ กสฺสปํ
    คิลาเน ทุกฺขิเต ทิสฺวา โพชฺฌงฺเค สตฺต เทสยิ
    เต จ จํ อภินนฺทิตฺวา โรคา มุจฺจึสุ ตงฺขเณ
    เอกสฺมึ สมเย ในสมัยหนึ่ง
    นาโถ พระโลกนาถเจ้าทรงทอดพระเนตร ทรงดูพระโมคคัลลานะ และพระกัสสปะอาพาธถึงซึ่งทุกขเวทนา อาพาธเกิดเป็นทุกขเวทนา ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ดังกล่าวแล้ว

    ที่แสดงแล้วนี่ ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้ทำใจหยุดลงไว้ให้นิ่งลงไว้ เมื่อพระองค์ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ แล้ว ท่านทั้งสอง พระโมคคัลลานะกับ พระกัสสปะ มีใจร่าเริงบันเทิงในภาษิตของพระองค์นั้น โรคหายในขณะนั้น

    นี่ความสัตย์อันนี้ ความจริงอันนี้โรคหายทีเดียว ได้ศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้ นี่ว่าอย่างพระโมคคัลลานะ พระพุทธเจ้า นี่ท่านผู้แสวงซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่หนา

    ทั้ง ๓ ท่านเป็นผู้สำเร็จแล้ว ยังมีโรคเข้ามาเบียดเบียนได้ เบียดเบียนก็ใช้โพชฌงค์กำจัดเสีย ไม่ต้องไปกินหยูก กินยา ที่ไหนเลยสักอย่างหนึ่ง โพชฌงค์เท่านั้นแหละโรคหายไปหมด


    ดังวัดปากน้ำบัดนี้ ก็ใช้วิชชาบำบัดโรคเช่นนี้เหมือนกัน ใช้บำบัดโรคไม่ต้องใช้ยา ตรงกับทางพุทธศาสนาจริงๆ อย่างนี้ นี่ชั้นหนึ่ง


    นี่พระองค์เองพระองค์ทรงเอง คราวนี้โดนพระองค์เข้าบ้าง

    เอกทา ธมฺมราชาปิ เคลญฺเญนาภิปีฬิโต ครั้งหนึ่งพระธรรมราชา

    ธมฺมราชาปิ แม้พระธรรมราชา คือ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของพระธรรมเอง ปิ อันนั้นไม่แม้ แปลเป็นเองเสีย ครั้งหนึ่งพระธรรมราชาเอง อันอาพาธเข้าบีบคั้นแล้ว

    เคลญฺเญนาภิปีฬิโต จุนฺทตฺเถเรน ตญฺเญว ภณาเปตฺวาน ทรงรับสั่งให้พระจุนทเถร แสดงโพชฌงค์ ๗ ประการนั้นด้วยความยินดี

    สมฺโมทิตฺวา จ อาพาธา ทรงบันเทิงพระทัยในโพชฌงค์ที่พระจุนทเถรทรงแสดงถวายนั้น อาพาธหายไปโดยฉับพลัน ด้วยฐานะอันสมควร ด้วยความสัตย์อันนี้ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

    นี่พระองค์เองอาพาธ พระจุนทเถรแสดงสัมโพชฌงค์ระงับ ก็หายอีกเหมือนกัน ในท้ายพระสูตรนี้ ว่า


    ปหีนา เต จ อาพาธา อาพาธทั้งหลายเหล่านั้น
    ตมฺหาวุฏฺฐาสิ ฐานโส มคฺคาหตกิเลสา ว ปตฺตานุปฺปตฺติธมฺมตํ
    อาพาธทั้งหลายเหล่านั้นถึงซึ่งความดับไป ดุจกิเลสอันมรรคกำจัดไปดังนั้น ไม่เกิดขึ้นได้ นี่ด้วยความสัตย์จริงอันนี้ ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทุกเมื่อ นี่ความจริงเป็นดังนี้




    ถ้าเรารู้จักพุทธศาสนาดังนี้ เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกหลักฐานความจริงของพระพุทธศาสนา อังคุลิมาลเถระเจ้า ท่านเป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา เป็นขีณาสพแล้ว ท่านใช้ความสัตย์จริงของท่านขึ้นอธิษฐาน บันดาลให้หญิงคลอดบุตรไม่ออกให้ออกได้ ตามความปรารถนา

    ส่วนโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ พระบรมศาสดาจารย์ทรงแสดงให้พระโมคคัลลานะ พระกัสสปะ กำลังอาพาธอยู่ก็หายโดยฉับพลัน แล้วส่วนพระองค์ท่านล่ะอาพาธขึ้น ทรงรับสั่งให้พระจุนทเถรแสดงโพชฌงค์นั้น อาพาธของพระองค์ก็หายโดยฐานะอันสมควรทีเดียว


    นี่หลักอันนี้โพชฌงค์เป็นตัวสำคัญ ประเสริฐเลิศกว่าโอสถใดๆ ในสากลโลกทั้งนั้น
    เหตุนี้ท่านผู้มีปัญญา เมื่อได้สดับมาในโพชฌงคปริตรนี้ จงมนสิการกำหนดไว้ในใจของตนทุกถ้วนหน้า
    ที่ได้ชี้แจงแสดงมาตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบายพอสมควรแก่เวลา
    เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติ ตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า

    อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้

    เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้






    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • a (2).jpg
      a (2).jpg
      ขนาดไฟล์:
      13.7 KB
      เปิดดู:
      156
  3. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    แชร์ความเห็น จากคุณ "หยุดไปด้วยกัน"

    --------------------------------------


    ถ้าจะกำหนดใจเราที่กลางท้อง อย่าพยายามมองหาตำแหน่ง center ด้วยตา ไม่ว่าจะมองด้วยสายตา หรือนึกว่าตาของเราพยายามมอง เพราะจะมองเห็นลำบาก หรือกำหนด center แล้วรู้สึกว่าไม่เป๊ะ ต้องเลื่อนกันตลอดกว่าจะตรง

    แต่ประสบการณ์ส่วนตัวบอกมาว่า ถ้าจิตเราเริ่มละเอียดถึงระดับหนึ่ง เราจะสามารถกำหนดจิตได้ตรง center พอดีเป๊ะ ๆ แบบไม่ต้องขยับ ซึ่งขั้นต่อ ๆ ไปก็คงไม่ยากเกินความพยายามแล้วครับ

    อีกอย่างหนึ่ง เวลากำหนดตำแหน่ง center ที่ชัดเจน ผมว่าใช้ลมหายใจผ่าน center ไปหยุดที่ระดับสะดือ แบบที่หลวงป๋าท่านสอน จะชัดเจนกว่า

    เท่าที่ผมมีประสบการณ์มา ถ้าจิตเรายังหยาบอยู่ จะยังเห็นการกระทบไม่ค่อยชัดเจน แต่ถ้าจิตเราละเอียดขึ้น จิตเรามันจะเห็นชัดเจนมาก เห็นลมหายใจเป็นลำ ผ่าน center ถ้าเรากำหนดดวงใสตรงนั้น เราก็จะเห็นลมหายใจผ่านกลางดวงใสพอดี หยุดอยู่กลางดวงใสนั้น นิ่งสนิทแล้ว ก็จะเห็นดวงธรรม แล้วก็ไปต่อจากนี้ได้เลย ง่ายแล้ว

    แล้วที่สำัคัญคือ "อย่าคาดหวังกับผลการปฏิบัติ" พูดง่าย ๆ ก็ "อย่าอยากได้" ครับ (ตรงนี้เป็นตอที่คนที่ทำไม่ถึงดวงธรรมเกิน 60% ติดอยู่ครับ) ถึงเวลามันก็ถึงเอง บทมันจะเห็น ก็เห็นกันง่าย ๆ เลย จริง ๆ ครับ ผมกล้า confirm เพราะเจอมากับตัวแล้ว ถ้าไม่เจอก็ไม่เข้าใจหรอกว่ามันง่ายยังไง
     
  4. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    c_oc=AQm6xgshmiLAyuKTCstJGwxBO6UDMqvdT2UQQwdk5ExazuHdG_nBIk0bnQUPubBFfL4&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg

    ทางบริสุทธิ์

    สังขารเป็นทุกข์

    สังขารที่เป็นไปในภพสาม กามภพ รูปภพ อรูปภพ หรือเป็นไปในวัฏฏะทั้งสาม กรรมวัฏ วิปากวัฏ กิเลสวัฏ #ทั้งหลายเหล่านี่เมื่อเป็นสังขารแล้ว #จะได้เป็นสุขเป็นอันไม่มี #ย่อมเป็นทุกข์ทั้งสิ้น

    จาก พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๔๐
    เรื่อง ติลักขณาทิคาถา
    ๑ สิงหาคม ๒๔๙๗
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  5. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    "..อาการที่ใจหยุดในหยุด กลางของหยุด เข้าถึงดวงที่ใสละเอียด เป็นเครื่องกลั่นกรองกาย-
    วาจา-ใจ ที่ละเอียดประณีต บริสุทธิ์ ผ่องใส ด้วยศีลบริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์ และปัญญาบริสุทธิ์นี้ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านจึงเรียกว่า ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา อันนำไปสู่วิมุตติ หลุดพ้นจากกิเลสหยาบของมนุษย์ ได้แก่ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฐิ และวิมุตติญาณทัสสนะ ซึ่งสามารถจะปฏิบัติภาวนาเข้าถึงได้และเห็นเป็นดวงที่ใสละเอียดที่สุด พอใจหยุดนิ่งกลางของกลางดวงนั้นถูกส่วนเข้า ศูนย์กลางกายขยายกว้างออกไป ก็จะปรากฏกายมนุษย์ละเอียด หน้าตาเหมือนผู้ปฏิบัติทุกประการ แต่โปร่งใสสวยงาม ละเอียดประณีตกว่ากายเนื้อ"
    *
    พระเทพญาณมงคล วิ.
    (เสริมชัย ชยมงฺคโล)
     
  6. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    "ปฏิบัติธรรม"
    ต้องเข้าใจนะว่า ... ปฏิบัติไปทำไม ?

    ปฏิบัติไปเพื่อ "ละวาง"
    ละวาง "กิเลส" ในใจเรา
    ปล่อยความ "ยึดติด" อย่าให้มี

    แต่ให้รู้ทางปฏิบัติ ... ตามที่เป็นจริง
    ว่าอะไร คือทางเดินตามทางที่ครูอาจารย์สอน
    ตาม "ธรรมของพระพุทธเจ้า" เท่านั้น
    ทำไปเถอะ ... ไม่เสียผล ไม่ผิดทาง

    * พระเทพญาณมงคล
    (เสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.๖)
    อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
    อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

    เครดิต เพจวัดหลวงพ่อสดฯ

    *******************************************

     
  7. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    a.jpg




    " สละอารมณ์ "



    เมื่อสละอารมณ์ได้ ในทางปฏิบัติ ไม่เกี่ยวด้วยอารมณ์เลย ใจหลุดจากอารมณ์เหมือนอะไร เหมือนไข่แดงกับไข่ขาวอยู่ด้วยกันจริงๆ แต่ว่าไม่เกี่ยวกัน ไข่แดงมีเยื่อหุ้มอยู่นิดหนึ่งบางๆ ไม่เกี่ยวกับไข่ขาวด้วย ไข่ขาวหุ้มอยู่ข้างนอกไม่ติดกัน

    รสชาติของไข่แดงก็รสหนึ่ง รสชาติของไข่ขาวก็รสหนึ่ง ไม่เข้ากัน อยู่คนละทางเห็นปรากฏทีเดียว เห็นที่ไหน อยู่ที่ไหน จึงเป็นทางปฏิบัติ เห็นปรากฏชัดอยู่ในกลางดวงธรรมท...ี่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่

    พระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร)
    จากหนังสือ : วิสุทธิวาจา 3
     
  8. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    วิธีเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน พิจารณาและปหานอนุสัยกิเลส.

    วิธีเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    พิจารณาและปหานอนุสัยกิเลส( ตามแนววิชชาธรรมกาย )




    -----------------------------------------------------------------

    "อนุสัยกิเลส" หมายถึงกิเลสละเอียดที่นอนเนืองอยู่ในจิตสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๗ อย่าง

    ๑. กามราคานุสัย คือ กิเลสละเอียดประเภทความยินดี พอใจ ติดใจ อยู่ในกามคุณทั้ง ๕ คือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทางกาย กิเลสประเภทนี้ เมื่อมีสิ่งที่ก่ออารมณ์จากภายนอกมากระทบ หรือจิตสร้างอารมณ์ขึ้นมาเอง ก็จะแสดงตัวออกมาพร้อมกับอกุศลจิต ในรูปของราคะ โลภะ หรืออภิชฌา-วิสมะโลภะ ซึ่งเป็นกิเลสในระดับกลางและหยาบตามลำดับ

    ๒. ทิฏฐานุสัย คือ กิเลสละเอียดประเภทความเห็นผิดซึ่งจะแสดงตัวขึ้นมาในรูปของโมหะ หรือมิจฉาทิฏฐิ พร้อมกับอกุศลจิต ในฐานะเป็นเหตุนำหรือเหตุหนุนแล้วแต่กรณี

    ๓. ปฏิฆานุสัย คือ กิเลสละเอียดประเภทความขัดเคืองใจ ไม่พอใจในอารมณ์ต่างๆ เมื่อจิตกระทบเข้ากับอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ ก็จะแสดงตัวขึ้นมาในรูปของโทสะ คือความโกรธอย่างรุนแรง ในรูปของโกธะ คือความโกรธอย่างบางเบา หรืออุปนาทะ คือความผูกใจเจ็บ ผูกพยาบาทหรือจองเวร

    ๔. ภวราคานุสัย คือ ความยินดีในความเป็นอยู่ในภพ

    ๕. มานานุสัย คือ ความอวดดื้อถือดี ไม่ยอมใคร ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ถือว่าตนดี หรือถือว่าตนด้อย ซึ่งแสดงออกมาในรูปของมานะทิฏฐิ อันเป็นปมด้อยหรือปมเด่นทางใจต่างๆ

    ๖. วิจิกิจฉานุสัย คือ ความลังเลสงสัยในสภาวะธรรมต่างๆ

    ๗. อวิชชานุสัย คือ ความไม่รู้แจ้งสัจธรรมทั้ง ๔ ได้แก่ ความไม่รู้ในลักษณะของทุกข์ทั้งลับและเปิดเผย ทั้งที่เห็นง่ายและเห็นยาก, ความไม่รู้ในเหตุแห่งทุกข์, ความไม่รู้ในสภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ ,ความไม่รู้ในหนทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์อันถาวร, ความไม่รู้อดีต, ความไม่รู้อนาคต, ความไม่รู้ทั้งในอดีตและในอนาคต, และความไม่รู้เหตุและผลที่เกี่ยวเนื่องกัน ที่เรียกว่า "ปฏิจจสมุปบาทธรรม" อวิชชานุสัยนี้จะแสดงตัวออกมาพร้อมกับอกุศลจิตในฐานะที่เป็นทั้งเหตุนำและเหตุหนุนกิเลสอื่น ในลักษณะโมหะหรือมิจฉาทิฏฐิ

    อนุสัยกิเลสทั้ง ๗ นี้ ความจริงก็มีอนุสัยหลักอยู่ ๓ ประเภท คือ ปฏิฆานุสัย, กามราคานุสัย และ อวิชชานุสัย
    ส่วนอนุสัยกิเลสอื่นนอกจากนี้ ก็เป็นแต่เพียงรายละเอียดแยกย่อยออกไปจากอนุสัยหลัก ในการพิจารณาสภาวะธรรมจึงจะยกมากล่าวแต่เพียง ปฏิฆานุสัย, กามราคานุสัย และอวิชชานุสัย




    การเจริญจิตตานุปัสสนา เห็นจิตในจิต ตามแนววิชชาธรรมกาย




    ให้ท่านผู้ปฏิบัติรวมใจของทุกกายให้หยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกายธรรมที่ละเอียดที่สุด แล้วให้ญาณ หรือ ตาพระธรรมกายเพ่งลงไปที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์

    หยุดนิ่ง ให้ดวงเห็น(รับ) ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้หยุดนิ่งเป็นจุดเดียวกันทั้งหมด

    แล้วตรวจพิจารณารอบๆดวงรู้ ก็จะเห็นเครื่องหุ้มของรู้อยู่รอบๆรู้ หนาประมาณ ๑ กระเบียด มีลักษณะสัญฐานกลมประมาณเท่าเมล็ดพริกไทยสีดำ มัวๆ ถ้าเป็นผู้มีกิเลสมาก ก็จะเห็นเป็นสีดำเข้มมาก ถ้าเป็นผู้มีกิเลสน้อยก็จะเห็นเป็นสีมัวๆฝ้าๆเหมือนกระจกฝ้า เครื่องหุ้ม"รู้"อยู่รอบนอกดวงรู้(ดวงวิญญาณ หรือที่เรียกว่าตัวรู้)นี้เองคือ "อวิชชานุสัย"


    ทีนี้ก็ให้ตรวจพิจารณาดูรอบๆดวงคิด หรือ"ดวงจิต" ก็จะเห็นเครื่องหุ้มของคิดมีลักษณะสัญฐานกลม โตประมาณเท่าลูกตาดำหนาประมาณ ๑ กระเบียด สีมัวๆ หุ้มดวงคิด(จิต)อยู่รอบนอก คือ "กามราคานุสัย" สำหรับผู้มีกามราคะกล้า ก็จะเห็นเป็นสีเข้มมาก ถ้ามีกามราคะเบาบางลงมากแล้ว ก็จะเห็นสีมัวๆฝ้าๆ

    เมื่อพิจารณาผ่านไปยังดวงจำและดวงเห็น(รับ) ก็จะเห็นเครื่องหุ้มของเห็นและจำอยู่โดยรอบ มีสัญฐานกลมประมาณเท่าลูกตาขาวทั้งหมด สีดำมัวๆ หนาประมาณ ๑ กระเบียด คือ "ปฏิฆานุสัย" ผู้ที่มีกิเลสประเภทเจ้าโทสะ ก็จะเห็นเป็นสีดำเข้มมาก ถ้ามีกิเลสประเภทโทสะน้อย ก็จะเห็นเป็นสีจางๆมัวๆ

    ตามนัยที่พิจารณานี้ เป็นการพิจารณาจากละเอียดมาหาหยาบ ที่เรียกว่า ปฏิโลม คือจากตัวรู้มาหาตัวเห็น(รับ)




    แต่ถ้าพิจารณาจากหยาบไปหาละเอียดเป็น อนุโลม ก็จะเห็นว่า ปฏิฆานุสัย หุ้มเห็นและจำอยู่ชั้นนอก เหมือนลูกตาขาว, กามราคานุสัย ก็หุ้มคิด(จิต)อยู่ชั้นกลางเข้าไปเหมือนลูกตาดำ, และอวิชชานุสัย ก็หุ้มตัวรู้(วิญญาณ)อยู่ชั้นในเข้าไปอีก เหมือนแววตาดำฉะนั้น

    เนื่องด้วยอนุสัยทั้งสาม คือ ปฏิฆานุสัย กามราคานุสัย และอวิชชานุสัยนี้ต่างก็หุ้ม เห็น จำ คิด รู้ เป็นไส้กัน คือในกลางของกลาง เป็นชั้นๆกันเข้าไปในจิต นี้ประการหนึ่ง, และตัวอนุสัยกิเลสเอง ก็เกิดจากความนอนเนืองของกิเลส ทั้งหยาบ กลาง ละเอียด ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมอกุศลจิตที่ฟุ้งซ่านออกไปรับ-ไปยึด ไปเกาะอารมณ์ภายนอกที่ถูกใจบ้าง ที่ไม่ถูกใจบ้าง และที่เฉยๆบ้าง แล้วประกอบกรรมที่เป็นอกุศลด้วย กาย วาจา ใจ ไปโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเพราะความมืดมน ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ หรือไม่รู้จักทางเจริญ ทางเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิเลสประเภทโมหะและมิจฉาทิฏฐิ ได้แก่ความหลงผิด เห็นผิด ความไม่รู้แจ้ง แล้วหมักหมมนอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน นี้อีกประการหนึ่ง

    การกำจัดหรือปหานอนุสัยกิเลสเหล่านี้ จึงต้องกระทำที่จิตใจ อันประกอบด้วย เห็น(รับ) จำ คิด รู้ ซึ่งเป็นชุมทางของกิเลสนั่นเอง

    กล่าวคือ ผู้ถึงธรรมกายแล้ว ก็ให้หมั่นพิสดารกายไปสู่สุดละเอียดอยู่เสมอ หรือให้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของใจรวมหยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกายธรรมที่สุดละเอียด ทุกอริยาบถ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ให้เห็นละเอียดอยู่เสมอ เห็นดำหรือขุ่นมัวก็รู้แล้วละจนใสสะอาดทันที เพราะดำหรือขุ่นมัวนั้นก็คือ ธรรมฝ่ายอกุศลและอัพยากฤต ซึ่งกำลังแทรกซ้อนเข้ามาในจิตใจ เอิบอาบ ซึมซาบ ปนเป็น เข้ามาในจิตใจ จึงต้องมี"สติพิจารณาเห็นจิตในจิต"เป็นภายในแล้วเร่งกำจัดเพื่อชำระจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ โดยให้รวมใจหยุดในหยุดกลางของหยุดในหยุด กลางของกลางๆๆลงไป ณ ที่ศูนย์กลาง เห็น จำ คิด รู้ นั่นแหละ

    พอใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า จิตดวงเดิมซึ่งตั้งอยู่ในท่ามกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบก็ตกสูญ ลงไปยังฐานที่ ๖ แนวสะดือ เมื่อจิตดวงเดิมว่างหายไป จิตดวงใหม่พร้อมด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดก็จะบังเกิดขึ้นมาแทนที่ เครื่องหุ้ม เห็น จำ คิด รู้ คือ ปฏิฆานุสัย กามราคานุสัย และอวิชชานุสัย ก็จะจางลงและกลับใสละเอียด บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทำให้ดวงเห็น จำ คิด รู้ของกายมนุษย์ละเอียดขยายส่วนโตขึ้นกว่าของกายมนุษย์หยาบ คือโตขึ้นเป็นประมาณสองเท่าของไข่แดงของไข่ไก่

    ทีนี้ก็ให้ใจของกายมนุษย์ละเอียดรวมหยุดนิ่งลงไปที่ตรงกลางเห็น จำ คิด รู้ ของกายมนุษย์ละเอียดต่อไป พอใจหยุดถูกส่วนเข้า จิตดวงเดิมพร้อมด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนั้นก็ตกสูญว่างหายไปอีก แล้วจิตดวงใหม่พร้อมด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ก็ปรากฎขึ้นแทนที่ เครื่องหุ้มเห็น จำ คิด รู้ คือปฏิฆานุสัย กามราคานุสัย และอวิชชานุสัยของทิพย์ก็จางลง ใสละเอียดและสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งกว่าของกายมนุษย์ละเอียด ดวงเห็น จำ คิด รู้ก็ขยายส่วนโตขึ้นไปอีก เป็นประมาณสามเท่าของไข่แดงของไข่ไก่... พอใจหยุดนิ่งถูกส่วน จิตดวงเดิมและดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ก็ตกสูญ ว่างหายไป ปรากฎดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด เป็นไปในลักษณะนี้ตามลำดับในกายต่างๆ กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม

    จนถึงใจของกายอรูปพรหมละเอียด หยุดนิ่งลงไปที่กลางเห็น จำ คิด รู้ ตรงกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียดต่อไปอีก พอใจหยุดถูกส่วนเข้า ก็จะตกสูญพร้อมด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด ว่างหายไป แล้วจะเห็นจิตของธรรมกายโคตรภู พร้อมด้วยดวงธรรมของธรรมกายโคตรภู ก็ปรากฎขึ้นแทนที่ อวิชชานุสัย เครื่องหุ้มรู้ ก็ยิ่งใสละเอียดยิ่งขึ้น และกลับเป็น"วิชชา" ธรรมเครื่องช่วยให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมและสภาวะที่แท้จริงของธรรมชาติ ทั้งที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง และไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งตามความเป็นจริง ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ ก็ขยายขึ้นโตเต็มส่วนเท่าหน้าตักและความสูงของธรรมกาย

    "กาย กับ ใจ" ของธรรมกายก็กลับเป็น ปฐมมรรค เป็นเนื้อหนังที่แท้จริง รวบยอดกลั่นออกมาจากพระวินัยปิฎก(สภาวะ) ดวงศีล ก็เป็นอธิศีลไป คือศีลยิ่งอย่างแท้จริง กาย วาจา ใจตลอดทั้งเจตนา ความคิดอ่านทั้งหลาย เป็นอันสะอาดบริสุทธิ์ทั้งหมด

    "จิต" ก็กลับเป็น มรรคจิต เป็นเนื้อหนังอันแท้จริง รวบยอดกั่นมาจากพระสุตตันตปิฎก(สภาวะ) เป็น อธิจิต คือ จิตอันยิ่งแท้ๆ

    "ตัวรู้"หรือ"วิญญาณ" ก็เป็น มรรคปัญญา เป็น ญาณ เพราะอวิชชานุสัย เครื่องหุ้มของรู้จางลงมาก จึงใสละเอียดบริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองมาก และขยายโตเต็มส่วนของธรรมกาย มรรคปัญญานี้เป็นเนื้อหนังที่แท้จริง รวบยอดกลั่นออกมาจากพระอภิธรรมปิฎก(สภาวะ) จึงเป็น อธิปัญญาแท้ๆ

    กายธรรมนี้เองคือพุทธรัตนะ ดวงธรรมของธรรมกาย คือ ธรรมรัตนะ และกายธรรมละเอียดๆในท่ามกลางพุทธรัตนะนี้คือ สังฆรัตนะ

