หลวงพ่อสอนอริยสัจ4

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 27 มิถุนายน 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,440
    [​IMG]

    สวัสดีครับพี่ๆทุกๆท่านที่มีหัวใจพุทธใฝ่พระธรรมของพระพุทธองค์ทุกๆท่าน
    วันนี้ขอว่ากันถึงเรื่องอริยสัจ 4 นะครับ หลวงพ่อท่านสอนว่า
    อริยะสัจ4 มี4อย่างคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
    ที่เรียกว่าอริยสัจ ก็เพราะว่า เป็นความจริงที่ทำบุคคลให้เข้าถึง
    ความเป็นพระอริยะเจ้า พระอริยะเจ้าเขาเป็นกันอย่างไรล่ะ? เหาะได้รึไง
    ไอ้ไง่ แบบนี้ล่ะ ปล่อยให้โง่ไปคนเดียวนะ คิดอย่างนั้นจริงๆ
    อีตอนที่เรียนใหม่ๆคิดว่าคนทุกคน ถ้าเป็นพระอรหันต์ได้
    ต้องเหาะเหินเดินอากาศได้ แสดงฤทธิ์ได้ นี่มันเป็นความโง่
    แต่ความจริงคำว่า อรหันต์ แปลว่า เป็นผู้สิ้นจากกิเลส ใช่ไหม
    หรือแปลว่า เป็นผู้ไกลจากกิเลส หรือ มีกิเลสอันสิ้นแล้ว นั่นเอง

    คำว่าอรหันต์อยู่ตรงนี้ ไม่ได้หมายความว่าเหาะเหินเดินอากาศ
    เนรมิตอะไรได้ ไอ้ตัวเหาะได้นี่ ความจริงเขาเหาะได้
    ตั้งแต่ยังไม่เป็นพระโสดาบัน แต่ว่าพวกที่ได้ฌานโลกีย์ แล้ว
    ก็ได้อภิญญาด้วยนี่ฤทธิ์มันปรากฏตั้งแต่ตอนนี้ หากว่าเราไปเห็นใครเขาเหาะได้
    เนรมิตอะไรได้เข้า อย่านึกว่าเขาเป็นพระอริยะเจ้า อันนี้ไม่ใช่
    [​IMG]

    หากว่าบังเอิญจะเป็นพระอริยะเจ้า ได้อภิญญา 6
    หรือปฏิสัมภิทาญาณ เรื่องที่ท่านจะเหาะให้เราดูเฉยๆ ก็ไม่มีเหมือนกัน
    ท่านไม่ยอมทำ เพราะว่าท่านไม่ยอมเป็นทาสของคำชมเชย
    หรือคำสรรเสริญ พระอรหันต์ถ้าหากว่าจะแสดงฤทธิ์ก็ต้องจำเป็นจริงๆ
    เพื่อเป็นการเจริญศรัทธา เรียกว่าอย่างที่พระพุทธเจ้าที่ท่านทรมานชฎิล
    เพราะพวกนี้เขาเล่นฤทธิ์กัน ถ้าพระพุทธเจ้าไม่แสดงฤทธิ์ก็ไม่นับถือ
    นี่พระพุทธเจ้าท่านจำจะต้องทำ หรือว่าพระพุทธเจ้าทรงไปทรมาน
    น้ำใจของพระประยูรญาติ คำว่าทรมาน นี้หมายความว่า
    กลับใจจากผิดให้มาเป็นถูก มันเป็นการทรมานเหมือนกัน
    ศัพท์ภาษาบาลีท่านเรียกว่า ทรมาน ถ้าศัพท์สำหรับชาวบ้านเราเรียกว่าโปรด

    ทีนี้คำว่า โปรด หรือว่าทรมาน นี่ก็คือกลับอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่ง
    อย่างเขาชอบกินเหล้า เราบอกว่ากินเหล้าไม่ได้
    นี่เขาต้องฝืนอารมณ์เดิม เขามางดจากการกินเหล้า
    ก็ชื่อว่าทรมานใจ แต่ว่าทรมานให้ได้ดีอย่างนี้
    ตามศัพท์ภาษาบาลีท่านจึงเรียกว่า ถ้าพระพุทธเจ้าไปโปรดใคร
    ท่านเรียกว่าทรมาน อย่างทรมานพระญาติวงศ์
    อันนี้ต้องแสดงฤทธิ์เหมือนกัน ต้องเหาะให้ดู เมื่อเหาะเสร็จเรียบร้อยแล้ว
    พระญาติพระวงศ์มีความเชื่อ เพราะคนที่มีความสามารถไม่มีเสมอนั้น
    เชื่อว่าพระองค์มีความสามารถเป็นพิเศษจริง จึงยอมรับนับถือ
    นี่ก็เป็นความจำเป็นเกิดขึ้น ท่านจึงแสดงฤทธิ์ ไอ้ฤทธิ์ไม่ใช่แสดงกันส่งเดชไป

