แก้กรรม บรรเทากรรม ด้วยการถวาย สังฆทาน ช่วยได้จริงหรือไม่ ?

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย Dharaya, 5 กุมภาพันธ์ 2021.

  1. Dharaya

    Dharaya ศรัทธาอันประณีต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2020
    โพสต์:
    166
    ค่าพลัง:
    +53
    o4f8gI.jpg
    กรรม แปลว่า สิ่งที่คนกระทำ คำว่า ทำ หมายถึง ทั้งทำด้วยกาย อันเรียกว่า กายกรรม ทั้งทำด้วยวาจา อันเรียกว่า วจีกรรม ทั้ง ทำด้วยใจหรือความคิด อันเรียกว่า มโนกรรม นั่นคือความหมายของกรรม กรรม คือ กิจที่ที่บุคคลจงใจทำหรือทำด้วยเจตนา ถ้าทำด้วยไม่มีเจตนาไม่เรียกว่า กรรม อย่างเช่นไม่มีเจตนาเหยียบมดตาย ไม่เป็นกรรม คือ ปาณาติบาต ต่อเมื่อเจตนาจะเหยียบให้ตายจึงเป็นกรรม คือ ปาณาติบาต แต่เมื่อจัดอย่างละเอียด สิ่งที่ทำด้วยไม่มีเจตนาก็จัดเป็นกรรมชนิดหนึ่ง เรียกว่า กรรมสักว่าทำ เพราะอาจให้โทษได้เหมือนกัน เหมือนอย่างที่กฎหมายถือว่าผิดในฐานประมาท

    กรรมเกี่ยวกับคนเรา หรือ คนเรานั่นแหละเกี่ยวกับกรรมอยู่ตลอดเวลา เพราะคนเรานั้นตั้งแต่ตื่นนอนขึ้น จนถึงหลับไปใหม่ ก็มีเจตนาทำอะไรต่างๆ พูดอะไรต่างๆ คิดอะไรต่างๆ อยู่เสมอ โดยปกติไม่มีใครหยุดนิ่งอยู่เฉยๆ ได้ ถึงมือไม่ทำ ปากก็พูด ถึงปากไม่พูด ใจก็คิดถึงเรื่องต่างๆ การต่างๆ ที่ทำ เรียกว่า กายกรรม คำต่างๆ ที่พูดนี่แหละ เรียกว่า วจีกรรม เรื่องต่างๆ ที่คิด เรียกว่า มโนกรรม กรรม นั้น ดี หรือ ไม่ดี กรรมจะดีหรือไม่ดี ก็สุดแต่ผลที่เกิดขึ้นจากกรรมนั้น ๆ ถ้าให้เกิดผลเป็นคุณเกื้อกูลแก่ตนเองและผู้อื่น ก็เป็นกรรมดี เรียกว่า กุศลกรรม แปลว่า กรรมที่เป็นกิจของคนฉลาด หรือ บุญกรรม กรรมที่เป็นบุญ คือความดีเป็นเครื่องชำระล้างความชั่ว เช่น รักษาศีล ประพฤติธรรมที่คู่กับศีล หรือแม้กิจการที่ดีที่ชอบ ที่เป็นตามที่แสดงมาแล้วที่เป็นสุจริตต่างๆ เช่น การตั้งใจช่วยมารดาบิดาทำการงาน การตั้งใจเรียน การตั้งใจประพฤติตนให้ดี การช่วยเหลือเกื้อกูลมิตรสหาย การทำสาธารณสงเคราะห์ต่างๆ

    ส่วนกรรมที่ให้เกิดผลเป็นโทษเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนเป็นกรรมชั่ว ไม่ดี เรียก อกุศลกรรม แปลว่ากรรมที่เป็นกิจของคนไม่ฉลาด บาปกรรม กรรมเป็นบาป เช่น การประพฤติผิดในศีลธรรม ประพฤติทุจริตต่างๆ ที่ตรงกันข้ามกับกุศลกรรม ตัวอย่างของกรรมดีและกรรมไม่ดี ข้างต้นนั้น