    ก็ให้ใจของกายธรรมหยุดในหยุด ลงไปที่กลางของกลางๆๆ ต่อๆไปอีก ก็จะถึงจิตและดวงธรรมของกายธรรมที่ละเอียดๆต่อไป คือ ธรรมกายโคตรภูละเอียด, ธรรมกายโสดาบัน, ธรรมกายโสดาบันละเอียด, ธรรมกายสกิทาคามี, ธรรมกายสกิทาคามีละเอียด, ธรรมกายอนาคามี, ธรรมกายอนาคามีละเอียด, ธรรมกายอรหัตต์, ธรรมกายอรหัตต์ละเอียด ซึ่งใสละเอียด บริสุทธิ์จาก
    เครื่องหุ้มฝ่ายอกุศลทั้งปวง ดวงธรรมของธรรมกายก็ขยายส่วนโตขึ้นไป ตามลำดับยิ่งดำเนินไปสุดละเอียดเพียงใด จิตใจก็จะยิ่งใสสะอาดบริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองยิ่งขั้นไปเพียงนั้น

    ทั้งหมดนี้ คือการเจริญภาวนาพิจารณาสภาวะของจิตให้รู้จริงเห็นจริงตามธรรมชาติ พร้อมด้วยถอนอนุสัยกิเลสจากจิตของกายหยาบ ไปสู่จิตที่ละเอียดยิ่งกว่า จนถึงโลกุตตรจิต คือจิตของธรรมกายซึ่งเป็นกายในกายที่สุดละเอียด พ้นจากกายในภพสามนี้ตั้งแต่กายที่เก้าเป็นต้นไปจนสุดละเอียด ช่วยให้ปัญญาหยั่งรู้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่ได้ทั้งรู้และทั้งเห็น พร้อมด้วยวิชชา ได้แก่ วิชชาสาม วิชชาแปด ที่จะใช้ปหานอวิชชาอันเป็นมูลรากฝ่ายเกิดบาปอกุศลทั้งปวงให้หมดสิ้นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

    เพราะฉะนั้น แนวทางปฏิบัติภาวนาตามแนววิชชาธรรมกาย ที่ให้ผู้ปฏิบัติรวมใจหยุดในหยุด กลางของหยุดในหยุด ผ่านกาย เวทนา จิต และธรรม หรือที่เรียกว่า พิสดารกายจนสุดละเอียด

    แล้วก็รวมใจหยุดในหยุดไว้ ณ ศูนย์กลางกายธรรมที่ละเอียดที่สุดที่เข้าถึงอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของใจ ให้เห็นใส ละเอียด สะอาดบริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองอยู่เสมอนั้น ก็คือการปฏิบัติภาวนาที่ให้ผลเป็นการดับกิเลสจากจิตของกายหยาบไปสู่จิตของกายละเอียด

    ที่เรียกว่า "ดับหยาบไปหาละเอียด"ไปจนสุดละเอียด อันเป็นธรรมเครื่องปหานหรือกำจัดอนุสัยกิเลสที่ละเอียดๆและนอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานให้หมดสิ้นไป ด้วยโลกุตตรปัญญา คือมรรคจิตและมรรคปัญญา(โลกุตตรฌานและโลกุตตรวิปัสสนา)อันเจริญขึ้นเมื่อถึงธรรมกายแล้ว

    พร้อมด้วยวิชชา ธรรมเป็นเครื่องช่วยให้รู้แจ้งเห็นจิรงในสัจธรรม และสภาวะของธรรมชาติที่เป็นจริงจากการได้ทั้งรู้และเห็นนั่นเอง


    และในขณะเดียวกัน การเจริญภาวนาดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นการถอดขันธ์จากกายโลกียะทั้งแปด ซึ่งเป็นกายที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง และต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งไตรลักษณ์ ไปสู่กายที่ละเอียดกว่า คือ ธรรมขันธ์ ซึ่งเป็นกายที่พ้นภพสามไปแล้ว และไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง เป็นอสังขธาตุ อสังขตธรรมล้วนๆ จึงไม่ต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งไตรลักษณ์

    ผลจากการเจริญภาวนาดังกล่าวนี้เอง ที่สามารถช่วยให้เจโตวิมุตติ หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดให้ติดอยู่กับโลก ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้ และเสวยสุขจากความสงบด้วยปัญญาอันเห็นชอบต่อไป



    a.jpg
     
  9. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    อกุศลจิต......ปรมัตถ

    [​IMG]




    ...ปรมัตถปิฎกนี้เป็นเนื้อหนังของธรรมจริงๆ นะ ที่ดับสูญไปเสีย ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เรียนกันแต่เปลือกๆ ผิวๆ เป็นแต่กระพี้ๆ ไป ก็เพราะมารขวางกีดกันไว้ ให้ศึกษาเผินไปหมด พุทธศาสนาก็จะถล่มทลายเพราะเนื้อธรรมไม่มีใครรู้แน่แท้ลงไป รู้แต่เปลือกแต่ผิวไปเสีย เหตุนี้ เราทั้งหลายควรตั้งใจเสียให้ดี ทั้งภิกษุสามเณรจงอุตส่าห์เล่าเรียนปรมัตถคัมภีร์อภิธรรมปิฎก นี้ให้แตกฉานชำนาญเถิด ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา



    ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมีกถา แก้ด้วยปรมัตถเทศนา ซึ่งมีมาในพระปรมัตถปิฏก ยกอุเทศในเบื้องต้นขึ้นแสดงก่อน เพื่อจะได้เป็นอุทาหรณ์แนะนำแก่ท่านทั้งหลายสืบไปเป็นลำดับๆ ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา เริ่มต้นแห่งปรมัตถปิฎกนี้ว่า
    ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา ในพระอภิธรรมปิฏกนั้น กล่าวโดยความประสงค์แล้ว ถ้าจะกล่าวโดยอรรถอันลึกซึ้ง โดยปรมัตถ์ ก็จัดเป็น ๔ ประการ (๑) จิต (๒) เจตสิก (๓) รูป (๔) นิพพาน, ๔ ประการเท่านี้ พระพุทธศาสนามีปิฎก ๓ คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก ปรมัตถปิฎก ที่ท่านทั้งหลายได้เคยสดับตรับฟังแล้วโดยมาก ในพระวินัยบ้าง พระสูตรบ้าง ในพระปรมัตถ์ไม่ค่อยจะได้ฟังนัก วันนี้จะแสดงในพระปรมัตถปิฎก เพราะเวลานี้วัดปากน้ำกำลังเล่าเรียนพระปรมัตถปิฎกอยู่ ควรจะฟังพระปรมัตถปิฎกนี้ให้ชำนิชำนาญ ให้เข้าเนื้อเข้าใจ จะได้จำไว้เป็นข้อวัตรปฏิบัติ เป็นธรรมอันพระพุทธเจ้าทรงตรัส
    ในเริ่มแรกเริ่มเบื้องต้น ทรงตรัสในดาวดึงส์เทวโลก ได้ทรงตรัสพระปรมัตถปิฎกนี้ สนองคุณพระพุทธมารดา และแก่หมู่เทพเจ้าทั้งหลาย ที่พากันมาสดับตรับฟัง ทรงตรัสอยู่ถ้วนไตรมาสสามเดือน เมื่อเวลารุ่งเช้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพุทธนิมิตให้ตรัสพระอภิธรรมปิฎก พระบรมครูทรงไปแสวงหาอาหารบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีป ไปฉันในป่าหิมพานต์ พระสารีบุตรเถรเจ้าไปปฏิบัติสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกๆ วัน แล้วพระองค์ทรงแสดงพระอภิธรรมปิฎกนั้นแก่พระสารีบุตร พระสารีบุตรก็นำเอาพระอภิธรรมปิฎกนั้นมาแก่มนุษย์ มนุษย์ทั้งหลายจึงได้สดับฟัง
    เมื่อพระองค์ทรงตรัสเทศนาจบพระปรมัตถปิฎกแล้ว เสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกที่เมืองสังกัสสนคร ในคราวนั้นพระองค์ทรงเปิดโลก ให้สัตว์นรก เทวดา มนุษย์ เห็นกันและกัน พร้อมกัน เห็นปรากฏเป็นมหัศจรรย์ ในครั้งนั้นพระพุทธาภินิหารเป็นมหัศจรรย์ สรรพสัตว์เหล่านั้นตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า อยากเป็นพระพุทธเจ้า จนกระทั่งมดดำแดง อยากเป็นพระพุทธเจ้ากันทั้งนั้น อันนี้เป็นความมหัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุนั้น ที่ท่านทั้งหลายจะพึงได้สดับในเนื้อความของปรมัตถปิฎก ณ เวลาวันนี้ นับว่าเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ ดังจะแสดงต่อไป
    ตามวาระพระบาลีที่ได้ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นว่า ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา จตุธา ปรมตฺถโต จิตฺตํ เจตสิกํ รูปํ นิพฺพานมิติ สพฺพถาติ แปลว่า เนื้อความในพระปรมัตถปิฎกนั้น ถ้าจะกล่าวโดยเนื้ออันยิ่งใหญ่แล้ว กล่าวโดยปรมัตถ์ จัดเป็น ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ๔ ประการนี้เท่านั้นเรียกว่า พระปรมัตถปิฎก เป็นเนื้อความของพระปรมัตถปิฎกทีเดียว จำไว้ให้มั่น จิตถ้าจำแนกแยกออกไปมีถึง ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง เจตสิก ถ้าจำแนกแยกออกไปมีถึง ๕๒ ดวง นี่ส่วนเจตสิก รูปถ้าจำแนกแยกออกไปมีถึง ๒๘ รูป มหาภูตรูป ๔, อุปาทายรูป ๒๔ รวมเป็น ๒๘ นิพพานแยกออกไปเป็น ๓ คือ กิเลสนิพพาน ขันธนิพพาน ธาตุนิพพาน นิพพานแยกเป็น ๓ ดังนี้
    วันนี้จะแสดงในเรื่อง จิต เป็นลำดับ จิต ๘๙ ดวง หรือจิต ๑๒๑ ดวง ท่านจัดไว้ดังนี้ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง กามาวจรจิต ๒๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง และโลกุตตรจิต ๘ ดวง นี่เป็นจิต ๘๙ ดวง จำไว้เสียให้มั่น คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ๑๘ กับ ๑๒ รวมกันเป็น ๓๐ กามาวจร ๒๔ รวมกันเข้าเป็น ๕๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ รวมกันเข้าเป็น ๖๙ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ รวมกันเข้า เป็น ๘๑ ดวง โลกุตตรจิต ๘ ดวง รวมเข้าเป็น ๘๙ ดวง ดังนี้ นี่โดยย่อ ถ้าโดยพิสดาร ต้องแยกโลกุตตรจิตออก ยกฌานขึ้นรับรองจิตทั้ง ๘ ดวงนี้ คงเหลือจิต ๘๑ ดวง จิต ๘๙ ดวง ยกเอาโลกุตตรจิต ๘ ดวงออกเสีย ยกฌานทั้ง ๕ ขึ้นเป็นที่ตั้ง จิตเดินในฌานทั้ง ๕ นั้น ฌานละ ๘ ดวง คูณกับ ๕ เป็น ๔๐ ดวง จิต ๘๑ ดวงเป็นโลกิยจิต ยกเอาโลกุตตรจิต ๔๐ ดวง มาบวกกันเข้า ๘ ก็รวมเป็นจิต ๑๒๑ ก็จิต ๘๑ ดวงนั่นเอง แต่ว่ายกเอาโลกุตตรจิต ๘ ดวง ออกเสีย ถ้าว่าเอาโลกุตตรจิตมาเพียง ๘ ดวง ก็เป็นจิต ๘๙ ดวง ถ้าหากว่าโลกุตตรจิต ๘ ดวงนั้นแยกพิสดารออกไปตามฌานทั้ง ๕ ก็เป็น ๑๒๑ ดวง นี่รู้จักแล้วว่าจิตมีเพียงเท่านี้ จะชี้แจงแสดงจิตเป็นลำดับไป ให้จำไว้เป็นหลักฐานเป็นประธาน
    ต่อไปนี้จะแสดงคัมภีร์ปรมัตถ์ที่เป็นหลักเป็นประธานให้เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว เพราะเป็นเนื้อธรรมจริงๆ ที่เราได้ยินได้ฟังเข้าเนื้อเข้าใจแล้วนั้นยังไม่ถึงเนื้อธรรม เมื่อถึงจิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นเนื้อหนังของธรรมจริงล่ะ จงตั้งอกตั้งใจฟัง ยาก ไม่ใช่เป็นของง่าย เป็นของละเอียดด้วย ไม่ใช่เป็นของพอดีพอร้าย ไม่ใช่อยู่กับคนที่มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ ต้องมีกิเลสบาง ปัญญาละเอียดทีเดียว จึงจะฟังเข้าเนื้อเข้าใจได้ ถ้าจะเทียบละก้อ ต้องเข็มเล็กๆ ด้ายเส้นเล็กๆ เย็บตะเข็บผ้าจึงจะละเอียดได้ ถ้าเข็มโตไป ด้ายเส้นโต จะเย็บตะเข็บผ้าให้เล็กลงไปไม่ได้ ฉันใดก็ดี ปรมัตถปิฎกนี้เป็นของละเอียด ต้องปัญญาละเอียดไปตามกัน จึงจะฟังเข้าเนื้อเข้าใจ เหตุนั้นจงตั้งใจฟังให้ดี
    ในอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้นั้น แบ่งออกเป็น ๓ จำพวก โลภมูล ความโลภ มี ๘ ดวง โทสมูล ความโกรธมี ๒ ดวง โมหมูล ความหลงมี ๒ ดวง ๘ กับ ๔ รวมเป็น ๑๒ ดวง นี้อกุศลจิต อกุศลจิตนี้แหละที่สากลโลก ภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี ที่จะทำความชั่วร้ายไม่ดีไม่งามก็เพราะอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้แหละ ไม่ใช่ทำด้วยอย่างอื่นเลย ทำด้วยอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้ทั้งนั้น ทำชั่วน่ะ เราต้องรู้ตัวเสีย ให้เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว คำว่าที่เรียกว่าจิตน่ะมันเป็นดวงๆ ที่จะจัดนี้มีถึง ๑๒ ดวง ดังนี้คือ