    วันนี้มากันถึงเรื่องอริยสัจ4 วันนี้ว่ากันตัวสำคัญเลย
    อริยสัจ แปลว่าความจริง ท่านลองนึกดู นี่เราเรียนกันอย่างแบบสบายๆ
    ดีกว่าแบบตามตำราเกินไปมันฟังยาก พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า
    ในโลกนี้มีแต่ความทุกข์ หาความสุขมิได้ นี่เรามานั่งนึกดูซิว่า
    พระพุทธเจ้าท่านพูดจริงหรือพูดปด พระอรหันต์ท่านโกหกมีไหม
    เรื่องพระสารีบุตรกับ ตัมพทาฐิกโจร โกหกก็แปลว่า
    พูดไม่ตรงความเป็นจริง ตัมพทาฐิกโจรแกฆ่าคนมานับหมื่น
    ทีนี้เวลาพระสารีบุตรไปเทศน์ กัณฑ์แรกก็ล่อปาณาติปาตาเข้าเลย
    มันก็เสร็จนะสิ พอปาณาติปาตา คนฆ่าสัตว์ตัดชีวิตฆ่าคนก็ตาม
    ตายตกนรก โอ้โฮ้ ถ้าเป็นอาจิณกรรม ลงอเวจีมหานรก
    และอธิบายเสียเป็นคุ้งเป็นแควไปเลย พวกก็เหงื่อแตกพลั่ก
    เสร็จเหงื่อแตก กระสับกระส่าย
    พระสารีบุตรมองไปเห็นอีตาตัมพทาฐิกโจรท่าทางไม่ดีแล้ว
    ท่านหยุดถาม โยม ไม่สบายหรือ ไอ้ที่ท่านเทศน์น่ะ ผมแย่เต็มทีแล้ว
    เสร็จ ผมน่ะลงนรกไม่ได้ขึ้นล่ะ ก็เลยถามว่า ไอ้คนที่โยมฆ่าน่ะ
    ฆ่าเองหรือใครให้ฆ่า บอกว่าพระราชาสั่งให้ฆ่า
    เพราะมีหน้าที่เป็นเพชรฆาต ท่านก็เลยเทียบกับคนลูกจ้างทำนา100ไร่
    เมื่อผลในนาน่ะ นายได้หรือลูกจ้างได้ แกบอกว่า
    ลูกจ้างได้แต่ค่าจ้าง ผลในนานายได้ แกโง่กว่าพระสารีบุตร
    เห็นไหม พระสารีบุตรก็บอกว่า ไอ้คนที่โยมฆ่าคน
    พระราชาสั่งให้ฆ่านั้นบาปมันตกอยู่ที่ใคร ท่านก็ไม่บอกว่า
    บาปมันตกอยู่ที่พระราชา นี่อีตานั่นแกโง่กว่าพระสารีบุตรนี่
    แกก็นึกว่าแกไม่บาป พอนึกว่าแกไม่บาปเท่านั้น
    พระสารีบุตรท่านเทศน์ใหม่ เทศน์อานิสงฆ์ของทาน
    กัญฑ์นั้นปล่อยทิ้งไปครึ่งกัณฑ์ เพราะขืนเทศน์เป็นไม่ได้การแน่
    ไอ้กัณฑ์นั้น ขึ้นกัณฑ์ใหม่เทศน์อานิสงค์ของทาน
    ตัมพทาฐิกโจรเป็นพระโสดาบัน อย่างนั้นเขาไม่ได้เรียกการโกหก
    เขาเรียกลีลาแห่งการแสดง
    [​IMG]

    ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านเทศน์อริยสัจ ว่าโลกทั้งโลกเต็มไปด้วยความทุกข์
    คุณก็ลองหาดูซิว่า ไอ้โลกจุดไหนที่มันเป้นสุข ลองช่วยกันหาดูซิ
    หิวข้าวเป็นสุขหรือทุกข์ หิวทำไมแล้วล่ะ แกหิวทำไม ฮึ...
    ทำไมถึงหิว เพราะมันอยากหิว ร้อนมันเป็นสุขหรือทุกข์
    ปวดท้องขี้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าไม่ขี้มันก็เป็นทุกข์ใหญ่นะ
    รวมความว่าที่เราทรงชีวิตอยู่นี่นะ เราหาความสุขไม่ได้จริงๆ
    สิ่งที่เป็นทุกข์ที่เป็นประจำเขาเรียกว่า นิพัทธทุกข์
    ที่ถามมาเมื่อกี้นี้ท่านเรียกว่า นิพัทธทุกข์

    ความจริงนิพันธทุกข์นี่มันมี10อย่าง แต่เราเอากันเห็นแบบง่ายๆ
    พอตื่นขึ้นมาถ้าเราไม่ล้างหน้า เราไม่แปรงฟัน
    มันก็เป็นทุกข์ เพราะรำคาญใช่ไหม เพราะรำคาญนี่ไม่ล้างหน้าไม่ได้
    รำคาญมันกลางหน้า หน้ามีเหงื่อมีไคลบ้างรึเปล่า
    ปากถ้าไม่แปรงมันก็เหม็น ไอ้ความรำคาญเกิดขึ้น
    บรรดาอาการของความทุกข์แปลว่า ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
    นั่นเป็นอาการของความทุกข์

