เรื่องเด่น อธิบายใน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน..ท่านพ่อลี ธมฺมธโร

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย เสขะ บุคคล, 12 มีนาคม 2017.

  1. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    ?temp_hash=676819c4e83934a0164e29be2096395b.jpg

    อธิบายใน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน



    คำที่ว่า เวทนา นั้นได้แก่ ความเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากอาการกระทำของตัวที่เรียกว่ากรรม ถ้าจะกล่าวโดยประเภทนั้น มี ๓ อย่างคือ

    ๑. เวทนาภายใน
    ๒. เวทนาภายนอก
    ๓. เวทนาในเวทนา



    --------------------------------------------------------


    เวทนาภายใน นั้นถ้าจำแนกตามความรู้สึกที่เป็นอยู่มี ๓ อย่างคือ

    ๑. สุขเวทนา ความสบายปลอดโปร่ง ในจิตใจของตน
    ๒. ทุกข์เวทนา ความทุกข์ ความเศร้าโศก ความหงุดหงิด ดวงจิตเหี่ยวแห้งไม่เบิกบาน
    ๓. อุเปกขาเวทนา ใจเป็นกลางวางเฉยอยู่ในระหว่างสุข ในระหว่างทุกข์ ที่ยังไม่เกิดขึ้น

    เวทนาทั้ง ๓ อย่างนี้เรียก เวทนาภายใน


    --------------------------------------------------------


    ส่วน เวทนาภายนอก นั้นก็มี ๓ อย่างเหมือนกันคือ

    ๑. โสมนัสสเวทนา ความยินดีปรีดา ร่าเริงอยู่ในอารมณ์ภายนอก เป็นต้นว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ที่เกิดจากอายตนะทั้ง ๖ เป็นต้น เมื่อใจได้ถูกต้องดูดดื่มยินดีอยู่ในอารมณ์อันนั้นเรียกว่า โสมนัสสาเวทนา

    ๒. โทมนัสสเวทนา ความคับแค้นน้อยใจ ได้เกิดขึ้นจากอาการที่ได้ประจวบกับอารมณ์ภายนอก เป็นต้นว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอาทิ เมื่อปรากฏแก่ตา หู จมูก ลิ้น เป็นต้นแล้ว สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ถ้าเป็นที่ไม่พอใจของตน เป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา จึงได้เกิดโทมนัสสเวทนาประการหนึ่ง

    ๓. อุเปกขาเวทนา คือ รูป เสียง กลิ่น รส เป็นอาทิทั้งหลายเหล่านั้น ได้ผ่านมากระทบถูกต้องอายตนะภายใน ก็มิได้ยินดียินร้าย ใจเป็นกลางวางเฉยอยู่ เรียกว่า อุเปกขาเวทนา

    ที่เรียกว่า เวทนาภายนอก เพราะเหตุว่า เนื่องด้วยการเกิดจากอายตนะภายนอก


    --------------------------------------------------------


    ส่วนข้อ ๓ เวทนาในเวทนา นั้น

    คือ หมายเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของเวทนาทั้งหลายที่กล่าวมานั้น คือ ไม่ต้องเลือก

    เป็นต้นว่า มีสุขปรากฏแก่ตนเมื่อไร ให้จิตพิจารณาอยู่ในเวทนาอันนั้น เช่นว่า มีสุข ก็ให้ ตั้งสติกำหนดระลึกอยู่ ในที่นั้น ประคองสุขอันนั้นให้อยู่ในตน ประคองตนให้อยู่ในสุข อย่าให้คลาดเคลื่อนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่น และอย่าให้ความปรารถนาใด ๆ เกิดขึ้นในขณะจิตอันนั้น

    แล้วค่อยใช้ อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณาดูความจริงของเขา

    สัมปชัญญะ ความรู้ดีให้คอยสังเกตจิตใจให้รู้ตัวอยู่กับที่ อย่าให้กระแสของสมุทัยเกิดขึ้น


    --------------------------------------------------------


    สมุทัย

    ที่จะเกิดขึ้นในครั้งแรกนั้น เกิดจากความไม่รู้สึกตัวดี แล้วก็มีจิตหวั่นไหว ลักษณะที่ไหวตัวนั่นแหละเรียกว่าตัว วิภวตัณหา