    จิตโลภ จัดเป็น ๘ ดวง
    จิตที่เกิดพร้อมด้วยความยินดีมาก ที่ประกอบด้วยความยินดีมาก ประกอบด้วยความ เห็นผิด และเกิดขึ้นตามลำพัง นี่ดวง ๑
    จิตประกอบด้วยความยินดีมาก ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือ ชักจูง นี้ดวง ๑
    จิตที่ประกอบด้วยความยินดีมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดโดยลำพังนี้ดวง ๑ นี้ดวงที่ ๓
    จิตประกอบด้วยความยินดีมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด และเกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้น หรือชักจูง นี้อีกดวง ๑ รวมเป็น ๔ ดวง
    จิตที่เกิดประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้น โดยลำพัง นี้ดวง ๑ เป็นดวงที่ ๕
    จิตที่ประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดย ถูกกระตุ้นหรือชักจูง นี้ดวง ๑ เป็นดวงที่ ๖
    จิตประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดย ลำพัง นี้ดวง ๑ เป็น ๗ ดวง
    จิตประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด และเกิดโดย ถูกกระตุ้นหรือชักจูง นี้ดวง ๑ เป็น ๘ ดวง
    นี้ชั้นหนึ่ง ๘ ดวงนี้เป็นส่วนโลภะ ความอยาก