    ที่นี้พอตื่นมาแล้วล้างหน้า ถ้าเราไม่ได้กินข้าวมันก็หิว
    ไอ้ตัวหิวนี่มันเป็นทุกข์ และเมื่อกินเข้าไปแล้วทำไง
    ไอ้คนใหม่เข้าไปคนเก่ามันอึดอัดมันออก ฮึ...
    ปวดท้องขี้ปวดท้องเยี่ยวซิ ทีนี้มันเข้าไปซ้อนกันอยู่นานได้เมื่อไหร่
    ไอ้กากมันจะออก การกระสับกระส่ายของการปวดอุจาระ
    ปัสสาวะเป็นอาการของความทุกข์ นี่คำว่าทุกข์
    นี่คำว่าปกติของทุกข์ เป็นประจำวัน แต่เรื่องหิวนี่นะเราเกิดมาชาติหนึ่ง
    เราต้องการอาหารวันละกี่เวลาต้องคิดมันดู เราต้องการดื่มน้ำวันละกี่ครั้ง
    ขณะใดที่เราต้องการดื่มน้ำ ขณะนั้นเป็นอาการของความทุกข์
    เพราะหากว่าถ้าเราไม่ได้ดื่มน้ำ ความกระหายมันเกิดขึ้น
    ไอ้ความกระหาย ความต้องการ นี่มันเป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวสุข
    เห็นไหมครับ การหิวข้าวเป็นทุกข์ การปวดอุจาระเป็นทุกข์
    ปัสสาวะเป็นทุกข์ ความเย็นสูงเกินไปเป็นทุกข์ เพราะเราไม่ต้องการ
    ร้อนมากเกินไปเป็นทุกข์ การปฏิบัติงานทุกอย่าง
    เพื่อความเป็นอยู่เป็นทุกข์ เพราะอะไร เพราะการหากิน
    ทุกอย่างต้องเหน็ดเหนื่อย ต้องใช้กำลังกายกำลังใจ
    และกำลังทรัพย์ เราไม่มีเราก็หากินอะไรไม่ได้เลย หากินได้ไหม
    บอกไม่มีทุนไปขุดดิน เอาอะไรไปขุดดิน เอาอะไรไปขุด
    ถ้าไม่มีสตางค์ ซื้อพลั่ว ซื้อจอบ ซื้อเสียม ก็ต้องเอาไม้แข็งๆ ไปขุด
    ไอ้ไม้ชิ้นนั้นมันเป็นทรัพย์ ต้องใช้ทรัพย์เหมือนกัน เราทำงานทุกอย่าง
    เราเหนื่อยต้องเคร่งเครียดต่องานและการทำงานที่มีผู้บังคับบัญชาการ
    ก็ยิ่งหนักสองอย่าง หนักทั้งงาน หนักเพราะเกรงใจ
    ผู้บังคับบัญชาการ เกรงว่าจะไม่ถูกใจ นี่การปฏิงานทุกอย่าง
    ขึ้นชื่อว่าความสบายไม่มีเลย นี่เป็นอาการของความทุกข์ที่เราเห็นได้ง่ายๆ

    แต่พระพุทธเจ้าบอก ความทุกข์มีจริง แต่คนเห็นทุกข์ไม่มี
    นี่เราต้องมานั่งนึก นึกถึงความทุกข์ในอริยะสัจ 4
    พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า แม้แต่คำข้าวคำเดียวที่เราเปิบเข้าไป
    มันก็เป็นทุกข์ ท่านบอกว่า กับข้าวหรือข้าวที่เราพึงหาได้
    ที่เราจะกินอันนี้มันมาจากไหน มันมาจากหยาดเหงื่อแรงงานของเรา
    หรือว่าถ้าเราจะมีสตางค์ซื้อข้าว สมมุติว่าพวกคุณมีเงินเดือน
    ไอ้เงินเดือนนี่มันไม่ใช่เงินเดือนครึ่งเดือน หรือว่าไม่ใช่เงินครึ่งวัน
    เราทำงานมาตั้งเดือนถึงจะได้เงินจำนวนนั้นมา และการทำงานทุกครั้ง
    มันเหนื่อยไหม บางทีเรานั่งเขียนหนังสือ มันก็เหนื่อย เหนื่อยกาย เหนื่อยใจ
    เมื่อยมือ ใช้สมอง แล้วก็ต้องเหนื่อย เกรงว่าผู้บังคับบัญชาจะหาว่าทำไม่ถูกใจ
    ไม่ถูกแบบไม่ถูกแผน นี่มันเหนื่อย

    ทีนี้คนที่เขาทำนาทำสวนมันก็เหนื่อย ออกกำลังกายมาก
    ใช้กำลังความคิดด้วย คนที่ประกอบการค้าก็เหนื่อย ไม่ใช่นั่งอยู่สบายๆ
    ยิ่งต้องใช้สมองหนัก และการค้าต้องเอาใจชาวบ้าน นี่มันหนักทุกอย่าง
    หากว่าใครเขาจะเข้ามาซื้อของเรา พูดไม่ถูกใจเขา เขาก็ไม่ซื้อ
    เราก็ต้องวางแบบ วางแผน วางกฎ ตั้งต้นไอ้แบบนี้
    จะทำให้ถูกใจเขานี่มันเหนื่อย รวมความว่าอาหารที่เราจะกินเข้าไป
    กว่าจะได้อาหารมาก็แสนที่จะเหน็ดเหนื่อย เต็มไปด้วยความทุกข์
    ความหนาวจะหนาวสักเพียงใดก็ตาม ก็ต้องทนทำงานเพื่อเงิน
    อากาศจะร้อนเพียงใดก็ตาม ก็ต้องทนทำงานเพื่อเงิน
    บางทีอันตรายที่เราจะถึงสำนักงาน หรือว่าไปสำนักงานแล้ว
    อันตรายจะพึงมีรอบตัวก็ได้ เราก็ต้องทนทำ
    เพราะต้องการเพื่อเงินและทรัพย์สินเอามาเป็นอาหารที่เราจะพึงกิน
    นี่เป็นว่าอาหารที่เรากินเข้าไปนี้เรากินทุกข์ ใช่ไหม