    กรรม แบ่งได้หลายประเภท ในที่นี้จะแบ่งประเภทตามลำดับการให้ผลของกรรมก่อน ซึ่งมีทั้งหมด 4 ประเภท คือ
    1. ครุกรรม คือกรรมหนัก ใครทำครุกรรม ถ้าเป็นกรรมฝ่ายดีก็ปิดอบายไปเลย ละโลกแล้วไปสู่สุคติภูมิแน่นอน คือ ไปสวรรค์ ไปเป็นพรหม อรูปพรหม เคยทำบาปเท่าไรก็ตาม ปิดประตูเลย ตัวอย่างของครุกรรมฝ่ายดี คือการได้ฌานสมาบัติ นั่งสมาธิจนได้ดวงสว่างใส ๆ ได้ปฐมฌานเป็นต้นไป ใครเคยทำกรรมไม่ดีอะไรมาก็ตาม ถ้านั่งสมาธิจนได้ปฐมฌาน เกิดดวงใส ๆ นิ่งที่กลางท้องปิดอบายเลยชาตินี้

    ส่วนครุกรรมฝ่ายบาป ได้แก่ อนันตริยกรรม 5 คือ 1.ฆ่าพ่อ 2.ฆ่าแม่ 3.ฆ่าพระอรหันต์ 4.ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต 5.ทำสงฆ์ให้แตกกัน (สังฆเภท) ใน 5 ข้อนี้ ใครทำลงไปต่อให้เคยทำความดีเท่าไรหรือภายหลังไปทำบุญอีกเท่าไรก็ตาม ตกนรก 100 เปอร์เซ็นต์ ปิดสวรรค์ปิดนิพพาน ชาตินั้นไม่มีทางขึ้นสวรรค์และหมดสิทธิ์เข้าพระนิพพาน

    ที่หนักที่สุด คือ สังฆเภท ทำให้สงฆ์แตกกัน ใครไปยุให้พระทะเลาะกัน รู้เถอะว่ากรรมหนักที่สุด ยิ่งกว่าฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ หรือทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อเลือดเสียอีก การทำให้สงฆ์แตกกันเป็นกรรมหนักมาก และสร้างความเสียหายใหญ่หลวง ถ้าหากไปทำผิดเข้าแล้ว บุญไม่ได้ช่วยอะไรเลยหรือ ช่วยเหมือนกัน แต่ช่วยแค่ให้พ้นจากนรกขุมลึกมาอยู่ขุมตื้น อย่างไรก็ต้องตกนรก

    2. อาสันนกรรม กรรมก่อนตาย ก่อนตายคิดถึงอะไร สิ่งนั้นจะให้ผลก่อน คนเราทำทั้งบุญทั้งบาปมามากมาย ถ้าก่อนตายใจนึกถึงบุญกุศล ใจสว่างผ่องใส จะทำให้ไปสวรรค์ แต่ถ้าก่อนตายนึกถึงเรื่องที่ไม่ดี เป็นอกุศล เศร้าหมอง ก็จะต้องไปอบาย โบราณจึงบอกคนใกล้ตายว่าให้นึกถึงพระเพราะรู้หลักนี้ดี รู้ว่านึกถึงพระรัตนตรัย ใจจะได้สว่าง แล้วจะได้ไปดี แล้วบาปที่ทำหายไปไหนหรือเปล่า ไม่หาย แต่จะให้ผลทีหลัง

    ตัวอย่างเช่น พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระติสสเถระ โยมพี่สาวของท่านเอาจีวรเนื้อดีมาถวาย ท่านชอบมาก ตั้งใจจะใช้วันรุ่งขึ้น แต่คืนนั้นท่านมรณภาพไปก่อน ด้วยความที่ใจเกาะอยู่กับจีวร ผลคือตายแล้วไปเกิดเป็นเล็นเกาะอยู่ที่จีวร ทั้ง ๆ ที่สร้างบุญไว้มาก