    จิตโกรธ จัดเป็น ๒ ดวง
    จิตโกรธเกิดขึ้นตามลำพัง ดวง ๑
    จิตโกรธเกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง นี้ดวง ๑
    จิตหลง ก็มี ๒ ดวง
    จิตหลงเกิดขึ้นโดยความสงสัย ดวง ๑
    จิตหลงเกิดขึ้นโดยความฟุ้งซ่าน ดวง ๑
    รวมเป็น ๑๒ ดวงด้วยกัน นี้เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านี้ ฟังยากไหมล่ะ ยากจริงๆ ไม่เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว ฟังเหมือนบุรุษคนหนึ่งนั่งกินข้าวอยู่ทีละคำๆ มันก็อิ่มเป็นลำดับขึ้นไป บุรุษคนหนึ่งนั่งกินลมอยู่เป็นคำๆ เข้าไป พอเลิกแล้วไม่อิ่มสักนิด อ้ายกินข้าวกินลมมันลึกซึ้ง อย่างนี้จริงไหม นี้ฟังเรื่องปรมัตถ์เหมือนกินลม ไม่มีเนื้อมีหนังเลย ไม่อิ่มไม่ออกเลยทีเดียว เห็นไหมล่ะ แต่รสชาติอัศจรรย์นักนะ อุตส่าห์ตั้งอกตั้งใจฟัง
    จิตดวงที่ ๑ ที่ประกอบด้วยความยินดีมาก จิตดวงนี้เกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีมาก และประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง จิตดวงนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร นี่ต้องอย่างนี้ล่ะ จึงจะมีรส ค่อยมีรสหน่อย เราจะต้องพินิจพิจารณา หากว่าจิตของเราเองมันเกิดขึ้น มีความยินดีมาก ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง เออ อ้ายประกอบด้วยความเห็นผิดน่ะ เห็นอย่างไร ลักษณะเห็นผิดน่ะเหมือนเรายินดีมากในสิ่งที่ผิด เมื่อเราเห็นทรัพย์เข้าก้อนหนึ่ง ไม่ใช่ของเรา มันเป็นของเขา ก็รู้เหมือนกันว่าเป็นของเขา แต่มันอยากได้เหลือทน ทรัพย์ก้อนนั้นมันใหญ่พอประมาณอยู่ ถ้าได้เข้าแล้วมันเลี้ยงชีพได้ตลอดสาย นับเป็นล้านๆ หรือนับเป็นแสนๆ ทีเดียว เมื่อไปเห็นทรัพย์เข้าเช่นนั้นแล้ว เราไม่ได้คิดไว้เลยว่าจะเอาทรัพย์ก้อนนั้น หรือจะขโมยหรือจะลักเขา ไม่ได้คิดเลย พอไปเห็นทรัพย์ก้อนนั้นเข้า ในที่ที่ควรจะได้ เจ้าของเผลอ พอเห็นทรัพย์เข้าเท่านั้น ใจมันปลาบปลื้มยินดีอย่างชนิดปล่อยชีวิตจิตใจทีเดียวอย่างนี้ ความยินดีมากมันเกิดขึ้นเองแล้ว จิตที่เกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีมากนั่นแหละ นี่ทรัพย์ก้อนนี้เราหยิบเอาเสีย ธนบัตรสักแสนหนึ่งไม่เท่าไร ถ้าใบละหมื่นก็ ๑๐ ใบ เท่านั้น ใบละพันๆ ก็ ๑๐๐ ใบเท่านั้น เป็นแสนหนึ่งเสียแล้ว เอ นี่จะเอาหรือไม่เอา นี่ความเห็นผิดเกิดขึ้น เอาได้ เราก็รวย พอเห็นผิดเกิดขึ้นเช่นนั้น ไม่ต้องมีใครชักชวนกระตุ้นละก้อ คว้าเอาทรัพย์ของเขาเข้าทีเดียว คว้าทีเดียวซ่อนทีเดียว นี่สำเร็จสมความปรารถนาของตัวแล้ว เอาไปได้สำเร็จ สมเจตนาด้วย และไม่มีใครรู้เห็นด้วย ทำสนิททีเดียว นี่แหละจิตดวงนั้นแหละเกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีมาก และประกอบด้วยความเห็นผิดด้วย มันเห็นว่าของเขา ไม่ใช่ของเรา นี่มันไปลักของเขานี้จะไม่ผิดอย่างไรเล่า มันก็ผิดนะซี่ เกิดขึ้นตามลำพังของตัว ไม่มีใครกระตุ้นหรือชักจูง ไม่ว่าในป่าหรือในที่ลับใดๆ หรือในที่มืดใดๆ ก็ตามเถอะ เอาทรัพย์ของเขามาได้สมเจตนา ไม่แต่เพียงแสนหนึ่งนะ สตางค์หนึ่งก็ดี สองสตางค์ก็ดี ถ้าว่าเป็นของเขาละก้อ แบบเดียวกัน อย่างนี้ทั้งหมด ถ้าว่าจิตเกิดขึ้นโดยความยินดีเช่นนั้น ถือเอาของเขามาเช่นนั้น นี่แหละโลภมูลดวงหนึ่ง นี้เป็นดวงต้นเกิดขึ้น เป็นอกุศลทีเดียว เราต้องไปนรกแน่ ต้องได้รับทุกข์แน่ เชื้อจิตดวงนี้ ต้องได้รับทุกข์แน่ รับบาปแน่ทีเดียว นี่ที่จะทำบาปลงไปชัดๆ มันปรากฏแก่ตนดังนี้ นี่ดวงหนึ่ง
    ดวงที่ ๒ ต่อไป จิตประกอบด้วยความยินดีมาก และเห็นผิดอีกเหมือนกัน คือ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง คราวนี้เห็นทองคำเข้าก้อนหนึ่ง หรือไปเห็นสายสร้อยเข้าเส้นหนึ่ง ราคานับแสนทีเดียว โดยเป็นของหลวงด้วย ราคานับแสนๆ ไม่ใช่ของราษฎร์ แต่ว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดเขาเอามาซ่อนไว้ ไปเห็นเข้า หรือตกหล่นอยู่ อย่างหนึ่ง อย่างใดก็ตามเถอะ ไปเห็นเข้า รู้ทีเดียวนี่ไม่ใช่ของธรรมดา ราคามากทีเดียว เมื่อไปเห็นเข้า เช่นนั้นไม่กล้า เพราะรู้ว่าเป็นของหลวง มันไม่กล้าลักของหลวง กลัวติดคุกติดตะรางขึ้นมาเสียแล้ว ก็มากระซิบกับเพื่อนกัน เออ! ข้าไปพบของสำคัญไว้ที่นั่นแน่ะทำอย่างไรนี่ อยู่ที่นั่นแน่ะ ข้าไปพบเข้าแล้วจะทำอย่างไร อ้ายเพื่อนก็ว่า ทำไมไม่เอาเสียล่ะ เพื่อนกระตุ้นเข้าแล้วว่าทำไมไม่เอาเสียล่ะ พอว่าเท่านั้นแหละก็แพล็บไปเอามาสมความปรารถนา นี่ถูกกระตุ้น หรือชักจูงเข้าแล้ว ไปเอาของของเขามาแล้ว โดนอกุศลเข้าอีกดวงหนึ่ง นี้เป็นอกุศลสำคัญ นี้แหละเป็นโลภมูล เกิดจากความโลภ เป็นอกุศลร้ายกาจอย่างนี้หนา นี้ว่าถึงลักถึงขโมย ไม่ใช่ ลักไม่ใช่ขโมยอย่างเดียว ที่ชั่วละก้อ ทั้งนั้นแหละ แบบเดียวกัน ชักตัวอย่างให้เข้าใจ ให้เข้าใจ ว่าดวงจิตดวงนี้มันเป็นอย่างนั้น ให้รู้จักหลักนี้
    ดวงที่ ๓ จิตประกอบด้วยความยินดีมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง ยินดีมากเมื่อไปเห็นสิ่งของของคนอื่นที่มีค่าเข้า ที่มีค่ามาก จะเป็นเงินทองหรือแก้วแหวนชนิดใดๆ หรือผ้านุ่งผ้าห่มชนิดใดๆ ก็ตามเถอะ เป็นวัตถุชนิดหนึ่งชนิดใดใช้ได้ จนกระทั่งสตางค์เดียวก็ใช้ได้ ใช้ได้ทั้งนั้น เมื่อไปเห็นเข้าแล้วก็รู้ว่าของนี่เจ้าของเขาพิทักษ์รักษาอยู่ เขาดูแลอยู่ เราไปพบทองเข้าหนักขนาดพันบาท นี่ก็มากอยู่หนักขนาดพันบาท แต่ว่าทองนี้ ถ้าเราเอาไปได้ เราก็ใช้ได้นาน ลงทุนลงรอนได้ ถ้าเราเอาไปไม่ได้เราก็จนอยู่แค่นี้ ถ้าเราเอาไปได้ละก้อ ตั้งเนื้อตั้งตัวได้เชียว ถ้าหากเขาจับเราได้ก็ต้องเข้าคุกตะรางไป ถ้าเขาจับเราไม่ได้ล่ะ เราก็ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ แต่ว่าไม่มีความเห็นผิดอะไร เห็นว่าถ้าเราเอาไปได้ก็เป็นประโยชน์แก่เรา เราไม่เอาไปก็ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา เข้าใจว่าจะหลบหลีกพ้น แต่เราต้องได้รับผลชั่วเพราะเราขโมยเขา จะทำอย่างไรได้ ก็มันจนนี่ มันก็ต้องขอไปทีสิ คว้าทองนั้นเข้าก้อนหนึ่งโดยความยากจน มาเป็นของตัวแล้ว ไม่มีใครกระตุ้นหรือชักจูงเลย คิดตกลงในใจของตัวเอง เอาของของเขาไปดังนี้ แล้วก็รู้ด้วยว่าเป็นบาปเป็นกรรมเป็นอกุศลเป็นโทษ เห็นก็ไม่ใช่เห็นผิด เห็นถูกนี่แหละเห็นว่าเป็นบาปเป็นกรรมเป็นโทษ แต่ว่ามันจนเต็มที มันก็ต้องขอไปที ใจกล้าหน้าด้านเอาทีหนึ่ง มันก็เป็นอกุศลจิตเหมือนกัน อกุศลอีกนั่นแหละ ลักเขาขโมยเขาไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เห็นถูก นี้เป็นจิตอีกดวงหนึ่ง ดวงที่ ๓
    ดวงที่ ๔ ก็แบบเดียวกันอย่างนั้นอีก จิตที่ประกอบด้วยความอยากมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด แบบเดียวกันกับเห็นทองอย่างนั้นแหละ เกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง ทีนี้เราเห็นเพชรสักเม็ดหนึ่งราคานับล้านแต่ไม่ใช่ของเราแบบเดียวกัน เออ! เมื่อไปเห็นเพชรเข้าเช่นนั้นแล้ว จะตกลงใจอย่างไรล่ะ ราคามันมากขนาดนี้เมื่อไรจะพบกันล่ะ แต่ยังไม่กล้า ที่จะเอาเพชรเม็ดนั้นด้วยกลัวเกรงอันตรายหรือกลัวติดคุกติดตะราง นำเอาเรื่องไปบอกพวกเพื่อนๆ พวกเพื่อนๆ บอกว่าทำไมจึงไม่เอา เอ็งนี่มันโง่เกินโง่อย่างนี้นี่ พอเพื่อนว่าเข้าเท่านั้น ก็ไปลักเพชรเม็ดนั้นได้สมความปรารถนา เอาไปเก็บไว้สมเจตนาของตน นี้ต้องมีผู้กระตุ้น หรือชักจูงเป็นจิตดวงที่ ๔
    สี่ดวงนี้เป็นโลภมูลทั้งนั้น โลภมูลอีกสี่ดวงต่อมาเป็น ๘ ดวง
    ดวงที่ ๕ จิตที่เกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ แต่ว่าประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง จิตดวงนี้เกิดขึ้นด้วยความยินดีพอประมาณ ไม่มีความยินดีมากมายใหญ่โตนัก ได้ก็เอา ไม่ได้ก็แล้วไป พอสมควรแต่ว่ากิริยาแบบเดียวกัน นี่เป็นจิตดวงที่ ๕
    ดวงที่ ๖ จิตที่เกิดขึ้นด้วยความยินดีพอประมาณแบบเดียวกัน และประกอบด้วยความเห็นผิด ต้องมีผู้กระตุ้นหรือชักจูง จึงจะสำเร็จสมความปรารถนา ก็แบบเดียวกันอย่างที่ได้อธิบายมาแล้ว แต่ว่ามันไม่ยินดีมากนัก ดวงก่อนยินดีมาก ดวงหลังยินดีพอประมาณ จิตที่เกิดขึ้นเพราะความอยากได้พอประมาณ เช่น ไปเห็นทองหรือเพชรดังกล่าวแล้วแบบเดียวกัน ต้องมีผู้กระตุ้นหรือชักจูงจึงจะสำเร็จความปรารถนา นี้เป็นดวงที่ ๖
    ดวงที่ ๗ จิตที่อยากได้พอประมาณ จิตที่เกิดขึ้นมีความอยากได้พอประมาณ แต่ว่าไม่มีความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยลำพัง ก็แบบเดียวกัน ดังอธิบายมาก่อน นี่เป็นดวงที่ ๗
    ดวงที่ ๘ จิตที่อยากได้พอประมาณ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความอยากได้พอประมาณ ไม่มีความเห็นผิด แต่ต้องมีผู้กระตุ้นหรือชักจูง จึงจะสำเร็จสมความปรารถนาแบบเดียวกันนั่นแหละ นี้เป็นดวงที่ ๘
    จิต ๔ ดวงก่อนกับ ๔ ดวงหลัง ไม่ได้ต่างจากกัน สี่ดวงก่อน จิตที่เกิดขึ้นด้วยความอยากมากยินดีมาก สี่ดวงหลังนี่ยินดีพอประมาณเท่านั้น เมื่อรู้จักจิต ๘ ดวงนี้แล้ว มันก็อยู่ในตัวของเรานี่เองเกิดขึ้นแก่เราเอง เราเคยพบมานี่ อ้ายพวกนี้ เคยพบเคยปะอยู่บ้าง แต่ว่าเราไม่รู้จักมัน วันนี้เราจะรู้จักมันล่ะ พอมีรสบ้าง แต่ว่ายังมีรสน้อยเต็มที กว้างกว่านี้ ยังจะมีรสมากว่านี้อีก แต่ว่าให้รู้จักเสียชั้นหนึ่งก่อนโดยย่อ
    จิตที่เป็นอกุศล จิตโทสะ มี ๒ ดวง
    จิตโทสะดวงที่ ๑ เกิดขึ้นโดยลำพัง อ้ายนี่อกุศลจิต เกิดขึ้นโดยลำพังมันเป็นอย่างไร อกุศลจิตเกิดขึ้นโดยลำพัง เช่น เราไปในสถานที่ใดๆ ก็ช่าง อยู่ในบ้านก็ช่าง ไม่มีใครชักจูง ไม่มีอะไรทั้งหมด ใจมันโกรธ จิตดวงนี้เป็นจิตโกรธ มันโกรธขึ้นไม่มีใครทำอะไรเลย อยู่ดีๆ มันก็พลุ่งพล่านโกรธขึ้นอย่างนั้น ไม่มีใครว่าไม่มีใครทำอะไรทั้งหมด โกรธขึ้นมาก็มีอาการต่างๆ ใครจะพูดกระทบกระเทียบเข้านิดๆ หน่อยๆ ไม่ได้ก็แปลบๆ ขึ้นมาทีเดียว นั่นมันเรื่องอะไร ไม่มีใครรู้เรื่องของตัวเลย มันโกรธอยู่ในใจอย่างนั้นแหละ นี่โกรธขึ้นโดยลำพัง ไม่มีใครชักจูง ไม่มีว่ากล่าวกระทบกระเทียบเลย มันเกิดขึ้น มันพลุ่งพล่านอยู่ภายในของตัวเอง อ้ายนี้แหละเขาเรียกว่าโทสจริต นี่แหละโทสจริตมันเกิดขึ้นอย่างนี้แหละ เกิดขึ้นโดยลำพัง
    จิตโทสะดวงที่ ๒ มันเกิดขึ้นโดยมีคนชักจูงหรือกระตุ้นเตือน มีคนชักจูงหรือกระตุ้นขึ้น อ้ายนั่นมันยั่วให้โกรธน่ะซี สามียั่วให้ภรรยาโกรธบ้าง ภรรยายั่วให้สามีโกรธบ้าง หรือชาวบ้านยั่วให้โกรธบ้าง คนโน้นคนนี้ยั่วให้โกรธบ้าง ไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพัง มีคนยั่วให้โกรธ เอารูปที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง เอาเสียงที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง เอากลิ่นที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง เอารสที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง ยั่วเข้ามันก็โกรธน่ะซี่ นั่นแหละมีผู้กระตุ้นหรือชักจูงให้โกรธขึ้น
    จิต ๒ ดวงนี้ก็ร้ายเหมือนกัน จิต ๒ ดวงนี้เกิดขึ้นโดยลำพังดวง ๑ เกิดขึ้นโดยมีผู้กระตุ้นหรือชักจูงดวง ๑ จิตเหล่านี้พออธิบายง่ายหรอก จิตโกรธนี่น่ะ
    จิตหลงนี่น่ะลึกซึ้งนัก จิตหลงมี ๒ ดวง
    จิตหลงดวงที่ ๑ เกิดขึ้นโดยสงสัยลังเลไม่ตกลงใจ อ้ายนี่สำคัญอยู่ จิตหลงเกิดขึ้นโดยสงสัยลังเลไม่ตกลงในใจ จะทำอะไรไม่ตกลงสักอย่าง ในการครองเรือนของตนก็ดี จะทำอะไรไม่ตกลงสักอย่าง หรือไม่ได้ครองเรือนก็ดี จะทำอะไรไม่ตกลงสักอย่าง ลังเล ไม่ตกลงในใจอย่างนั้นแหละร่ำไป อย่างนี้เขาเรียกว่าจิตหลง จะทำอะไรก็ไม่แน่นอนลงไป เข้าทำราชการก็ไม่แน่นอน แต่จะทำหรือไม่ทำก็ไม่แน่นอน ทำส่วนตัวก็ไม่แน่นอน ทำนา ทำไร่ ไม่แน่นอนทั้งนั้น ไม่ตกลงในใจ ถึงทำกิจการอันหนึ่งอันใดก็ไม่ตกลงในใจทั้งนั้น เมื่อสั่งการงานไม่ตกลงในใจอย่างนี้ มันลังเลอยู่เช่นนี้ มันก็ทำอะไรไม่ได้ มันก็หลงงมงายอยู่เช่นนั้น นี่เขาเรียกว่าจิตหลงมันเกิดขึ้น ลังเลไม่ตกลงในใจ สิ่งใดที่ลังเลไม่ตกลงในใจแล้ว พูดออกไปก็ดี ทำลงไปก็ดี มีผิดกับถูกสองอย่างเท่านั้น ถูกก็มี ผิดก็มี เพราะมันลังเล ไม่ตกลงในใจเสียแล้ว การที่จิตลังเลไม่ตกลงในใจน่ะ เช่น เรารักษาศีลอย่างนี้แหละไปเจอ ทรัพย์เข้าหรือสัตว์เข้าตัวใหญ่ๆ ที่ชอบอกชอบใจที่มีค่ามาก เราฆ่าลงไปเป็นอาหารของเราได้นาน เราลักเอาไป ก็เป็นอาหารได้นาน แต่เราไม่ตกลงในใจ เราจะรักษาศีลดี หรือรักชีวิตดี จะลักเขาดีหรือจะฆ่าเขาดี หรือว่าจะไม่ลักไม่ฆ่าเขาดี ถ้าไม่ลักไม่ฆ่าเขาเราก็อด เราก็จน ถ้าลักเขาฆ่าเขาได้ เราเลิกอดเลิกจน ลังเลไม่ตกลงในใจอย่างนี้ นี่เขาเรียกว่าจิตหลง มันระคนจิตหลงเข้าคละอยู่ด้วย ถ้าทำลงไปด้วยอำนาจจิตหลงอย่างนั้น ถ้าทำผิดมันก็ผิดไป ถ้าทำถูกมันก็ถูกไป แต่ว่าในที่นี้ประสงค์เอาที่ผิดเพราะว่าเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่กุศลจิต ประสงค์ที่ผิดฝ่ายเดียว เรียกว่าลังเลไม่ตกลงในใจ นี้เป็นจิตหลงดวง ๑
    จิตหลงดวงที่ ๒ อาการทำโดยฟุ้งซ่านน่ะ อ้ายนี่มันครึ่งบ้าครึ่งดี ลูกเต้าใกล้เคียง เหวี่ยงปึงลงไปให้ก็ตายเลย กำลังมันไม่สบายอกสบายใจ ทำโดยฟุ้งซ่าน ด้วยหลงเหมือนกัน เหมือนคนทำโดยฟุ้งซ่านทำมันแรงเกินไป ไม่ปรารถนาให้ตายหรอก มันไปตายเข้าก็เลยติดคุก นั่นเพราะทำด้วยจิตฟุ้งซ่าน นี้เป็นจิตหลงดวง ๑
    จิตหลง ๒ ดวงนี้สำคัญมาก ต้องคอยระแวดระวังสำคัญอยู่ ไม่ให้ไปทางถูก ให้ไปทางผิดร่ำไป
    นี้จิต ๑๒ ดวงนี่แหละมันควบคุมเราอยู่ ให้เราไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ เราตกต่ำเลวทรามลงได้ด้วยประการใดๆ ก็เพราะจิต ๑๒ ดวงนี่เอง ต้องควบคุมไว้ให้ดี ต้องเล่าเรียนเสียให้ชัดทีเดียว ถ้าว่าเล่าเรียนเสียให้ชัดแล้ว รู้หน้ารู้ตารู้ขอบรู้เขตของมันแล้ว มันจะข่มเหงเราไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้เท่าทันมันเสียแล้วมันก็จะข่มเหงเราตามชอบใจ ในตัวของเรานี้ไม่ใช่ที่อื่น นี่แหละมันเนื้อหนังปรมัตถ์ทีเดียว ฝ่ายความชั่วล่ะ เป็นเนื้อหนังของพระอภิธรรมปิฎกทีเดียว จิต ๑๒ ดวงนี่แหละ
    ที่แสดงวันนี้แสดงแต่เพียง ๑๒ ดวง เวลาไม่เพียงพอ แล้วต่อไปจะแสดงเป็นลำดับไป อเหตุกจิต กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรวิต พอหมดเรื่องจิตแล้วละก็จะแสดงรูป ๒๘ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ หมดรูปแล้วจะแสดงนิพพาน ให้เข้าเนื้อเข้าใจแตกฉานใน ๔ อย่างนี้ให้ได้ เพราะวัดปากน้ำเริ่มลงมือเล่าเรียนกันแล้วใน ๔ อย่างนี้ ภิกษุสามเณรเล่าเรียนกันแล้ว ที่แสดงนี้ก็เป็นอุปการะแก่ภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกาที่กำลังเล่าเรียนกันอยู่นี้ กำลังศึกษาอยู่ มีครูสอน พระทิพย์ปริญญาเป็นผู้สอนปรมัตถปิฎกนี้ ผู้สอนปรมัตถ์ ไม่ใช่เล่นๆ หนา ต้องมีภูมิพอ ต้องมีการศึกษาพอ ถ้าไม่มีการศึกษาพอละก้อ ลูกศิษย์สู้ครู ถามกันเจ๊งแน่ทีเดียว ไม่ต้องสงสัยละ เพราะเป็นของที่ลึกซึ้งมาก ถามเจ๊งแน่ ถามติดแน่ทีเดียว เพราะฉะนั้นอุบาสกอุบาสิกาควรตั้งอกตั้งใจศึกษาเถิด
    ปรมัตถปิฎกเป็นเนื้อหนังพุทธศาสนาจริงๆ ส่วนวินัยปิฎกเป็นข้อห้ามข้อปรามไม่ให้ทำชั่วด้วยกายด้วยวาจาเท่านั้น ส่วนสุตตันตปิฎก เป็นสายบรรทัด เป็นตัวอย่างว่าคนนั้นทำอย่างนี้เป็นสุขอย่างนี้ คนนั้นทำดังนี้ พ้นจากทุกข์ พ้นจากไตรวัฏ ไปสู่นิพพานอย่างนี้ นั่นเป็นหน้าที่ของสุตตันตปิฎก ไม่ใช่เนื้อหนังของธรรม ส่วนปรมัตถปิฎกนี้เป็นเนื้อหนังของธรรมจริงๆ นะ ที่ดับสูญไปเสีย ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เรียนกันแต่เปลือกๆ ผิวๆ เป็นแต่กระพี้ๆ ไป ก็เพราะมารขวางกีดกันไว้ ให้ศึกษาเผินไปหมด พุทธศาสนาก็จะถล่มทลายเพราะเนื้อธรรมไม่มีใครรู้แน่แท้ลงไป รู้แต่เปลือกแต่ผิวไปเสีย เหตุนี้ เราทั้งหลายควรตั้งใจเสียให้ดี ทั้งภิกษุสามเณรจงอุตส่าห์เล่าเรียนปรมัตถคัมภีร์อภิธรรมปิฎก นี้ให้แตกฉานชำนาญเถิด ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา ที่ได้ชี้แจงแสดงมาตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแด่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมีกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้



    จบเทศนา โดยหลวงปู่สดฯ เรื่อง พระปรมัตถปิฎก




    ............................................
     