    เรานี้รู้แล้วว่าโลกนี้มันทุกข์ แล้วเกิดมาทำไมล่ะ ทำไมถึงเกิด
    อีตอนนั้นมันโง่ไปเพราะเจ้านายมันบังคับให้เกิด คือกิเลส
    ความเศร้าหมองของจิต ที่คิดว่าโลกเป็นสุข ใช่ไหม ตัณหา ความทะยานอยาก
    คือคิดว่าโลกเป็นสุขจึงอยากจะมาเกิด อุปาทาน
    เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไอ้ตัวที่คิดว่าสุขมันมีอยู่ ทั้งๆที่มันเป็นอาการของทุกข์
    ทุกอย่างเราก็คิดว่าเป็นสุข เป็นความยึดมั่นอุปทาน อยู่คนเดียวสบายๆไม่พอ
    อยากจะแต่งงานให้มันมีความสุข พอแต่งงานแล้วหาสุขตรงไหนล่ะ
    เราอยู่คนเดียวเอาใจเราคนเดียว เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นคนสองคน
    เราจะถือระบบนั้นไม่ได้ จะต้องคอยเอาใจคนอีกคนหนึ่ง
    ไอ้การประกอบอาชีพการแสวงหาทรัพย์สินมันก็ต้องมากขึ้น
    เพราะต้องเผื่อคนอีกคนหนึ่ง ถ้าเรามีคนอีกคนหนึ่ง
    มาเป็นผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์ แต่ความจริงไม่ใช่ร่วมสุกข์ มันร่วมแต่ทุกข์
    แล้วก็ต้องรักษากำลังใจคนอื่นอีกหลายสิบคน ซึ่งเป็นพวกพ้อง
    ซึ่งกันและกัน นี่ความหนักมันเกิดขึ้น ไม่ใช่ความเบาเกิด
    พอแต่งงานแล้วลูกโผล่ออกมาอีกซิ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า
    " ภารา หเว ปัญจักขันธา " ขันธ์ทั้งหลาย 5 เป็นภาระอันหนัก
    เราคนเดียวมีแค่ขันธ์ 5 หนักพอแล้ว หนักเพราะความหิว
    หนักเพราะความกระหาย เพราะความร้อน ความหนาว ความเจ็บป่วยไข้ไม่สบาย
    ความแก่ ความปรารถนาไม่สมหวัง และก็ความตาย แค่นี้หนักจนเราแบกไม่ไหว
    ในที่สุดร่างกายมันพัง ทีนี้หากว่าเรามีคู่ครองและเขาแบกมาอีก 5 เป็น 10 ใช่ไหม
    10 ขันธ์ เข้าไปแล้วพอเข้ามาเป็นขันธ์ 10 เดี๋ยวมันโผล่มา
    มันก็เต็มไปด้วยความทุกข์ อีตอนมีใหม่ๆ น่ะหรือ รู้ข่าวมีลูก แห่ดีใจ
    พอลุกโผล่ออกมา ชักจะยุ่งแล้ว ใช่ไหมดีไม่ดี ดึกๆดื่นๆ
    ไอ้ลูกไม่สบายต้องวิ่งไปหาหมอ ต้องตื่นขึ้น ลูกร้องขึ้นมา
    นี่พูดให้เห็นว่าเป็นทุกข์ง่ายๆ ที่เราพึงมองเห็น
    แต่ว่าไม่อยากมีใครเขาอยากมองกัน ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงบอกว่า
    โลกมีความทุกข์จริง แต่คนเห็นทุกข์ไม่มี นี่ความจริง
    [​IMG]

    " ทีนี้มาดูทุกข์ภายในซิ นอกไปจากนั้น นอกจาพิพัทธทุกข์
    ก็ได้แก่ความเจ็บป่วยไข้ไม่สบาย อันนี้มันมีตามปรกติ
    เรามองไม่เห็นใช่ไหม ที่ผมเคยบอก ชิคัจฉา ปรมา โรคา
    พระพุทธเจ้าท่านทรงตรัสว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง
    ไอ้ความหิวมันเป็นอาการเสียดแทง โรค เขาแปลว่า เสียดแทง
    นี่เวลาหิวขึ้นมาไม่ได้กินมันก็แสบท้องน่ะซิ ใช่ไหม ความไม่สบายกาย
    ไม่สบายใจมันก็เกิด โรคประเภทนี้มันเป็นกับเรากี่วัน
    นี่เป็นอาการของความทุกข์ ที่เรามองไม่เห็น
    ทีนี้ในเมื่อมันหิวแล้วเรากินเข้าไป ร่างกายเราเอาใจมันทุกข์อย่าง
    อาหารประเภทไหนราคาแพงเท่าไหร่ ที่พวกอนามัยเขาบอกว่าดี
    เราก็พยายามกิน กินเข้าไปของแพงเท่าไหร่ก็หนักใจมากเท่านั้น
    เพราะเราต้องจ่ายทรัพย์มาก เราต้องเหนื่อยมาก มีการสิ้นเปลืองมาก
    ของดีวิเศษแค่ไหนก็ตาม กินแล้วที่ไม่แก่ไม่มี
    กินแล้วไม่ป่วยไข้ไม่สบายไม่มี กินเข้าไปแล้วไม่ตายไม่มี
    เป็นอันว่าอาหารทุกอย่างที่เรากินเข้าไป เราได้มาจากความทุกข์
    แล้วเวลาที่เราจะกิน ก็กินอำนาจของความทุกข์บังคับ เพราะอะไร
    เพราะความหิว นี่เรากินอาหารประเภทไหน มันก็แก่ มันก็ป่วย มันก็ตาย
    ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ถ้าเราจะกินอาหาร
    ก็กินคิดว่าเป็นแต่เพียงอัตภาพให้เป็นไป อย่ากินเพื่ออย่างอื่น
    ถ้าเราคิดว่าเรากินเพื่ออย่างอื่น เราก็โง่เต็มที เราจะกินของดีประเภทใดก็ตาม
    ให้เราเป็นคนหมดทุกข์น่ะมันไม่ได้ ขณะที่ความหิวเกิดขึ้น
    เราอาจจะไม่มองถึงความทุกข์เรื่องอื่น มองทุกข์จุดเดียว
    คือ ความหิว คิดว่ากินเข้าไปแล้วถ้าอิ่มก็หมดทุกข์ แต่พออิ่มประสาทมันเริ่มดีขึ้น
    มันก็เลยนึกต่อไปว่า เวลานี้ได้กินแล้ว เวลาหน้าจะกินอะไร
    และงานประเภทไหนที่ยังคั่งค้างอยู่ ความปรารถนา
    ที่เราต้องการมีอะไรบ้าง ที่เรายังไม่ได้สมหวัง นี่อารมณ์แบบนี้
    มันเป็นอารมณ์บอกถึงความทุกข์ ไม่ใช่อารมณ์หยุด
    มันเป็นอารมณ์ทำงานทุกอย่างที่เราทำ ขณะที่เราทำมันเป็นทุกข์