    เมื่อไหวแรงขึ้น มีกระแสจิตเกิดขึ้นแล่นส่ายออกไป กระแสที่ส่ายอยู่นั้นเป็นตัว ภวตัณหา

    เมื่อเจอะสิ่งใดอันเป็นส่วนอายตนะภายนอกแล้วเข้ายึดเอา นั่นเรียกว่าตัว กามตัณหา


    ฉะนั้นจึงให้ประคองจิตของตนอยู่ในอารมณ์หนึ่ง เรียกว่า สุขเวทนา อย่าเอาอารมณ์อื่นเข้าปะปน ให้ตั้ง สติสัมปชัญญะ ไว้ประจำตน แล้วให้เพียรเพ่งพิจารณาให้ดูจนรู้ความจริงของเวทนานั้น ๆ ที่เรียกว่า อาตาปี

    เมื่อทำได้เช่นนี้จึงจะเรียกว่า เป็นผู้เจริญในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน


    --------------------------------------------------------


    ข้อนี้โดยมาก คนเราเมื่อมีเวทนาอันใดเกิดขึ้นแล้ว มักทำความปรารถนาต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น


    ตัวอย่างเช่น สุขเวทนาได้เกิดขึ้นแก่ตนแล้ว ก็อยากให้สุขนั้นเป็นอยู่คงที่ หรืออยากให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป เลยกลายเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้น ที่เรียกว่า สมุทัย เลยได้รับผลตรงข้ามกับความต้องการของตน

    บางทีก็มีทุกข์เวทนาเกิดขึ้น ก็ไม่ต้องการ ดิ้นรนหาความสุขต่อไป เลยกลายเป็นเพิ่มทุกข์

    บางขณะใจก็เฉย ๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ยินดียินร้าย เป็นกลางวางเฉยอยู่เช่นนั้น แล้วก็อยากให้เป็นอยู่เช่นนั้นเป็นนิจ บางทีก็เห็นว่าตนไม่ฉลาด เป็นเหตุให้เกิดความปรารถนาขึ้นอีกได้ แล้วก็ดิ้นรนขวนขวายอยากให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าตนที่เป็นอยู่นั้น

    เมื่อเป็นเช่นนี้จะเรียกว่าผู้ตั้งอยู่ในสติปัฏฐานไม่ได้ ถึงแม้มีสติระลึกได้อยู่ว่าสุขหรือทุกข์ หรืออุเปกขาก็ตาม แต่ก็ไม่พ้นไปจากความเป็นเช่นนั้น

    นี่ก็ส่อให้เห็นว่าขาด คุณธรรม ๓ อย่าง ทะนุบำรุงช่วยสนับสนุนสติอันนั้นให้เป็นองค์มรรคขึ้น


    --------------------------------------------------------


    คุณธรรม ๓ อย่าง ทะนุบำรุงช่วยสนับสนุนสติอันนั้นให้ เป็นองค์มรรคขึ้น คือ..


    ให้มี สัมปชัญญะ ความรู้ดี ประจำใจไว้เป็นเบื้องต้น นี้หนึ่ง


    แล้วใช้ สติ แล่นติดต่ออารมณ์กับจิต อย่าให้จิตเคลื่อนคลาดจากอารมณ์ ทั้งนั้นอย่าให้อารมณ์นั้นคลาดเคลื่อนจากจิต ตั้งสติกับอารมณ์นั้น ประคองจิตไว้ในอารมณ์เดียวให้แน่วแน่อยู่


    ส่วนอารมณ์นี้เป็นหน้าที่ของ อาตาปี คือความเพียงเพ่งพิจารณาตามอาการของเวทนาทั้งหลาย ที่เป็นภายในและภายนอก สุข ทุกข์ อุเปกขา อาการใดอาการหนึ่ง เช่น ทุกข์เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร เป็นหน้าที่ของความเพียรเพ่งพิจารณา ดูจนกว่าจะรู้จริง นี้หนึ่ง จะเป็นเวทนานอกก็ตาม ในก็ตาม เป็นหน้าที่ของ อาตาปี