  10. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    temp_hash-0ab9641c094155b549c3de9505c4b460-jpg.jpg

    temp_hash-0ab9641c094155b549c3de9505c4b460-jpg.jpg
     
  11. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    ถ้าปฏิบัติถึงสุกขวิปัสสโก จะมีโอกาสถึงธรรมกายหรือไม่ ?

    ตอบ:

    ขึ้นชื่อว่าพระอรหันต์เป็นธรรมกายทั้งหมดนะครับ ขึ้นชื่อว่ามรรค ผล นิพพาน ผู้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน เป็นธรรมกายทั้งหมดครับ แต่เป็นธรรมกายมรรค ธรรมกายผล เพราะพระนิพพาน หรือพระอรหัต อรหันต์ท่านแสดงตนว่าเป็นธรรมกายอยู่ในเอกสารที่แจก อย่างน้อยเปิดดูเล่มสีส้ม ปกหลัง ดูสรภังคเถรคาถาว่า

    “พระพุทธเจ้าทั้ง 6 พระองค์ มีพระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันโธ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ เสด็จไปแล้วโดยทางใดแล พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ก็เสด็จไปโดยทางนั้น ทรงหยั่งถึงความสิ้นสิเลสเสด็จอุบัติแท้ โดยธรรมกาย”

    ท่านสรภังคเถระท่านกล่าวอย่างนั้น และท่านก็ว่าท่านก็บรรลุธรรมเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นขึ้นชื่อว่า มรรค ผล นิพพาน เป็นธรรมกายทั้งสิ้น แต่ว่าบุคคลในปัจจุบันมองข้าม คำว่าธรรมกายไป แต่ที่กำลังจะเข้าถึงก็มี แต่ก็ไม่ชัดเจนว่า

    ธรรมกายสัมผัสได้หรือเปล่า? ธรรมกายสัมผัสได้ด้วยอายตนะที่ละเอียดเสมอกัน ทำไมจึงสัมผัสได้พระบาลีแสดงไว้แล้ว “อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนํ..” คือ บอกไว้เลยว่าอายตนะนิพพาน มีอยู่ เป็นที่สถิตของพระนิพพาน เมื่อขึ้นชื่อว่าอายตนะ แปลว่า สื่อถึงกันได้ 100% แต่ต้อง อายตนะที่ละเอียดเสมอกัน

    ผู้ที่ถึงธรรมกายแล้ว ที่จิตละเอียดนะครับ สัมผัสพระพุทธเจ้าได้ทุกคน และรู้ด้วยว่า พระพุทธเจ้ามีพุทธลักษณะอย่างไร สัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็งอย่างไร ละเอียดปราณีตหรือ หยาบอย่างไร แต่ว่าเราจะไม่ถามพระ แต่กับฆราวาสเราถามเขาได้ แต่ถึงอย่างไรเราห้าม มี กฎเกณฑ์ห้ามอยู่ว่าพระภิกษุอวดอุตตริมนุษยธรรมอันมีในตนกับอนุปสัมปันต้องปาจิตตีย์ ถ้าไม่มีอยู่แล้วอวดต้องปาราชิก โดยไม่ต้องอาบัติ เพราะฉะนั้นการพูดเรื่องอุตตริมนุษยธรรมมี ประตูออกทางเดียว คือพูดตามครูบาสั่งสอน และพูดเพื่อเป็นวิทยาทาน แต่ถ้าโอ้อวดแล้วละก็ เป็นอันว่าเดินใกล้ขอบนรกเข้าไปทุกทีๆ
     
  12. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    ?temp_hash=6b39551c58646cfd0ee7f883f90ad67b.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  13. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    c_oc=AQmi-COlYtLpnhIFt15WkZhCkBze7ip614DwNDM8FHWszzbYBobQene-j8ww4TsbuE8&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg


    #กสิณนี้ทำได้ยากเหลือเกินที่จะทำให้ดวงกสิณปรากฏขึ้นมาเป็นดวงแก้ว_ขึ้นมาให้อยู่ในตัวเรา

    พระราชอุดมมงคล (เอหม่อง อุตฺตมรมฺโภ) หรือหลวงพ่ออุตตมะกล่าวถึงเรื่องกสิณ
    .
    ☆เราต้องเพ่งกสิณจนกว่ากสิณจะปรากฏขึ้นมา แล้วเราก็รวมกสิณจับจิตทั้งหมดให้มาอยู่ในดวงกสิณ , เราไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น เพราะจิตเราอยู่ในดวงกสิณ เป็นสมาธิเป็นกุศลจิตอย่างเดียว ด้วยอานุภาพของกสิณ
    ☆กสิณเราก็จะแข็งขึ้น แข็งขึ้น เราก็พยายามไปทุกวันทุกเวลาให้กสิณเราแข็งขึ้น ไม่ให้แตกออกไป , เราจับไว้ด้วยสมาธิ แล้วเราก็รวมอารมณ์ทั้งหลาย จิตทั้งหลายทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) และอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์อันไม่น่าปรารถนา) ให้มาอยู่ในกสิณ , เราก็จะแยกจิตเหล่านี้ที่ไม่ดีต่างๆ เราจะดับจิตที่ไม่ดีต่างๆ ลงไปด้วยอานุภาพของกสิณ
    ☆กสิณนี้ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ หรือเป็นฤาษีเขาก็ปฏิบัติกัน
    กสิณนี้เป็นสมถะ เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุดเราต้องจับกสิณ ๑๐ ประการให้ได้ , เมื่อกสิณปรากฏแล้ว เราก็ดึงกัมมัฏฐานอย่างอื่นเข้ามา เช่น กายคตาสติ , อานาปานสติ เราก็รวมให้มาอยู่ในกสิณ
    ☆แต่กสิณนี้ทำได้ยากเหลือเกินที่จะทำให้ดวงกสิณปรากฏขึ้นมาเป็นดวงแก้ว ขึ้นมาให้อยู่ในตัวเรา เราต้องอุตสาหะพยายามกันมากเหลือเกิน ต้องทำกันเป็นปีๆ ไม่ใช่แค่เดือนสองเดือน
    .
    จากหนังสือ ๘๔ปี หลวงพ่ออุตตมะ
    หน้า ๕๔๙ ตอน แนวปฏิบัติตามธุดงควัตร

    เครดิต คุณสุรสิทธิ์ วิสุทธิแพทย์
     
  14. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    a-jpg.jpg

    ในขัั้นตอนการเจริญวิชชาฯ

    พระเดชพระคุณ พระเทพญาณมงคล ได้อธิบายคำว่า “นิโรธ” ไว้ว่า
    ... “นิโรธ ดับสมุทัย (มิใช่นิโรธสมาบัติ) ตามความหมายของ ‘ทุกขนิโรธอริยสัจ’ กล่าวคือเป็นการละ (ปหาน) อกุศลจิตของกายในภพ ๓ [ซึ่งเป็นที่ตั้ง หรือ เป็นที่สะสม – หมักดอง – ตกตะกอนนอนเนื่องของกิเลส (หยาบ-กลาง-ละเอียด) เป็น ‘อาสวะ/อนุสัย’ ในจิตตสันดาน] ให้กิเลสเบาบางลง ถึงหมดสิ้นไป บรรลุมรรค-ผล-นิพพาน ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้” ...
    (สมถวิปัสสนาภาวนาตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ถึงธรรมกายและพระนิพพานของพระพุทธเจ้า หน้า ๗๖)

    พระเดชพระคุณ หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้กล่าวถึงอริยสัจ ๔ ไว้ว่า
    ทุกข์ เป็นผล สมุทัย เป็นเหตุ
    นิโรธ เป็นผล มรรค เป็นเหตุ
    (คู่มือปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๕ สาย หน้า ๑๖๕)

    ดังนั้น การทำนิโรธให้ได้ผลดีนั้น ต้องทำมรรคให้ดีเสียก่อน เพราะมรรคเหตุให้เกิดนิโรธ นิโรธเป็นผลมาจากมรรค
     
  15. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    ?temp_hash=8d740a078914d7b1c3533b70a84e2e08.jpg





    หลวงพ่อพยุง สุนฺทโร
    ศึกษาวิชาธรรมกายกับหลวงพ่อสด จนฺทสโร

    เมื่อไปถึงวัดปากน้ำภาษีเจริญก็เข้ากราบเรียนความประสงค์ที่จะมาศึกษาธรรมปฏิบัติให้หลวงพ่อสดทราบหลวงพ่อสดก็ต้อนรับปฏิสันถารด้วยดี หลวงพ่อสดท่านถามถึงการปฏิบัติที่ผ่านมาว่าปฏิบัติมาอย่างไร ท่านจึงกราบเรียนการปฏิบัติที่ดำเนินมาตั้งแต่ได้สมาธิใต้ต้นมะซางเมื่อสมัยเด็กให้หลวงพ่อสดทราบและขอคำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อจะได้ปฏิบัติต่อไป หลวงพ่อสดท่านกล่าวว่า บุคคลใดมีบุญบารมีมาแต่ภพชาติก็สอนได้ไม่ยากเย็นนัก พอค่ำหลวงพ่อสดก็ขึ้นแท่นแนะนำวิธีการฝึกวิชาธรรมกายโดยการเพ่งจิตให้เป็นดวงแก้วที่ศูนย์กลางกายโดยใช้คำภาวนาว่า สัมมาอรหัง เมื่อดวงแก้วปรากฏอย่างแจ้งชัดก็เพ่งจิตให้ทะลุกายโดยใช้ดวงแก้วเป็นอุคคหนิมิต คือจำให้ติดตาหรือเพ่งดูจนติดตาติดใจแม้หลับตาหรือลืมตาก็เห็นได้จะทำให้เล็กหรือขยายให้ใหญ่ก็ย่อมได้จากนั้นจึงพลิกจิตพิจารณากายคตาสติ คือการพิจารณากายในกายเป็นอารมณ์โดยการแยกกายออกเป็นส่วนๆคือให้เห็นว่า

    เป็นเพียงธาตุ๔แต่ละอย่างไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา แบ่งออกเป็นสี่อย่างคือ

    ๑.ปฐวีธาตุ คือธาตุที่มีลักษณะแข็งภายในตัวก็มีภายนอกตัวก็มีสำหรับกำหนดพอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ได้แก่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูกม้าม หัวใจ ตับ ปอดหรือสิ่งอื่นใดที่อยู่ในตัวที่มีลักษณะแข้นแข็งก็เอากองไว้ส่วนหนึ่ง

    ๒.อาโปธาตุ คือธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบทั้งภายในภายนอกเป็นของเหลวคือ เลือด เหงื่อ เสลด น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก มันข้น ดี เปลวมัน ไขข้อ น้ำมูตร หรือสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะเอิบอาบอย่างนี้ก็แยกไว้กองหนึ่ง

    ๓.เตโชธาตุ คือธาตุที่มีลักษณะร้อน ทั้งภายในภายนอกได้แก่ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่ยังอาหารให้ย่อย นี่ก็ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่