    ทีนี้พระพุทธเจ้า นี่ขอพูดย่อๆ ไอ้เรื่องทุกข์นี่พูดไปยันตาย
    มันก็ไม่จบ หือ...จะจบยังไง เพราะผมต้องการบอกอาการผมทุกอย่างนี่
    เวลาตายมันปวดที่ไหน มันเสียดที่ไหน คุณไปฟังไปยันตายเลย
    เป็นอันว่าเรามองหาโลก มองดูโลกตามความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้า
    ท่านทรงสอน บอกไว้ว่า การเกิดของเราไม่มีความสุข
    มีแต่ความทุกข์ฝ่ายเดียว แต่ไอ้ที่เราดูเห็นว่าเป็นสุขก็เพราะอะไร
    เพราะว่าเราโง่ มันมีจุดที่สุขอยู่นิดเดียวคือ ความปรารถนา
    สมหวังตามทื่เราตั้งใจ เราคิดว่ามันเป็นสุข เราดีใจ ดีใจนี่เราต้องการ
    เราได้ตามความประสงค์ แต่เนื้อแท้จริงๆ แล้วไม่ใช่ความสุข นั่นเป็นความทุกข์
    เพราะอะไร เพราะว่าเราได้มาแล้วจะเป็นวัตถุ หรือบุคคลก็ตาม
    อารมณ์ของความทุกข์ก็ติดตามมา ถ้าเป็นวัตถุก็เกรงว่ามันจะสูญหายไป
    เกรงว่าเป็นอันตราย เกรงว่าจะเก่า เกรงว่าจะพัง นี่ตัวทุกข์มันตามมาเลย
    คนไม่มีสะตังค์ คิดว่าเขามีสตางค์สักหมื่นก็ดีใจ แต่ถ้าเงินหมื่นบาท
    เข้ากระเป๋าเมื่อไหร่ คุณนอนไม่หลับเมื่อนั้น กลัวเงินจะหาย เกรงใครจะมาปล้น
    เกรงใครจะมาจี้ เกรงของหายเงินจะหาย นี่ไอ้ตัวทุกข์มันตามมาเลย
    หรือบางทีกลัวเงินไม่พอ เดือนนี้มีเจ้าหนี้กี่รายไปเซ็น อะไรใครเขามาบ้าง
    ไอ้ทุกข์มันมีหลายด้านนะ เป็นอันว่าวัตถุก็ดี บุคคลก็ดี ในโลกนี้
    หาความสุขไม่ได้ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดความสุข มันเป็นปัจจัย
    ของความทุกข์อย่างเดียว นี่ขั้นแรกพระพุทธเจ้าท่านสอนในอริยสัจ
    ให้หาตัวทุกข์ให้พบ ถ้าหากว่าเราจะปฏิบัติในอริยสัจละก้อ ถ้าเราหาตัวทุกข์ยังไม่พบ นี่
    อย่าพึ่งปฏิบัติข้ออื่น นี่พูดถึงแนวการปฏิบัติจริงๆนะ

    อันดับแรก พระองค์ทรงสอนให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นทุกข์
    เราก็เป็นทุกข์ คนอื่นก็เป็นทุกข์ ทีนี้เวลาเรานอนอยู่หรือนั่งอยู่เป็นที่เงียบสงัด
    ปราศจากสิ่งรบกวน เราก็ใคร่ครวญหาความเป็นจริงที่ว่า
    ที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า โลกนี้เป็นทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
    เรามีทุกข์อะไรบ้าง ก็นั่งนึกหาความจริงให้มันพบ
    แล้วก็แปลทุกข์ให้ออก ต้องนึกไว้เสมอ อะไรบ้างที่ทำให้เราไม่สบายกาย
    ไม่สบายใจ ภาระทุกอย่างที่เรามีอยู่ นี่สร้างความไม่สบายกายไม่สบายใจ
    ให้แก่เราทั้งหมด

    หนึ่งตื่น ต้องกินข้าว ถ้าเราตื่นขึ้นมาไม่มีข้าวจะกิน
    ความหนักใจมันก็เกิด ทีนี้ถ้ามีข้าวแล้วยังไม่กิน สายเกินไป
    ความเสียดแทงมันเกิด มันเป็นทุกข์ ทีนี้เวลาเรากินข้าวไปแล้วทำไง
    อุจจาระปัสสาวะจะมามันก็เป็นทุกข์ นี่พูดเรื่องเก่า
    แต่หากว่าเป็นคนร่วมกัน ถ้าเราคุยเสียงดังเกินไปคนข้างห้องเขาบอกรำคาญ
    แต่ว่าเวลานี้ความจริงเขาอยากจะพูดให้เสียงดัง เพราะมันสบายใจ
    ทีนี้คนข้างๆ เขาบอกว่าพูดแบบนี้ไม่ได้ ฉันไม่ชอบรำคาญ
    ไอ้ความไม่สบายใจของเราก็เกิด มันเกิดความคับใจเสียแล้ว
    แหม....จะปล่อยอารมณ์ตามปรารถนาสักหน่อยเป็นไปไม่ได้
    นี่ความไม่สบายใจเกิดขึ้นอีกไอ้ตัวไม่สบายใจเกิดมันเป็นตัวทุกข์

