หลวงพ่อพระราชพรหมยานอธิบายแนวปฏิบัติสำหรับปฏิสัมภิทัปปัตโต

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 5 พฤศจิกายน 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    แนวปฏิบัติสำหรับปฏิสัมภิทัปปัตโต
    [​IMG]
    ปฏิสัมภิทาญาณ หรือปฏิสัมภิทัปปัตโตนี้ เป็นระดับของท่านผู้ทรงคุณพิเศษครอบงำเตวิชโชและฉฬภิญโญทั้งหมด เพราะเหตุนี้ ท่านผู้ทรงปฏิสัมภิทาญาณนี้ จึงต้องปฏิบัติในกสิณทั้งสิบได้ครบถ้วนตามนัยที่กล่าวมาแล้วในฉฬภิญโญ เมื่อชำนาญในฉฬภิญโญคือชำนาญในกสิณแล้ว ท่านเจริญใน อรูปฌาน อีก ๔ คือ

    ๑. อากาสานัญจายตนะ

    ท่านเพ่งอากาศเป็นอารมณ์ โดยกำหนดหมายจิตคิดไว้เสมอว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นแท่งทึบ ไม่มีอะไรคงสภาพเป็นก้อนเป็นแท่งอยู่ตลอดกาลสมัย ไม่ช้านานเท่าใดก็ต้องอันตรธานสูญไปคล้ายอากาศ ท่านไม่มีความนิยม ในรูปสังขารเห็นสังขารเป็นโทษ เพราะพิจารณาเห็นว่าสังขารทั้งหลายเป็นแหล่งของความทุกข์และความชั่วช้าสารเลว สังขารเต็มไปด้วยความทุกข์อันเกิดจากความอยากไม่มีสิ้นสุด

    ความร้อน ความหนาว ความป่วยไข้ ทุกขเวทนาอย่างสาหัส จะพึงมีมาก็เพราะสังขารเป็นปัจจัย ท่านมีความเกลียดชังในสังขารเป็นที่สุด กำหนดจิตคิดละสังขารในชาติต่อๆ ไปไม่ต้องการสังขารอีก ถือเป็นอากาศธาตุเป็นอารมณ์ คิดว่าสังขารนี้เรายอมเป็นทาสรับทุกข์ของสังขารเพียงชาตินี้ชาติเดียว ชาติต่อๆ ไปเราไม่ต้องการสังขารอีก ความต้องการก็คือ หวังความว่างเปล่าจากสังขาร ต้องการมีสภาพเป็นอากาศเป็นปกติ

    การเจริญอรูปกรรมฐานนี้ ทุกอย่างจะต้องยกเอากสิณอย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นอารมณ์ก่อนเสมอ คือเข้าฌานในกสิณนั้นๆ จนถึงฌาน ๔ แล้วเอานิมิตในกสิณนั้นมาเป็นอารมณ์ในอรูปกรรมฐาน เช่น อากาสานัญจายตนะนี้ท่านให้กำหนดนิมิตในรูปกสิณก่อน แล้วพิจารณารูปกสิณนั้นให้เห็นเป็นโทษ โดยกำหนดจิตคิดว่า หากเรายังต้องการรูปอยู่เพียงใด ความทุกข์อันเนื่องจากรูปย่อมปรากฏแก่เราเสมอไป หากเราไม่มีรูปแล้วไซร้ทุกข์ภัยอันมีรูปเป็นเหตุก็จะไม่ปรากฏแก่เรา แล้วก็เพิกคืออธิษฐานรูปกสิณนั้นให้เป็นอากาศ ยึดถืออากาศเป็นอารมณ์ ทำอย่างนี้จนจิตตั้งอยู่ในฌาน ๔ เป็นปกติชื่อว่าได้กรรมฐานกองนี้

    ๒. วิญญาณัญจายตนะ

    วิญญาณัญจายตนะนี้ เป็นอรูปฌานที่สอง ท่านผู้ปฏิบัติมุ่งหมายกำหนดเอาวิญญาณเป็นสำคัญ คือพิจารณาเห็นโทษของรูป และมีความเบื่อหน่ายในรูปตามที่กล่าวมาแล้ว ในอากาสานัญจายตนะ ท่านกำหนดจิตคิดว่า เราไม่ต้องการมีรูปต่อไปอีก ต้องการแต่วิญญาณอย่างเดียว เพราะรูปเป็นทุกข์ ์วิญญาณต้องรับทุกข์อย่างสาหัสก็เพราะมีรูปเป็นปัจจัย ถ้ารูปไม่มี มีแต่วิญญาณ ทุกข์ก็จะไม่มีมาเบียดเบียน เพราะทุกข์ต่างๆ ต้องมีสังขารจึงเกาะกุมได้ ถ้ามีแต่วิญญาณทุกข์ก็หมดโอกาสจะทรมานได้ แล้วท่านก็จับรูปกสิณเป็นอารมณ์ แล้วกำหนดวิญญาณเป็นสำคัญจนตั้งอารมณ์อยู่ในฌาน ๔ เป็นปกติ ท่านที่ได้ฌานนี้มีประโยชน์ในการตรวจสอบจิตวิญญาณของตนเองและของผู้อื่นได้อย่างชัดเจน