    ๔.วาโยธาตุ คือธาตุที่มีลักษณะพัดผันเคร่งตึงทั้งภายในภายนอกได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมซ่านไปตามตัว ลมหายใจ และช่องว่างระหว่างกายพึงกำหนดจิตพิจารณาอย่างแยบคายลอกหนังออกแยกกองไว้ส่วนหนึ่ง แยกเนื้อกองไว้ส่วนหนึ่ง เลือดกองไว้ส่วนหนึ่ง เอ็นที่รึงรัดกายส่วนต่างๆก็กองไว้ส่วนหนึ่ง กระดูกก็กองไว้ส่วนหนึ่ง

    เมื่อพิจารณาสติที่เป็นไปในกายก็เห็นตามสภาพที่มีส่วนประกอบซึ่งล้วนเป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ ทำให้จิตเกิดความรู้เท่าทันไม่หลงมัวเมาในกายอันประกอบไปด้วยธาตุทั้ง๔ จากนั้นหลวงพ่อสดก็ให้พิจารณาขันธ์คือรูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดแบ่งออกเป็น๕กองดังต่อไปคือ รูปขันธ์กองรูปคือส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมดทั้งร่างกายก็ดี พฤติกรรมก็ดี และคุณสมบัติต่างๆของส่วนที่เป็นร่างกาย


    เวทนาขันธ์กองเวทนา คือ ส่วนที่เสวยอารมณ์และความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆเรียกว่ากองเวทนา สัญญาขันธ์ ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์๖เช่นนั้นสิ่งนั้นสิ่งนี้นั้นขาว เขียว ดำ แดงเป็นกองสัญญา สังขารขันธ์คือสภาวะที่ปรุงแต่งจิตให้ดีบ้างชั่วบ้าง ไม่ดีไม่ชั่วบ้างหรือคุณสมบัติต่างๆของจิตที่มีเจตนาเป็นตัวนำเรียกว่ากองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ หมายถึงความรู้อารมณ์ทางอายตนะ๖ คือรู้รูปด้วยตา รู้เสียงด้วยหู รู้กลิ่นด้วยจมูก รู้รสด้วยลิ้น รู้โผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ รวมแล้วเรียกว่าเบญจขันธ์

    ขันธ์ ๕ นี้เมื่อย่อลงมาเป็น ๒ ประการ คือ นามและรูป รูปขันธ์จัดเป็นรูป ๔ขันธ์ที่เหลือนอกนั้นเป็นนามธรรม เมื่อหลวงพ่อสดแนะนำแล้วก็นำหลักคำสอนนั้นมาพิจารณาต่อที่กุฏิอยู่เป็นประจำเพื่อดำเนินรอยตาม

    ท่านเล่าว่าในระหว่างที่อยู่กับหลวงพ่อสดที่วัดปากน้ำนั้นช่วงเวลากลางคืนท่านจะทำความเพียรจนถึงห้าทุ่มแล้วตื่นจากจำวัตรตี ๓ หากเป็นวันอุโบสถท่านจะถือเนสัชชิกไม่นอนตลอดคืนยังรุ่งทั้งไม่เคยปล่อยจิตให้อยู่นอกกายเลยไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดจิตก็จะวนอยู่กับการพิจารณากายกับดวงแก้วเป็นอารมณ์ เพราะพื้นฐานที่ท่านปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องและความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวตามวิสัยวาสนาขององค์ท่านที่ทำอะไรก็จะทำอย่างจริงจังจึงทำให้การฝึกวิชาธรรมกายกับหลวงพ่อสดก้าวหน้าอย่างมาก

    เพราะจิตขององค์ท่านเกิดความรู้ความเห็นสิ่งต่างๆภายในอย่างมากมายอาจเป็นเพราะมีครูอาจารย์ผู้ฉลาดอย่างหลวงพ่อสดแนะนำจึงทำให้องค์ท่านได้พบกับความรู้พิเศษขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน ณ.วัดปากน้ำภาษีเจริญนั้นเองความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นภายในจิตคือ ในวันมาฆบูชาหลังจากฟังธรรมเทศนาของหลวงพ่อสดแล้ว ท่านก็กลับกุฏิแล้วเข้าที่ภาวนาเมื่อกำหนดจิตจนเกิดดวงแก้วสว่างใสแล้วจึงพิจารณาธาตุขันธ์ขณะนั้นสมาธิเกิดความตั้งมั่น จิตรวมลงสู่ภวังค์ถึงเอกัคคตามีอารมณ์เดียว จิตสงบละเอียดอ่อนประณีตเข้าไปโดยลำดับ

    ขณะจิตนั้นได้เกิดความรู้ย้อนหลังระลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสมัยยังเด็กล่วงไปถึงชาติในอดีตได้ว่าเป็นมาอย่างไร ท่านว่าจิตเรานั้นมีอยู่ดวงเดียวจะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็จิตดวงเดิมนี่แหละจะเปลี่ยนก็แต่เพียงรูปกายเท่านั้นดังนั้นจิตจึงบันทึกข้อมูลทุกอย่างที่ได้กระทำไว้ทั้งดีและชั่วแต่คนเราไม่รู้เองเพราะ อวิชชามันปิดบังเอาไว้ ต่อเมื่อบุคคลใดขจัดเมฆหมอกคืออวิชชาออกไปเท่าไรยิ่งมากก็ยิ่งรู้เห็นตนเองมากขึ้นจากนั้นจิตก็พิจารณาถึงการเกิดการตายของตนเองและผู้อื่นได้อย่างไม่สงสัยจึงได้เข้าใจในพุทธสุภาษิตข้อที่ว่า

    "กมฺมุนา วตตีโลโก คือสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม"

    เมื่อพิจารณาถึงกรรมที่ทำให้เวียนว่ายอยู่ในภพชาติของท่าน จิตได้เกิดจึงเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในเรือนคือสังขารที่อาศัยอยู่ จนจิตสงบนิ่งอยู่ในอุเบกขาญาณขณะนั้นธรรมได้ปรากฏขึ้นมาภายในจิตว่า ปุญญัง สุขัง โหนตุ ผู้ใดไกลจากกิเลส ผู้ใดตื่นจากกิเลส ผู้นั้นก็วิเศษประเสริฐสุขสิ้นทุกข์ภัย อายุขัยก็เหลือล้นพ้นประมาณ สมนาม ว่า อรหัง สัมมา สัมพุทโธ เมื่อธรรมปรากฏขึ้นมาอย่างนั้นจิตท่านได้พิจารณาตามว่าในทันทีว่าอะไร คือ ผู้ไกลจากกิเลส

    เมื่อไกลจากกิเลสแล้วจะวิเศษประเสริฐสุขอย่างไร เป็นเหตุให้ท่านระลึกถึงประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่ประสูติจนถึงตรัสรู้และกระทั่งเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานและประวัติของเหล่าสาวกที่บรรลุอรหันต์จนถึงพระนิพพานจึงหมดความสงสัยส่วนที่ว่าอายุขัยก็เหลือล้นพ้นประมาณนั้นหมายความว่าเมื่อจิตถึงพุทธะเป็นจิตที่บริสุทธิ์อันชักนำให้ถึงพระนิพพานได้เมื่อจิตถึงนิพพานแล้วก็พ้นจากการเกิดการตายเป็นอมตะธรรมที่ถึงพุทธะอย่างสมบูรณ์จากนั้นท่านจึงพิจารณาจิตและบุญวาสนาของท่านก็ทราบว่าบารมีที่บำเพ็ญมายังไม่เต็มบริบูรณ์จึงยังไม่สามารถตัดอาสวะให้ขาดได้ในขณะนั้น แต่ท่านก็เห็นความสำเร็จอยู่แค่เอื้อมท่านว่าคืนนั้นท่านนั่งตลอดคืนยังรุ่งไม่อ่อนเพลียหรือหาวนอนเลยครั้นออกจากสมาธิภาวนาจิตก็ยังอิ่มเอิบด้วยปีติที่เกิดจากธรรมรส

    จากคำกล่าวของท่านที่แสดงแก่สานุศิษย์ทำให้ทราบได้ว่าท่านน่าจะได้ญาณ ๓ อย่างแน่นอน เพราะญาณ ๓ นั้นหมายถึง ความรู้แจ้งหรือความรู้วิเศษมี ๓ ประการ คือ

    ๑.อตีตังสญาณ คือ ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ก่อนได้หรือระลึกชาติในอดีตได้

    ๒.อนาคตังสญาณ คือ ญาณส่วนอนาคตหมายถึงการหยั่งรู้เรื่องราวในอนาคตสามารถเห็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

    ๓.ปัจจุปันนังสญาณ คือ ญาณในส่วนปัจจุบันหมายถึงความหยั่งรู้เรื่องราวในปัจจุบันหรือเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะหน้าสามารถล่วงรู้ได้ว่าควรทำอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์เหมาะสม และรู้แตกฉานในเหตุและผล มีไหวพริบในการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

    แม้องค์ท่านจะไม่ได้บอกโดยตรงว่าได้ขั้นนั้นขั้นนี้เพราะอัธยาศัยของท่านไม่ใช่คนมักอวด อะไรที่ท่านเมตตาเล่าให้ฟังนี้ก็เล่าเป็นการภายในเฉพาะศิษย์ที่ใกล้ชิดเท่านั้นอาจเป็นเพราะองค์ท่านจะส่งเสริมให้เหล่าศิษย์มีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมให้ยิ่งขึ้นไปเท่านั้นแต่อรรถธรรมที่ท่านแสดงให้ฟังนั้นก็พอจะสรุปได้ว่า การปฏิบัติของท่านที่วัดปากน้ำนั้น นอกจากจะได้ธรรมกายแล้วยังได้ญาณ ๓ ด้วยเมื่อท่านเกิดความรู้ภายในเช่นนั้น เป็นเหตุให้ท่านระลึกถึงอุปการคุณของหลวงพ่อสดเป็นอย่างยิ่ง ท่านยังเล่าให้ฟังอีกว่าหลวงพ่อสดนั้นท่านมีความรู้ภายในมากสุดคณานับ ท่านมีบารมีที่บำเพ็ญมามากท่านมีเมตตามากใครใฝ่รู้ใฝ่เรียนท่านส่งเสริมทุกอย่างทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติและท่านยังมีญาณที่แก่กล้ามากหยั่งรู้ทุกอย่างพระเณรในวัดปากน้ำเป็นร้อยและบรรดาแม่ชีอุบาสิกาอีกท่านเลี้ยงได้ไม่ให้อดอยาก

    สมัยนั้นคุณแม่ชีบุญเรือนก็ได้ฝึกปฏิบัติอยู่ที่วัดปากน้ำเช่นกันท่านเล่าว่าแม่ชีบุญเรือนเป็นแม่ชีที่เก่งปฏิบัติภาวนาได้รู้เห็นสิ่งต่างๆทางจิตได้อย่างมากมาย
    น่าจะได้อภิญญาด้วย หลวงพ่อสดท่านไม่ใช่พระดุหรือโผงผางแต่ทั้งพระทั้งเณรที่ได้อยู่อบรมกับท่านก็มักเกรงกลัวท่านทั้งนั้นสิ่งใดที่ท่านปารถนาสิ่งนั้นต้องได้แต่สิ่งที่หลวงพ่อท่านปารถนานั้นก็เพื่อสงเคราะห์พระเณรในวัดทั้งสิ้น นี่ตัวอย่างผู้ที่มีบารมีเป็นอย่างนี้ เมื่อมีความชำนาญพอรักษาจิตและสมาธิตนได้แล้วท่านกลับระลึกถึงคุณของบิดามารดาของท่านที่ได้เลี้ยงดูอุ้มชูท่านมาแต่เยาว์วัยเมื่อท่านได้พบดวงแก้วดวงธรรมแล้วท่านก็ปารถนาที่จะให้บิดามารดาท่านได้สัมผัสบ้างจักได้เป็นการตอบแทนพระคุณของท่านได้เป็นอย่างดี เมื่อระลึกได้ดังนั้นท่านจึงขออนุญาตกราบลาหลวงพ่อสดเพื่อกลับไปเยี่ยมบิดาและมารดาที่อยู่สุพรรณบุรีซึ่งหลวงพ่อสดก็อนุญาตแต่เมื่อจะลากลับหลวงพ่อสดได้ให้โอวาทว่า
    "เออท่านพยุงนี่มีความตั้งใจดี ถ้าไม่ละความพยายามต่อไปจะ สมปรารถนา หลวงพ่อก็อยู่ที่ใจนี่แหละตราบใดที่รักษาความดีไว้ได้หลวงพ่อก็อยู่กับผู้นั้น ให้รักษาความดีดุจเกลือรักษา ความเค็มนะจะได้ไม่เสียทีที่เกิดมา"
    ท่านรับว่า สาธุภันเต แล้วจึงเดินทางกลับสุพรรณบุรีเมื่อสิ้นเดือน ๔ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รวมระยะเวลาที่ท่านอยู่กับหลวงพ่อสดเป็นเวลา ๔ เดือน

    เรียบเรียงโดย พระอาจารย์วิชัย จริยวรรณณ
    ธุดงคสถานธรรมวิชัยต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  16. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    c_oc=AQmRKNapUM5NP_3hPi4LmoUAovj57UQiKnVdYHQrxbSeABB6IMDjEuLVrRj7lDdgt3Q&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  17. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    ?temp_hash=136b0a14d494f7cd0a5b22e0a285c026.jpg



