เรื่องเด่น เรื่องของหลักธรรม ถ้าพลาดแล้วไม่ใช่แค่ชีวิตนี้ แต่จะพลาดไปนับชาติไม่ถ้วน

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 18 มีนาคม 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,521
    ค่าพลัง:
    +26,355
    5FE861E8-E9E2-41F6-8C5B-3F0D3E0F997B.jpeg
    เรื่องของหลักธรรม ถ้าพลาดแล้วไม่ใช่แค่ชีวิตนี้ แต่จะพลาดไปนับชาติไม่ถ้วน

    หลังจากที่มีนิกายมูลวาสติวาทเกิดขึ้น ก็มีการตีความพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างไปจากของเดิมไป แต่ยังยึดพื้นฐานใหญ่เกือบทั้งหมดเอาไว้ แต่ระยะหลังนิกายต่าง ๆ เกิดขึ้นมาก ส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นเหมือนประเทศไทยในปัจจุบัน ก็คือ เป็นอาจริยวาทเสียเยอะ ถือแต่คำสอนของอาจารย์ตนเป็นใหญ่

    ถ้าถือคำสอนของอาจารย์ตนเป็นใหญ่ แล้วมีการเปรียบเทียบกับตำรา อย่างเช่นพระไตรปิฎก ก็นับว่าดี แต่ส่วนใหญ่ที่ปรากฏขึ้นก็คือ ถือตามแบบไม่ลืมหูลืมตา สุดยอดก็คืออาจารย์ของข้า คนอื่นไม่ใช่ทั้งนั้น..!

    นอกจากจะไม่เปรียบเทียบกับหลักฐานดั้งเดิมที่เป็นพระพุทธวจนะในพระไตรปิฎกแล้ว ยังมีการยกเอาหลักธรรมที่อาจารย์สอนไปข่มกับสำนักอื่นอีกต่างหาก ท้ายสุด..อาจารย์ต่างคนต่างเก่ง ก็กลายเป็นนิกายต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่ในปัจจุบัน พวกเราก็กำลังจะสร้างสำนักนิกายใหม่ขึ้นแล้ว

    จึงอยากให้หลักการกับทุกคนว่า ในเรื่องของการปฏิบัติ ถ้าเป็นไปได้ ให้อ่านพระไตรปิฎกบ้าง จะได้รู้ว่าคำสอนของครูบาอาจารย์ก็ดี หรือที่อาตมาเอามาแนะนำก็ดี มีผิดเพี้ยนจากพระไตรปิฎกหรือเปล่า ถ้าขี้เกียจอ่านพระไตรปิฎกเพราะเห็นว่ามาก ใช้หนังสือของหลวงพ่อวัดท่าซุงเป็นหลักก็ได้ โดยเฉพาะคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน กับกรรมฐาน ๔๐

    ถ้ามีเวลาจะอ่านเยอะหน่อย ก็ดูในปกิณกธรรม เล่ม ๑ , ๒ และ มหาสติปัฏฐานสูตร เดี๋ยวจะกลายเป็นชอบของยากไปอีก มหาสติปัฏฐานสูตร ถ้าคนไม่มีพื้นฐานการปฏิบัติจริง ๆ เมื่อเลยจากกายในกายไปแล้ว มักจะอ่านไม่เข้าใจกัน

    การศึกษาเล่าเรียนของเราในปัจจุบันไม่เหมือนกับสมัยโบราณ ตำราต่าง ๆ โดยเฉพาะพระไตรปิฎกอยู่ในวัด ถ้าไม่ได้บวชเรียนเข้าไป โอกาสที่จะศึกษาก็ไม่มี ถ้าบวชเป็นระยะที่ไม่มากพอ โอกาสศึกษาให้เจนจบก็ยาก แต่สมัยนี้วิ่งเข้าไปถามกูเกิ้ลอย่างเดียวก็สบายแล้ว ต้องการอะไรเขาบอกให้หมด เราสามารถที่จะเปรียบเทียบได้ว่า มาจากไหน ? ใช่หรือไม่ ? มีจุดใดที่ผิดเพี้ยนบ้าง ?

    พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ในเกสปุตตสูตร หรือพวกเราเคยชินในชื่อกาลามสูตรว่า อย่าเชื่อด้วยเหตุ ๑๐ ประการด้วยกัน มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าเชื่อแม้ว่ามีจารึกไว้ในพระไตรปิฎก มา สมโณ โน ครูติ อย่าเชื่อแม้ว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา

    เพราะเรื่องของหลักธรรม ถ้าพลาดแล้วเราไม่ได้พลาดแค่ชีวิตนี้ แต่พลาดไปนับชาติไม่ถ้วน เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เราต้องถือคติว่า ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงามดีกว่า ถ้าเร่งมาก ๆ ก็อาจจะได้แค่มีดตัดฟืนหั่นผักเท่านั้น

    ในส่วนของกำลังใจของพวกเรา มีวิธีตรวจสอบง่าย ๆ ในสัมมัปปธาน ๔ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้แล้ว คือ สังวรปธาน เพียรระมัดระวังไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น ปหานปธาน เพียรขับไล่อกุศลในใจออกไปเสียให้พ้น ภาวนาปธาน เพียรสร้างความดีให้เกิดขึ้นในใจของเรา อนุรักขนาปธาน รักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

    หลักการใหญ่ ๆ จริง ๆ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ ๓๗ ประการด้วยกัน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ สติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔ สัมมัปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ รวมแล้วธรรมะทั้งหลายเหล่านี้หมวดใดหมวดหนึ่ง ถ้าเราตั้งใจเอาเป็นหลักในการปฏิบัติจริง ๆ ก็เหลือเฟือเกินพอแล้ว

    ถ้าอย่างที่หลวงพ่อวัดท่าซุงสรุปให้ก็คือ สร้างบารมี ๑๐ ให้เต็ม กับ ละสังโยชน์ ๑๐ ให้ได้ แต่การสร้างบารมี ๑๐ ให้เต็มหรือละสังโยชน์ให้ได้ ก็อยู่ในโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ นั่นแหละ แล้วแต่ว่าเราจะเอาข้อไหนมาดัดแปลงใช้ในการสร้างบารมี ๑๐ ให้เต็ม หรือเอาส่วนไหนที่เราจะไปดัดแปลงใช้ในการตัดทำลายสังโยชน์ ๑๐ ให้ขาด

    ในเรื่องของการปฏิบัติ ขอย้ำอีกทีว่า ถ้าพลาดไม่ใช่แค่ชาติเดียว แต่เป็นหลายชาติ ถ้าพลาดลงข้างล่างก็นับชาติไม่ถ้วน ลงไปข้างล่างก็เท่ากับเราเสียไปหลายชาติ เพราะฉะนั้น..ต้องคอยระมัดระวังทบทวนให้ดี

    พระพุทธเจ้าทรงมอบอิทธิบาท ๔ ไว้ให้แก่พวกเรา โดยเฉพาะวิมังสา หมั่นไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ๆ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดในการปฏิบัติ บุคคลที่ปัญญาไม่เพียงพอ จะใช้วิมังสาไม่เป็น เราต้องระลึกอยู่เสมอว่าเราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? ตอนนี้สิ่งที่เราทำนั้นยังตรงกับที่เราตั้งเป้าไว้หรือไม่ ? ตอนนี้เราก้าวมาใกล้ไกลแค่ไหนแล้ว ? ยังเหลือระยะทางหรือเหลือสิ่งที่ต้องทำอีกเท่าไร ? เราใช้ความเพียรพยายามเต็มที่แล้วหรือไม่ ?

    เรื่องพวกนี้ถ้าไม่มีอยู่ในใจ โอกาสที่จะก้าวหน้าก็น้อย ถึงเวลาก็เหมือนกับไฟไหม้ฟาง ได้รับการกระตุ้นก็ลุกฮือขึ้นมาหน่อย พอห่างสิ่งปลุกเร้าก็เงียบฉี่

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

    ที่มา : www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...