    ทีนี้ได้ยินข่าวแล้ว เขาบอกว่า พ่อป่วยแม่ป่วย ญาติคนนั้นป่วย
    ญาติคนนี้ตาย เอ้า...ความไม่สบายกายไม่สบายใจเกิดขึ้นอีก
    ดีไม่ดีเขาบอก นี่พื้นที่ของท่านที่มีอยู่ที่โน้น มีคนเขามาบุกรุกไปศอกหนึ่งแล้ว
    แขนหนึ่งแล้ว หรือคืบหนึ่งแล้วเอาอีกแล้ว แล้วก็คิดในใจว่าไอ้ที่นี้
    มีโฉนดมารุกรานกันยังไง มาอีกแล้ว นอนตาไม่หลับอีกแล้ว
    มือก่ายหน้าผาก นี่ขึ้นว่าทรัพย์สินต่างๆก็ดี ร่างกายก็ดี มันเป็นทุกข์จริงๆ

    ทีนี้เวลานักปฏิบัติเขาปฎิบัติ เขามองหาทุกข์ของตัวให้พบ
    แม้แต่ทุกข์เล็กทุกข์น้อยเขาต้องมองให้พบ หาด้วยปัญญาไม่ได้หาด้วยสัญญา
    ทีนี้เมื่อหาความทุกข์ของเราพบแล้ว ก็หาความทุกข์ของคนอื่น
    มองดูโลกทั้งโลกคนไหนมีความสุขจริงๆ เห็นคนเดินหน้าผ่านเราไป
    เราก็คิดว่าคนนี้น่ะหิวข้าว บ้างไหม คิดในใจ ปวดอุจจาระปัสสาวะบ้างไหม
    เขาเคยปวดไข้ไม่สบายบ้างไหม ร่างกายของเขาทรงอยู่หรือทรุดโทรมอยู่
    เสมอบ้างไหม นี่หาความจริงเหล่านี้ เราก็จะพบว่า
    คนทุกคนในโลกหาความสุขไม่ได้เลย มันจะสุขอย่างไร
    ก็หิวข้าวเหมือนกัน เราหิวข้าวมีอาการแบบไหน เขาก็หิวข้าวมีอาการแบบนั้น
    เราปวดอุจจาระปัสสวะแบบไหน มีความรู้สึกอย่างไร เขาก็เหมือนกัน
    เวลาเราป่วยไข้ไม่สบาย เรามีความรู้สึกแบบไหน เขาก็มีความรู้สึกแบบเรา
    ขณะใดที่ร่างกายทรุดโทรมลงไป ความทุกข์มันก็เกิดกับใจเพราะอะไร
    เพราะใช้กายไม่สะดวก เวลาที่เป็นหนุ่มเป็นสาวเต็มตัวใช่ร่างกายได้สะดวก
    ทีนี้พอมันชักจะแก่เหลาแหย่อย่างผมนี่ มันใช้อะไรไม่สะดวก
    ตา น่ะใส่แว่นยังอ่านหนังสือไม่ค่อยจะออกเลย สมัยก่อน
    ตัวหนังสือจะเล็กขนาดไหน ไม่ต้องใส่แว่นก็อ่านออก เวลานี้หนังสือตัวใหญ่ๆ
    บางทีใส่แว่นแล้วอ่านไม่ออก มันใช้ไม่สะดวก ทีนี้ความรำคาญมันก็เกิด
    ไอ้ความรำคาญของการอ่านหนังสือไม่สะดวก หรือไม่ชัดเจนมันก็เป็นทุกข์
    อันได้แก่การไม่สบายกายไม่สบายใจ

    เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าท่านให้มองหาความจริงของชาวโลก
    ความจริงของกายก็ดี หรือวัตถุก็ดี มันไม่ทุกข์ " ไอ้ตัวทุกข์จริงๆน่ะมันอยู่ที่ใจ
    " ความจริงร่างกายมันไม่ทุกข์ วัตถุมันก็ไม่ทุกข์ ไอ้ทุกข์จริงๆ มันอยู่ที่ใจของเรา
    ทีบอกว่าความทุกข์มันอยู่ที่ใจของเราคือ เราคำว่า เรา คือ จิต
    หรืออทิสมานกาย ที่ควบคุมร่างกาย ไอ้ร่างกายแท้ๆน่ะ
    ถ้าเราถอยออกมาเสียแล้ว มันไม่มีความรู้สึก ตัวอย่างคนตายที่เราเห็น
    ในเมื่อทิสมานกายมันเคลื่อนออกไป ทีนี้ร่างกายนั้นใครเขาทำอะไร
    มันก็ไม่ว่านี่ความจริงมันไม่ทุกข์ ที่มันทรุดโทรมลงไปก็เป็นกฎธรรมดาของมัน
    ร่างกายมีอุปมาเหมือนท่อนไม้ มันไม่ต่างอะไรกับไม้ท่อน ความจริงมันไม่ได้มีความรู้สึกอะไร
    ไอ้ที่มันมีความรู้สึกทุกข์ต่างๆ มันมาจากจิตตัวเดียว

    จิต คือ ความนึกคิดที่มีกำลังเหนือระบบของร่างกายทั้งหมด
    ที่สามารถให้ร่างกายทำอะไรต่ออะไรก็ได้
    นี่เราต้องเดินไป เราต้องพูดไป ต้องนอน ต้องยืน ต้องกิน อะไรพวกนี้
    มันเรื่องของจิตสั่งตัวเดียว ลำพังของร่างกายมันไม่ได้สั่ง
    เพราะอะไร เพราะมันไม่ต้องการจะให้มันอยู่แบบไหนก็ตามใจ
    จะให้กินหรือไม่กินมันก็ไม่ได้ว่าอะไร ร่างกายมันไม่ได้ทวง
    แต่ว่าจิตมันทวง เพราะจิตไปรับทราบถึงความเสื่อมของร่างกาย
    การขาดอาหารของร่างกาย จิตมันเข้าไปทราบ

