เรื่องเด่น อานิสงส์ ๑๑ ประการ ของการมีเมตตา

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 6 กรกฎาคม 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,018
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,590
    ค่าพลัง:
    +26,435
    105486711_3113723772046730_1578266930269557929_n.jpg

    ในบทสวดทำวัตรเย็นมีบทที่ว่าด้วยอานิสงส์ของเมตตา กลัวพวกเราจะแปลไม่ออกกัน ท่านบอกว่า “เอกาทะสานิสังสา” มีอานิสงส์ ๑๑ ประการ อานิสงส์ของเมตตามีอะไรบ้าง ?

    สุขัง สุปะติ..........................หลับอยู่ก็เป็นสุข
    สุขัง ปะฏิพุชฌะติ.................ตื่นอยู่ก็เป็นสุข
    นะ ปาปะกัง สุปินัง ปัสสะติ.....จะไม่ฝันเห็นสิ่งลามก
    มะนุสสานัง ปิโย โหติ.............เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
    อะมะนุสสานัง ปิโย โหติ..........เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
    เทวะตา รักขันติ......................เทวดาจะคอยรักษา
    นาสสะ อัคคิ วา วิสัง วา สัตถัง วา กะมะติ ทำลายได้ทั้งเปลวไฟ ทั้งยาพิษ และอาวุธ
    ตุวะฏัง จิตตัง สะมาธิยะติ.........ทำให้จิตสามารถตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เร็ว
    มุขะวัณโณ วิปปะสีทะติ...........มีใบหน้าอันผ่องใส
    อะสัมมุฬโหกาลัง กะโรติ.........เวลาตายก็ไม่หลงตาย
    อุตตะริง อัปปะฏิวัชฌันโต พรัหมะโลกูปะโค โหติ ถ้าหวังในเรื่องของมรรคผลอย่างน้อยก็มีพรหมโลกเป็นที่ไป รวมแล้ว ๑๑ อย่างด้วยกัน

    ในส่วนของอานิสงส์เมตตาผมก็บอกไม่ถูก ถ้าหากมาดูจากเรื่องของการพุทธาภิเษกวัตถุมงคล เรื่องของเมตตายากที่สุด ที่ยากที่สุดเพราะต้องออกจากใจของคนทำจริง ๆ เรื่องของลาภ เรื่องหนังเหนียวเป็นเรื่องเล็กเลย โดยเฉพาะวัตถุมงคล ถ้าให้เหนียวนี่ภาวนาแค่ขนลุกก็เหนียวแล้ว เพียงแต่ว่าพวกคุณพอเจอมีดเจอปืนก็ใจหายแว้บ กำลังใจตกหมด ก็เปื่อยอีกเหมือนกัน

    ฉะนั้น...ส่วนของเมตตาจะเป็นส่วนทำยากที่สุด เพราะถ้าไม่ได้ออกจากใจของเราเอง กำลังก็ไม่เพียงพอ ก็เลยกลายเรื่องที่พระควรจะต้องทำไว้ ต้องแผ่เมตตาให้เป็นปกติ

    บางคนยังสับสนระหว่างแผ่เมตตากับอุทิศส่วนกุศลอยู่ว่าต่างกันตรงไหน ? เหมือนกับเจอคนเหนื่อย คนหิว คนยากลำบากมา แผ่เมตตาเหมือนอย่างกับให้ร่มเงาเขา แต่อุทิศส่วนกุศลเหมือนอย่างกับให้ข้าวให้น้ำเขา เป็นคนละเรื่องกัน อย่าไปสับสนมาก เดี๋ยวเราเดาไม่ถูกหรือทำไม่ถูก ผีมาก็นั่งร้องไห้ไป ให้เราตั้งจิตอุทิศส่วนกุศลไปทันทีเลยถ้ารู้สึกว่ามีใครมา แต่ถ้าเวลาปกติก็ให้แผ่เมตตาเอาไว้ อย่างไม่มี ๆ ทำเช้าเย็นก็ยังดี

    โดยเฉพาะภาวนาบทเมตตัญจะ สัพโลกัสมิงฯ ไปจนจบ ปุนะเรตีติ เดินทางเทวดาก็รักษา ถึงเกิดอุบัติเหตุก็ปลอดภัย ไม่ว่าจะไปพักที่ไหน ถ้าเราภาวนาไว้เป็นปกติ หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข ไม่มีอะไรรบกวน ยกเว้นพวกคุณไปแล้วไม่สนใจอะไรเลย ก็คงจะโดนบ้างแหละ..!