    ๓. อากิญจัญญายตนะ

    อากิญจัญญายตนะนี้ ท่านพิจารณาว่าไม่มีอะไรเลยหรือไม่มีอะไรเหลือ ต่างจากอากาสานัญจายตนะ เพราะอากาสานัญจายตนะยังมีการกำหนดว่ามีอากาศเป็นอารมณ์ อากิญจัญญายตนะนี้ ท่านไม่กำหนดหมายอะไรเลย ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องการรูปและแม้แต่มีวิญญาณด้วย ท่านคิดว่าแม้รูปไม่มี วิญญาณยังมีอยู่ วิญญาณก็ยังรับสุขรับทุกข์ทางด้านอารมณ์ เพื่อตัดให้สิ้นไปท่านไม่ต้องการอะไรเลยแม้แต่ความหวังในอารมณ์ ปล่อยอารมณ์จากความหวังใดๆ ทั้งหมด โดยกำหนดจิตจับอารมณ์ในรูปกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งในรูปฌานแล้วต่อไปก็เพิกรูปกสิณนั้นเสีย กำหนดจิตให้ว่างเปล่าจากอารมณ์เป็นปกติ จนอารมณ์จิตตั้งอยู่ในฌาน ๔ เป็นปกติ

    ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ

    ฌานนี้ท่านว่า มีวิญญาณก็ไม่ใช่ หรือจะว่าไม่มีวิญญาณก็ไม่ใช่ สร้างความรู้สึกเหมือนคนไม่มีวิญญาณ คือไม่ยอมรับรู้อะไรทั้งหมด ใครจะชม หรือนินทาว่าร้าย เอาของดีของเลวมาให้หรือนำไป หนาว ร้อน หิว กระหาย เจ็บ ป่วย รวมความว่าเหตุของความทุกข์ความสุขใดๆ ไม่มีความต้องการรับรู้ ทำเสมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

    แบบในสมัยนี้เคยพบ อาจารย์กบ วัดเขาสาริกา องค์หนึ่ง ท่านเจริญแบบนี้ วิญญาณท่านมี ท่านรู้หนาวรู้ร้อน แต่ท่านทำเหมือนไม่รู้ ฝนตกฟ้าร้อง ท่านก็นอนเฉย ลมหนาวพัดมาท่านไม่มีผ้าห่ม ท่านก็นอนเฉย ใครไปใครมาท่านก็เฉย ทำไม่รู้เสีย บางรายไปนอนเฝ้าตั้งสามวันสามคืน ท่านไม่ยอมพูดด้วย ถึงเวลาออกมาจากกุฎี ท่านก็คว้าฆ้องตีโหม่งๆ ปากก็ร้องว่า ทองหนึ่งๆๆๆ แล้วท่านก็นอนของท่านต่อไป คนเลื่อมใสมากถึงกับตั้งสำนักศิษย์หลวงพ่อกบขึ้น เดี๋ยวนี้คณะศิษย์หลวงพ่อกบมากมาย สามัคคีกันดีเสียด้วย ทำอะไรก็พร้อมเพรียงกันทำ น่าสรรเสริญ

    ก่อนที่จะกำหนดจิตคิดว่าไม่มีอะไรเป็นจุดหมายของจิต ท่านก็ต้องยกรูปกสิณ จับนิมิตในรูปกสิณเป็นอารมณ์ก่อนเหมือนกัน การเจริญในอรูปฌานนี้ ท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยได้รูปฌานในกสิณ คงจะคิดว่ายากมาก ความจริงถ้าได้ฌานในรูปกสิณแล้วไม่ยากเลย เพราะอารมณ์สมาธิก็ทรงอยู่ขั้นฌาน ๔ เท่านั้นเอง เพราะช่ำชองมาในกสิณสิบแล้ว มาจับทำเข้าจริงๆ ก็จะเข้าถึงจุดภายในสามวัน เจ็ดวันเท่านั้น

    เมื่อทรงอรูปฌานได้ครบถ้วนแล้ว ก็ฝึกเข้าฌานออกฌาน ตั้งแต่กสิณมา แล้วเลยเข้าอรูปฌานตามนัยที่กล่าวมาแล้วในบทว่าด้วยอภิญญาหก สำหรับอภิญญาหรือญาณในวิชชาสามย่อมใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตั้งแต่ทรงฌานโลกีย์ สำหรับปฏิสัมภิทาญาณคือคุณพิเศษ ๔ ข้อในปฏิสัมภิทาญาณนี้ จะได้ก็ต่อเมื่อสำเร็จอรหัตตผลแล้ว ในขณะที่ทรงฌานโลกีย์อยู่ คุณพิเศษ ๔ อย่างนั้นยังไม่ปรากฏ ปฏิสัมภิทาญาณแปลกจากเตวิชโชและฉฬภิญโญตรงนี้
    จากหนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
    ที่มาhttp://www.geocities.com/4465/samadhi/samp204.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...