    ทีนี้เราจะพูดว่าคนเรายังไม่ตาย ถ้าจิตออกจากร่างแล้วร่างกายมันไม่ทุกข์
    ตรงนี้เราต้องไปพิสูทธิ์กันอีตอนที่ได้มโนยิทธิ หรือว่าเข้าฌาณ 4
    แต่ขณะใดถ้าจิตเราทรงอยู่ในฌาณ 4 ขณะนั้นจิตมันแยกออกจากกายเด็ดขาด
    ความจริงมันอยู่ในกาย แต่ว่ามันไม่ยอมรับรู้เรื่องของประสาท
    นี่ท่านทรงฌาณ 4 อยู่น่ะ ยุงกินริ้นกัดจึงไม่มีความรู้สึก แล้วก็ใครเอาเสียงดังๆ
    อย่าปืนใหญ่ เสียงพลุ เสียงระเบิด มาทำเสียงให้ปรากฏใกล้ๆ
    หูก็ไม่ได้ยิน แต่ความจริงประสาทมันไม่ได้ดับ มันทรงตัวตลอด
    แต่ว่าจิตไม่ยอมรับทราบ นี่เราจะพิสูทธิ์ได้ตอนฌาณ 4 อย่างหนึ่ง

    ทีนี้ประการหนึ่ง ถ้าเราได้มโนยิทธิ สามารถถอดกายภายในออก
    ถอดออกแล้วเราจะไปไหนหรือไม่ไปก็ช่าง จะมายืนดูกายของเราที่เราอาศัยอยู่
    ที่มันนั่งอยู่ แล้วก็ดูสิ เวลายุงกินลิ้นกัดร่างกายมันจะเกามันจะไล่ยุงไหม
    จะไม่มีทางเลย มันจะเฉยทำเหมือนว่าเป็นหัวหลักหัวตอ
    นี่แสดงว่าร่างกายนี่มันไม่รับรู้เรื่องจริงๆ มันไม่ได้ทุกข์ด้วย
    และอาการที่ทุกข์ก็คือจิต จิตเข้าไปยึดว่าร่ายกายนี้เป็นเราเป็นของเรา
    นี่ลงมาสักกายทิฐินะ ถ้ายุงมันจะกินก็เกรงว่าไอ้ไข้ต่างๆที่มันมาจากยุง
    ยุงนำมาจะเกิดแก่ร่างกาย หรือไม่งั้นร่างกายมันเจ็บ เราเสียเลือด เราต้องไล่ยุง
    นี่เมื่อจิตมันเกาะอยู่มันทราบ ถ้าจิตไม่เกาะอยู่มันไม่เอา ร่างกายมันไม่ทำ
    นี่เป็นอันว่า ไอ้ตัวทุกข์จริงๆ มันอยู่ที่จิต ที่เราเรียกกันว่า อุปาทาน ตัวเข้าไปยึดถือ

    ทีนี้เรื่องทุกข์นี่ บอกแล้วว่าพูดเท่าไหร่ก็ไม่จบ ท่านจะต้องหากันให้พบ
    ดูคนทุกคนในโลกนี้ให้เห็นว่าทุกข์คนมีแต่ความทุกข์
    และก็ดูสัตว์ทุกประเภทในโลกนี้ เห็นว่าสัตว์ทุกตนมีแต่ความทุกข์
    ไม่ใช่ไปแช่งเขานะ ไม่ใช่ไปแช่งให้เขามีความทุกข์ หาความจริงว่าเขามีทุกข์
    ไอ้ความจริงที่เขามีทุกข์ จะมียังไงบ้าง ก็มีตามที่ผมพูดมาแล้วนั่นแหละ
    ผมขี้เกียจย้อนไปย้อนมาเดี๋ยวรำคาญ เป็นอันว่าหาให้ได้

    " ถ้าเรายังมองมุมใดมุมหนึ่งว่าเป็นแดนของความสุข
    อันนี้เขาถือว่าใช้ไม่ได้จะชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติที่ดีน่ะใช้ไม่ได้
    เขาเรียกว่านักปฏิบัติเหมือนกัน แต่เป็นนักปฏิบัติที่เลวแสนเลว
    เพราะอะไร เห็นว่าโลกเป็นสุข มันก็ค้านกับความจริง เพราะชื่อว่าจิต
    เรายังประกอบไปด้วยตัณหา มีกิเลส มีตัณหา มีอุปทาน
    ตัวยึดมั่น แล้วมันจะดีได้อย่างไร มันก็เลว "

    กิเลส แปลว่า ความเศร้าหมอง ไอ้วัตถุใดๆ ก็ตามถ้ามันเศร้าหมองไม่แจ่มใส
    เราก็ถือว่าวัตถุนั้นเลว มันหาตัวดีไม่ได้ ทีนี้หากว่ามันเศร้าหมองแล้ว
    เรายังไปดึงมันเข้าไว้ ก็ดึงเอาความสกปรกเข้ามา แล้วมันจะสะอาดได้อย่างไร
    ก็เลวน่ะซิ อุปาทานตัวเดียวไอ้ตัวทะยานอยาก ตัณหาอยาก อุปทานดึง
    ดึงเข้ามาแล้ว อกุศกรรม คือทำด้วยความโง่ รักษาของเลวไว้เป็นสมบัติของตน เลยเอาดีไม่ได้

    นี่ถ้าเป็นนักปฏิบัติก็ต้องเป็นนักปฏิบัติที่ระบบชั้นเลวสุด
    ถ้าเราไล่ตัวเลวกัน ไอ้ตัวเลวอันดับหนึ่งน่ะมันก็ถึงก่อน
    ตัวที่เข้าถึงก่อนนี่เขาต้องถือว่า
    " ถ้าจิตของเราเข้าไปเห็นมุมใดมุมหนึ่งของโลก หรือว่าคนใดคนหนึ่งของโลก
    ไม่ว่าทรงร่างกายทรงฐานะระดับไหนก็ตาม เห็นว่าเขามีสุข
    นั่นเราจะรู้เลยว่าเราโง่เต็มที จัดว่าเป็นคนบรมโง่แล้ว บรมโง่