    เรื่องของเมตตาควรทำไว้ให้เป็นปกติ โดยเฉพาะคาถาเมตตาของหลวงปู่แช่ม วัดฉลอง หลวงปู่ปานท่านไปเรียนมา แล้วก็ถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา “พระอะระหัง สุคะโต ภะคะวา นะ เมตตาจิต” หลายคนบอกว่าเจ้านายงี่เง่ามากเลย ทำอย่างไรก็พูดไม่รู้เรื่อง ลองภาวนานึกถึงหน้าเขาสักครึ่งชั่วโมง แล้วค่อยไปเจรจาใหม่ดูเราจะเป็นลูกน้องบังเกิดเกล้าไปเอง เพียงแต่ให้ทำจริง ๆ เท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วทำกันไม่จริง ประเภทไม่มีการซักซ้อมไว้เลย ถึงเวลาจะใช้ก็สนิมกินดาบคาฝักชักไม่ออก

    เรื่องคาถาต้องขยันภาวนา สมัยก่อนหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านสอนผมมาทีละบท ๆ ให้ไปทำให้เกิดผล พอเกิดผลไปรายงานแล้วท่านก็จะให้บทใหม่มา แต่ท่านไม่ให้ทิ้งของเก่า ในเมื่อไม่ให้ทิ้งของเก่า ผมก็ภาวนาจนกำลังใจทรงตัว แล้วก็ขยับมาทำบทใหม่แต่คราวนี้พอตอนท้ายก็ยุ่งละสิ เพราะเยอะไปหมดนี่ ในเมื่อเยอะแล้วจะทำอย่างไร ? ก็ต้องแบ่งเวลา อาจจะภาวนาบทนี้สัก ๑๐๘ จบ หรือว่าภาวนาบทนี้สัก ๑๐ นาทีอะไรก็ว่าไป แล้วก็ขยับไปบทอื่น ว่าไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็ครบทุกบทไปเองแหละ

    สรุปแล้วก็คือหางานให้ใจของเราทำ พอใจเรามีงานทำจะได้ไม่ฟุ้งซ่านไปอารมณ์อื่น ๆ ถ้าไม่มีคาถาก็โน่น...มูลกรรมฐาน...พระอุปัชฌาย์ท่านให้ไว้ทุกรูป “เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ” ว่าไปเถอะ

    เรื่องของคาถาเป็นเครื่องโยงใจให้เป็นสมาธิ พอใจเป็นสมาธิคราวนี้ตั้งใจจะให้เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่ได้อยู่ที่ตัวคาถา แต่ของอยู่ที่ใจเรา หลวงปู่เนียม วัดน้อย ท่านถึงได้บอกกับหลวงปู่ปาน วัดบางนมโคว่า บทไหนก็ใช้ได้นั่นแหละ ๗ ตำนานทั้งหัวใช้ไปเถอะ คือหนังสือสวดมนต์ทั้งเล่มนั่นแหละ จะเอาบทไหนก็ได้ถ้ากำลังใจใช้ได้ เพราะถ้ากำลังใจทรงตัว แค่คิดก็เป็นไปตามกำลังใจของเราแล้ว

    เรื่องพวกนี้ควรจะเป็นเอาไว้บ้าง อันดับแรก ก็คือ บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่าคุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ เพื่อที่จะได้ไม่เก้อเขินเมื่อเพื่อนสหธรรมิกไต่ถาม อย่างน้อยกูก็มีคาถาที่ทำขึ้นสักบทละวะ ทำให้ขึ้นจริง ๆ สักบทหนึ่ง แล้วเราจะรู้ว่าต้องใช้กำลังใจแค่ไหน หลังจากนั้นก็ใช้เท่ากันหมด ฉะนั้น...ขอให้ได้บทหนึ่งก่อน ถ้าหากว่าบทหนึ่งได้บทต่อไปก็ไม่ยากแล้ว ถึงเวลาภาวนาไป ๆ ใจรำคาญแล้ว รู้สึกว่าตัน...ไปต่อไม่ได้ เราก็มาภาวนาคาถาแทน ตั้งใจไว้ว่าจะเอาเท่าไร สักบทละ ๑๐๘ จบ ก็ล่อไปครึ่งค่อนวันแล้ว

    สมัยก่อนโบราณเขาให้กลั้นใจว่าคาถา พอกลั้นใจปุ๊บจิตจะนิ่ง รู้สึกว่าไม่หายใจเดี๋ยวจะตายแล้ว จิตก็จะระมัดระวัง นิ่งอยู่เฉพาะหน้า จิตจะเป็นสมาธิส่วนหนึ่ง เขาให้กลั้นใจว่าทีหนึ่ง ๙ จบบ้าง ๑๖ จบบ้าง บางคนล่อไป ๑๐๘ จบเลย เออ...เอ็งเก่ง เพื่อที่จะให้มีสมาธิจะได้ใช้งานได้

    แต่เรื่องของการกลั้นใจนี่ผมไม่ค่อยชอบ เพราะทำให้เรามาเสียทีหลัง เวลาเราภาวนาปกติเราจะเผลอไปกลั้นใจ ว่าของเราตามปกตินั่นแหละ สมาธิจะค่อย ๆ ทรงตัวไปเอง ขอให้ทำจริง ๆ เถอะ

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    โอวาทช่วงงานอุปสมบทหมู่ครบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
    ที่มา : www.watthakhanun.com

    #ชุมชนคุณธรรม #วัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมฯวัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...