    เวทนาทั้งหลายเหล่านั้นปรากฏอยู่ในที่แห่งใด จำจะต้องใช้ความเพียรเพ่งพิจารณาแผดเผาเร่าร้อนอยู่ในที่นั้น นี่เป็นวาระที่ (๑.) ของความเพียรเพ่งพิจารณา

    (๒.) ให้ดูความเกิดขึ้นแห่งเวทนาอันมีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องสาวไปในที่อื่น ทำความเห็นว่า จะเกิดมาจากเหตุอะไรก็ตาม ให้กำหนดจดจ้องดูอยู่แต่ปัจจุบัน

    (๓.) ให้พิจารณาความเสื่อมไปของเวทนานั้น

    (๔.) ให้เพ่งดูความดับของเวทนานั้น

    (๕.) ทำความรู้ไว้ว่า เวทนานี้มีแต่ความเกิดและความดับ ความทำลายถ่ายเทกันไปด้วยประการต่าง ๆ หาเป็นแก่นสารไม่


    เมื่อใครทำได้ด้วยอาการเช่นนี้ จึงเรียกว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ย่อมเป็นองค์มรรคสมังคี อยู่ในที่นั้น


    --------------------------------------------------------


    ถ้าจะย่นให้เป็นองค์มรรค ต้องย่นอย่างนี้ คือ..


    สัมปชัญญะ ความรู้ดีคอยประคองจิตอยู่ ทำความรู้ตัวอยู่ ไม่ปล่อยจิตของตนให้แล่นไปสู่อกุศล ทำจิตของตนให้เป็นปรกติอยู่ นี้เรียกว่า ศีล

    สติ คอยประสานจิตกับอารมณ์ไม่ให้คลาดเคลื่อนไปสู่อารมณ์อื่น นี้เรียกว่า สมาธิ

    อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณาในอารมณ์นั้น ๆ ให้รู้แจ้ง เห็นจริง รู้ได้ทั้งความเกิดความดับ นี้เรียกว่า ปัญญา


    คุณธรรม ๓ ประการนี้ต้องให้มีให้เกิดขึ้นพร้อมเพรียงกันในขณะจิตอันใดอันหนึ่ง จึงเรียกว่า มรรคสมังคี แล้วมรรคเหล่านั้นทำงานตามหน้าที่แห่งตน ก็จะรู้แจ้งเห็นจริง โดยไม่ต้องละโน่นทำนี่ ละนี่ทำโน่น ละนอกทำใน ละในทำนอก เมื่ออาศัยคุณธรรม ๓ ประการนี้พร้อมแล้ว จะไปทำในอารมณ์ใดก็ตาม อดีต อนาคต ปัจจุบัน สุข ทุกข์ อุเบกขา อาการใดก็แล้วแต่ เมื่อสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมแล้ว ย่อมแล่นเข้าไปถึงกันหมด


    จึงได้เปรียบไว้ในเบื้องต้นว่า จิต เปรียบเหมือน เหล็กเพลาจักร

    สัมปชัญญะ เปรียบเหมือน มู่เล่หมุนตัวอยู่ประจำที่ของตน

    สติ เหมือน สายพาน คอยประสานอารมณ์กับจิตมิให้คลาดเคลื่อนเปลี่ยนแปลง

    อาตาปี เหมือน เลื่อยจักรชักไป คอยมาตัดรอนอารมณ์นั้น ๆ ให้กระจายออกเป็นส่วน ๆ


    นี้เรียกว่า ภควา ผู้มีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง เช่นนั้น จึงเรียกได้ว่าเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยการทำสติปัฏฐานในข้อนี้


    --------------------------------------------------------


    คัดลอกปรับวรรคตอนบางส่วน
    จากที่มา "สติปัฏฐาน"
    โดย พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
    https://sites.google.com/site/smartdhamma/sati_lp_lee
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. supen

    supen สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 มีนาคม 2017
    โพสต์:
    2
    ค่าพลัง:
    +6
    สาธุ
     

แชร์หน้านี้

Loading...