    ปรมะ แปลว่า อย่างยิ่ง บรมโง่ ก็แปลว่า โง่อย่างยิ่ง คือยอดของความโง่
    หาใครโง่เกินกว่าเราไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะความจริงของโลก
    ไม่มีมุมเป็นมุมของความสุข " คุณลองบอกผมทีเถอะ คุณเห็นว่าไอ้โลกมุมไหนมันสุขบ้าง
    ถูกล็อตเตอรี่มีความสุขหรือมีความทุกข์ ไม่มีสุข หาสุขไม่ได้
    มันจะสุขตรงไหน พอรู้ข่าวว่าถูกล็อตเตอรี่ดีใจว่าถูกล็อตเตอรี่
    ความทุกข์มันตามมาเลย เกรงว่าสลากล็อกเตอรี่จะหาย ใช่ไหม
    ความจริงตอนซื้อมา อาจจะวางตรงไหนก็ได้ แต่รู้ข่าวว่าถูกรางวัลที่ 1
    อีคราวนี้ดีไม่ดีไม่อาบน้ำอาบท่าแล้ว อีใบนี้เก็บกันเต็มที่เลย นี่ทุกข์ตามมาเลย
    ทีนี้พอไปรับสตางค์ เขาเกิดหักภาษีรายได้ขึ้นมา อารมณ์ของความทุกข์มันก็เกิด
    เสียดายสตางค์ ใช่ไหม พอได้สตางค์มาแล้ว กลัวสตางค์หาย เสร็จ
    ดีไม่ดีถูกใครเขาต้มเขาตุ๋นไปก็เจ๊งไปเลย นี่เป็นอันว่า มุมของการหาความสุขไม่ได้ไม่มี

    [​IMG]

    ในฐานะของคนเหมือนกัน ถ้าคิดว่าพระมหากษัตริย์มีความสุข
    ก็ดูเรื่องของพระเจ้าแผ่นดิน ท่านมีทุกอย่าง ต้องการอะไรก็ได้
    ต้องการจะขี่เครื่องบินเมื่อไหร่ก็ได้ ต้องการจะขี่รถยนต์เมื่อไหร่ก็ได้
    ต้องการเสวยพระกระยาหารแบบไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ลองไปถามท่านซิ
    เคยปวดอุจจาระปัสสวะไหม เคยปวดหัวมัวตาบ้างไหม เฉพาะอย่างยิ่ง
    พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ ก็ลองถามท่านว่าเคยปวดฟันบ้างหรือเปล่า
    หือ..ไอ้โรคปวดฟันน่ะ มันทุกข์มาก ถ้าปวดด้านไหนประสาทด้านนั้น
    ทั้งแถบมันไม่ดีเลย นี่เป็นตัวทุกข์ เป็นอันว่ากษัตริย์ก็ทุกข์ มหาเศรษฐีก็ทุกข์
    จะมีใครมันก็ทุกข์ทั้งหมด เป็นอันว่าโลกนี้ทั้งโลกมีแต่ความทุกข์
    นี่ถ้าเราจะเรียนอริยสัจสี่ ต้องหาทุกข์ให้จบก่อน มันไม่มีอะไร
    อันนี้มี 2 อย่างเท่านั้น ไม่เห็นมีอะไรง่ายนิดเดียว

    ที่เรียนมาขณะที่ปฏิบัติ ท่านบอกว่าต้องมองโลกทั้งหมด ให้เห็นว่าเป็นความทุกข์
    ให้เห็นด้วยปัญญานะ ไม่ใช่เห็นด้วยสัญญา ไม่ใช่ว่าจำวาทะของท่านมาพูด
    เราต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องคิด เห็นคนที่มีร่างกายบริบูรณ์เดินแบบองอาจ
    เราแน่ใจว่าคนนี้จะมีความสุขหรือความทุกข์ ก็หากฏของความเป็นจริง
    คือ นิพันธทุกข์ ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
    การปวดอุจจาระปัสสาวะ อาการป่วยไข้ไม่สบาย นึกเลยว่าคนนี้เขามีแบบเดียวกับเรา
    มันทุกข์ แล้วดีไม่ดีไปถามเขา เขาจะบอกอาการทุกข์ประจำของเขาปรากฏ
    คือโรคที่มีอยู่ในกาย หรือว่าความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
    อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ประจำอยู่

    " เป็นอันว่าคนทั้งโลกไม่มีสุขจริงๆ มีทุกข์ นี่จิตเราต้องเห็นทุกข์จริงๆเสียก่อน
    ก่อนที่จะย่องไปถึงสมุทัยนะ ยังไม่ต้องย่องไปถ้าเรายังไม่เห็นว่า
    ส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกยังมีทุกข์ ต้องตำหนิใจทันทีว่า
    ใจเรานี่ยังเลวมาก ยังโกหกตัวเอง ยังมีกิเลสเป็นเครื่องบังใจ
    ไอ้กิเลสน่ะความเศร้าหมองของจิต เหมือนแว่นตา แว่นตา ถ้ามันใส
    มองอะไรก็สะดวกเห็นถนัด ถ้ามันขุ่นมัวมันมีความเศร้าหมองล่ะก้อ
    มองอะไรเห็นไม่ถนัด กิเลสเหมือนกับแว่นตาที่ถูกฝุ่นละอองมาปะ
    ถ้าฝุ่นละอองมันปะมาก เราก็ไม่เห็นความเป็นจริง นี่หาทุกข์ให้พบนะ "

     

แชร์หน้านี้

Loading...