    พอท่านมรณภาพแล้ว ข้าวของที่มีอยู่คณะสงฆ์จะนำมาแบ่งกัน เช่น จีวรก็ตัดแบ่งกัน ขณะที่พระท่านเตรียมจะแบ่งจีวรกันนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าให้ชะลอไว้ก่อน พอถึงวันที่ 8 ทรงรับสั่งให้แบ่งกันได้ เพราะขณะที่พระภิกษุคุยกันว่าจะแบ่งจีวรนั้น พระติสสเถระที่เกิดเป็นเล็นก็วิ่งวุ่นอยู่บนจีวร เพราะความหวง หากมีการแบ่งจีวรในตอนนั้น เล็นจะผูกโกรธพระภิกษุทั้งหลาย และจะทำให้ไปเกิดในมหานรก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงรับสั่งให้รอ 7 วัน พอวันที่ 7 เล็นก็ตาย แล้วไปเกิดที่สวรรค์ชั้นดุสิต เพราะมีบุญเก่ามาก แต่ที่ไปเกิดเป็นเล็น เพราะใจเกาะอยู่ที่ผ้าจะเห็นได้ว่า อาสันนกรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เราจึงไม่ควรยึดติดอะไรมากเกินไปเอาแค่พอประมาณ แล้วให้ใจเราเกาะกับเรื่องที่ใส ๆ อยู่เสมอ

    3. อาจิณณกรรม บางคนรู้หลักว่า ทำใจใส ๆ นึกถึงพระ นึกถึง “สัมมา อะระหัง” แล้วจะไปดี เลยคิดว่าต่อจากนี้ไปทำอะไรตามใจชอบได้เลย ใกล้ตายเมื่อไรค่อย “สัมมา อะระหัง” ค่อยนึกถึงพระ ไปดีแน่นอน แต่พอถึงเวลาจริง ๆ ตั้งตัวไม่ติด แล้วถ้าทุกขเวทนาบีบคั้นก็จะนึกถึงบุญไม่ออกจะนึกถึงแต่สิ่งที่ทำจนคุ้นเคย เสี่ยงมาก มีโอกาสไปอบายมาก ถ้าจะให้ปลอดภัยแน่นอน ต้องทำดีเป็นอาจิณณกรรม คือทำบ่อย ๆ สม่ำเสมอ พอใกล้ตายเราจะนึกถึงบุญออก

    4. กตัตตากรรม คือกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้ทำไม่มีเจตนา ให้ผลเป็นลำดับสุดท้าย ถ้าไม่มีกรรมอย่างอื่นมากมาย กรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ก็จะส่งผลที่จริงเรื่องกรรมมีความซับซ้อนมาก ยังมีรายละเอียดมากกว่านี้อีกมากมาย
    8a3cb64c482a6494603b0c1b6a8d3077.jpg
    กรรมนั้นสามารถ แก้กรรมได้ไหม ความจริงก็คือ กรรมที่ทำไปแล้วในอดีต เราเปลี่ยนไม่ได้ แต่สมารถบรรเทากรรมได้ ซึ่งเวลาเราทำบาปก็เหมือนเติมเกลือ ทำบุญเหมือนเติมน้ำ ถ้าน้ำน้อยเกลือมากมันก็เค็มจัด วิบากกรรมก็ส่งผลแรง แต่ถ้าเราเติมบุญ คือเติมน้ำลงไปให้เจือจาง ความเค็มก็น้อยลงทุกอย่างจะทุเลาเบาบาง หนักจะเป็นเบา เบาก็หายไปเลย เพราะฉะนั้นการบรรเทากรรมในอดีตทำได้ด้วยการสร้างบุญ ซึ่งมีหลากหลายวิธี แต่วิธีที่สามาถทำได้ง่าย ก็คือ การถวายสังฆทาน ซึ่งสังฆทานนั้นสามารถหาซื้อได้ง่าย หรือหากสะดวกและมีเวลา ก็ยังสามารถหาซื้อของใช้ต่างๆที่จำเป็นแก่พระภิกษุสงฆ์มาจัดเป็นชุดสังฆทานเองได้ เพราะนอกจากจะได้ของที่มีคุณภาพแล้ว พระภิกษุก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย ซึ่งการถวายสังฆทานก็ช่วยบรรเทากรรมลงได้ไม่มากก็น้อย
     

แชร์หน้านี้

Loading...