    ทุกท่านเมื่อตั้งใจปฏิบัติภาวนาพึงทราบว่า
    เมื่อเหตุปัจจัยประกอบพร้อมก็เข้าถึงได้
    เพราะฉะนั้นท่านอย่าไปหงุดหงิดข้อนี้ อย่าให้จิตไปยึดไปเกาะเรื่องภายนอกแล้วจะรวมใจลงหยุด ณ ศูนย์กลางกายได้ยาก วิจิกิจฉาก็เป็นตัวกิเลสนิวรณ์และเป็นตัวอุปกิเลสของสมาธิ ให้การปฏิบัติสมาธิไม่เจริญ

    ประการสำคัญ อย่าไปคิดอะไรมาก อย่าไปยุ่งใจกับเรื่องคนอื่นเขา ตั้งหน้าทำกิจภาวนาของตนไป โดยทาง ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นแหละ ทำไปอย่างเดียว ถึงเวลาแล้วก็ถึงเองเป็นเอง เลิกสงสัยเสียนะครับให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม อย่าไปสนใจคนอื่นเขา อย่าไปสนใจนอกเรื่อง แล้วท่านจะเจริญเอง

    พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ให้รักษาใจเราแต่อย่างเดียว ถึงเวลาบรรลุเอง เอาแต่เฉพาะปัจจุบันธรรมที่เราสามารถปฏิบัติได้ผลของเราเอง

    หลวงพ่อท่านบอกว่า จงพิจารณาเหตุ สังเกตผล ทนเอาเถิด ประเสริฐนัก คือพิจารณาประกอบเหตุในเหตุถึงต้นๆ เหตุ ให้ได้ผล พิจารณาแก้ไขของเราเอง อย่าสงสัยมาก เอาแต่ส่วนที่ตัวปฏิบัติเข้าถึง เรื่องอื่นวางให้หมด อย่าสนใจคนอื่น ทำอย่างไรใจของเราจึงจะหยุดจะนิ่ง ทำสมาธิให้เกิด ให้เห็นดวงใสแจ่ม บางทีเห็นไม่ชัดในเบื้องต้นนี้ก็ต้องอาศัยการนึกเห็นเข้าช่วยด้วยเพื่อให้ใจมารวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน พอหยุดได้แล้วปล่อยเอง ไม่ต้องสงสัย

    คัดมาส่วนนึงจากตอบปัญหาธรรม
    พระเทพญาณมงคลเสริมชัย ชยมงฺคโล(หลวงป๋า)
    อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม



    c_oc=AQkyRwFItMVZmcn08ZqT0fVqHeUFZWTPaVyciFwAqJGL6n5yaQFIRZNuNwN2_eNdmt8&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • พระ.jpg
      พระ.jpg
      ขนาดไฟล์:
      65.2 KB
      เปิดดู:
      122
  18. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    วิธีง่ายๆ ที่ทำให้ใจเข้าไปอยู่ในท้อง โดย หลวงตาอู๋

    26 พฤษภาคม 2562

    อาตมาเป็นคนหนึ่งที่ไม่สามารถเอาใจเข้าไปอยู่ในท้องได้เลย ตั้งแต่บวชเข้ามาก็พยายามหาวิธีที่จะเอาใจให้เข้าไปอยู่ในท้องให้ได้ ทำตามแบบที่ครูบาอาจารย์สอนคือการขึงเชือกที่ตรงบริเวณสะดือจากหน้าไปหลัง และจากซ้ายไปขวา จุดที่เส้นทั้ง 2 ตัดกันคือจุดศูนย์กลางกาย แต่อาตมาก็นึกไม่ได้หรือเห็นมันก็จะเลื่อนออกไปนอกกายเสมอ

    เคล็ดวิชชาธรรมกายที่สำคัญที่สุดก็คือการเอาใจให้ไปตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายนี้เอง ถ้าทำไม่ได้ก็ไปต่อไม่ได้ แต่คนเราตั้งแต่เกิดจนโตก็มองออกไปนอกตัวทุกวัน เอาใจออกนอกตัวมาทั้งชีวิต ไม่เคยต้องมองเข้ามาในตัวเลย พอมานั่งสมาธิให้เอาใจเข้าไปในท้องมันจึงทำกันไม่ได้

    ตอนนี้อาตมาพอจะรู้วิธีง่ายๆ แล้ว ทำปุ๊บได้ปั๊บเลย ใครที่ยังเอาใจไปไว้ในท้องไม่ได้ก็ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้เลย

    1. นั่งขัดสมาธิตั้งกายให้ตรง จำเป็นกฎเอาไว้เลยว่า “หน้าเชิด อกตั้ง หลังตรง” อย่านั่งก้มหน้า

    2. หลับตาแล้วเหลือกตาให้ตาไปค้างอยู่ข้างบนเหมือนคนที่กำลังจะหลับ คนเราทุกคนตอนเกิด ตอนจะหลับ ตอนจะตาย หรือตอนสปัสซั่ม ตาจะเหลือกทุกคนเพราะมันคือธรรมชาติ

    3. เอาใจนึกให้เห็นเส้นผมที่อยู่บนศีรษะ แล้วเลื่อนไปข้างหลังนึกให้เห็นเส้นผมที่อยู่ที่ท้ายทอย

    4. เอามือข้างใดข้างหนึ่งไขว้ไปไว้ที่ด้านหลังบริเวณเอว แล้วเอาเล็บมือกดตรงกระดูกสันหลังเพื่อให้เรารู้สึกว่าบริเวณเอวด้านหลังอยู่ตรงนี้

    5. เอาใจนึกเลื่อนจากด้านหลังศีรษะลงมา ค่อยๆ นึกเลื่อนลงไปที่ตรงจุดที่เราเอานิ้วกดไว้

    6. เอาใจนึกเลื่อนเข้าไปในท้องเล็กน้อยประมาณครึ่งคืบ จุดนี้แหละคือจุดศูนย์กลางกายของเรา แล้วเราก็ตั้งจุดใสเล็กๆ สว่างๆ ขึ้นมาที่ตรงจุดนี้ เอาใจไปจรดเอาไว้ นึกแช่เอาไว้ ถ้าใจมันนิ่งพอจุดนี้มันจะดึงดูดใจของเราให้เข้าไปเอง แต่ถ้ามันไม่ยอมเข้าไปเราก็ต้องนึกเอาเองว่าใจมันเข้าไปได้แล้ว จะเห็นดวงแก้วใสดวงใหม่ผุดขึ้นมา ฝึกทำบ่อยๆ ให้เคยชิน

    ง่ายมากเลยโยม อาตมาทดลองดูแล้วได้ผลดีกว่าวิธีอื่นๆ หากเรารู้เทคนิควิธีอะไรๆ มันก็ไม่ยากหรอกโยม พอเรานึกได้แล้วก็ไม่ต้องไปสนใจที่ตาว่าจะยังเหลือกอยู่หรือเปล่า เพราะใจเราไม่ได้ไปอยู่ที่ตาแล้ว ใจมันไปอยู่ที่จุดศูนย์กลางกายเรียบร้อยแล้ว


    ?temp_hash=661719d5d7806c6b753b80c5a65ecfca.png

    ?temp_hash=661719d5d7806c6b753b80c5a65ecfca.jpg

    ?temp_hash=661719d5d7806c6b753b80c5a65ecfca.gif ?temp_hash=661719d5d7806c6b753b80c5a65ecfca.gif

    ?temp_hash=661719d5d7806c6b753b80c5a65ecfca.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  19. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    c_oc=AQl0-BDSMp3Vb0hlYHjHJYKNjTecrhmgKKplYhl9Zsgx43ZE2olRD9NPsObCs9lGu0k&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg



    #หน้าที่สำคัญคือการสร้างบารมี

    จำไว้นะเห็นดวงให้นึกเข้าไปเห็น ณ ภายใน
    พอนึกเข้าไปใสก็นึกเข้าไปศูนย์กลาง การนึกเข้าไปเห็นศูนย์กลางนั้น ใจจะเข้าไปหยุดกลางของหยุดในหยุด จากดวงใหม่ก็นึกเข้าไปเห็นศูนย์ดวงใหม่
    ทีนี้มันละเอียดเข้าไปล่ะซี ใจก็ยิ่งหยุดแน่นเข้าไป

    เมื่อเราเข้าไปสุดละเอียดเท่าไหร่ ภาคผู้เลี้ยง ภาคผู้สอด ภาคผู้ส่ง ภาคผู้สั่ง ภาคผู้บังคับ ภาคผู้ปกครอง
    ถึงต้นธาตุต้นธรรมของเราก็เชื่อมต่อถึงกันหมด
    บุญศักดิ์สิทธิ์ บารมี รัศมี กำลังฤทธิ์ อำนาจ สิทธิ
    สิทธิเฉียบขาด ซึ่งเป็นธาตุล้วนธรรมล้วนของต้นธาตุต้นธรรม ก็ส่งถึงเรามากเท่านั้น

    เมื่อส่งถึงเรามาก เราก็มีโอกาสบำเพ็ญบารมีได้มาก
    ทำความดีได้มาก เมื่อทำความดีได้มาก ภาคผู้เลี้ยงเขาก็จะเก็บเหตุฝ่ายบุญกุศลทับทวีไปยังต้นธาตุต้นธรรม ให้มีกำลังทับทวีสูงขึ้นเพียงไร
    เราก็มีสิทธิอำนาจมีบารมีช่วยตนเอง ช่วยผู้อื่นได้มากเพียงนั้น เข้าใจรึยังล่ะทีนี้ ต้องทำอย่างนี้

    เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลาย ต้องบำเพ็ญทั้งทาน ทั้งศีลและภาวนาอย่าให้ขาด เกิดมาจะได้ไม่เสียชาติเกิดแล้วก็จะไม่เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ได้ยินได้ฟังได้เรียนรู้ได้ปฏิบัติ เมื่อท่านทั้งหลายเข้าใจวิธีปฏิบัติแล้ว เอาล่ะเราเตรียมนั่งสมาธิปฏิบัติกัน

    โดยพระเทพญาณมงคลเสริมชัย ชยมงฺคโล
    (หลวงป๋า)
    อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  20. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,805
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,142
    ค่าพลัง:
    +70,540
    ?temp_hash=afc049e101f9f170a08727ce4ab70458.jpg




    .ข่าวการปฏิบัติ การค้นคว้า และการเผยแพร่ธรรมนี้ ได้ล่วงรู้ถึงสมเด็จพระวันรัต(เผื่อน) ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน จนถึงกับเรียกตัวท่านไปตำหนิว่า

    “เฮ้ย! แกอย่าบ้าไปนักเลย เดี๋ยวนี้พระอรหันต์ไม่มีกันแล้ว มาช่วยกันทำงานปกครองคณะสงฆ์กันเถอะ”

    ...เจ้าพระคุณหลวงพ่อรับฟัง แต่ไม่ปฏิบัติตาม คงทำงานค้นคว้าและสอนธรรมอยู่เช่นนั้น จึงเป็นที่ขัดใจของท่านอาจารย์ของท่านนัก

    ➡แต่ต่อมาเมื่อสมเด็จพระวันรัต(เผื่อน) ทรงประชวรหนัก ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อได้ช่วยจัดพระภิกษุไปช่วยแก้โรคตามหลักวิชาการของท่าน

    ในตอนนี้สมเด็จฯ ได้เคยทรงอ่านหนังสือเรื่อง “ธรรมกาย” ซึ่งคุณพระทิพย์ปริญญา (ธูป กลัมพะสุต ป.๖,น.บ.) ซึ่งได้รวบรวมและเรียบเรียงจากเทศนาของพระคุณหลวงพ่อ

    พระคุณท่านได้เคยทดลองปฏิบัติตาม ประกอบทั้งเจ้าคุณหลวงพ่อได้เคยไปถวายคำแนะนำเพิ่มเติม

    ท่านจึงเชื่อว่าเป็นของจริงของแท้ และเกิดความเลื่อมใส ข้าพเจ้าเอง(ผู้บันทึก) ก็ได้เคยฟังจากคำพูดของท่านเจ้าคุณวิเชียรธรรมคุณาทาน เลขานุการท่านว่า

    ⏩สมเด็จฯ ได้เรียกท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม(ช้อย) ไปเฝ้าและรับสั่งว่า

    “ท่านเจ้าคุณช่วยจัดการเรื่องอุปัชญาย์วัดปากน้ำที ฉันดูพระผิดเสียองค์หนึ่งแล้ว”

    พระพิมลธรรมก็รับคำ สมเด็จฯ รับสั่งต่อไปว่า “สาธุ” พร้อมกับยกมือขึ้นประณม แล้วกล่าวสืบต่อไปว่า

    “ฉันกดเขามาหลายปีแล้ว ช่วยจัดการให้เรียบร้อยด้วย”

    *******************************************

    ✏ชีวประวัติหลวงพ่อวัดปากน้ำ
    โดย วิชัย วุฑฒสิล ป.
    ข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือ นวกะอนุสรณ์-วัดปากน้ำฯ, ๒๔๙๗ หน้า ๒๒-๒๓
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...