หลวงพ่อพระราชพรหมยานอธิบายเรื่องอัชฌาสัยเตวิชโช

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 29 ตุลาคม 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    <TABLE width="97%" align=center border=0><TBODY><TR><TD>อัชฌาสัยเตวิชโช <HR SIZE=1>
    [​IMG]
    </TD></TR><TR><TD vAlign=top>อัชฌาสัยเตวิชโช หมายถึงท่านที่มีอุดมคติในด้านวิชชาสาม คือทรงคุณสามประการ ในส่วนแห่งการปฏิบัติ ได้แก่คุณธรรมดังต่อไปนี้

    ๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติที่แล้วๆ มาได้
    ๒. จุตูปปาตญาณ รู้ว่าสัตว์ที่ตายไปแล้ว และเกิดมานี้ ตายแล้วไปไหน ก่อนเกิดมาจากไหน
    ๓. อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวกิเลสให้สิ้นไป

    เมื่อพิจารณาตามคุณพิเศษสามประการนี้แล้ว แสดงให้เห็นว่าท่านที่มีอุดมคติในด้านเตวิชโชนี้ ท่านเป็นคนอยากรู้อยากเห็น เมื่อพบเห็นอะไรเข้าก็เป็นเหตุให้คิดนึกถึงสมุฏฐานที่เกิด ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดมาจากอะไร เดิมก่อนจะเป็นอย่างนั้น เป็นอะไรมาก่อน เช่นเห็นของที่มีวัตถุปกปิด ก็อยากจะแก้วัตถุที่ปกปิดนั้นออก เพื่อสำรวจตรวจดูของภายใน เห็นของภายในว่าเป็นอะไรแล้ว ก็อยากจะรู้ต่อไปว่า ภายในของนั้นมีอะไรบ้าง ทำด้วยอะไร เมื่อรู้แล้วก็อยากรู้ต่อไปว่า สิ่งนั้นๆ เกิดมาได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น

    ท่านประเภทเตวิชโชนี้ จะให้ท่านทำตนเป็นคนหวังผลอย่างเดียว โดยไม่ให้พิสูจน์ค้นคว้าเลยนั้น ท่านประเภทนี้ทนไม่ไหว เพราะอัชฌาสัยไม่ชอบประเภทคลุมหน้าเดินโดยที่ไม่ได้พิสูจน์ต้นทางปลายทางเสียก่อน ถ้าต้องทำแบบคลุมหน้าเดินอย่างท่านสุกขวิปัสสโกแล้วท่านก็ทนไม่ไหว รำคาญใจหยุดเอาเฉยๆ คนประเภทนี้เคยพบมาในขณะสอนสมณธรรมมีจำนวนมาก ประเภทเตวิชโชนั้น ส่วนใหญ่มักชอบรู้ชอบเห็น พอให้วิปัสสนาล้วนเธอเข้าเธอก็บ่นอู้อี้ว่าไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย ต่อเมื่อให้กรรมฐานประเภททิพยจักษุญาณ หรือมโนมยิทธิ เธอก็พอใจ ทำได้อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย จะยากลำบากก็ทนทำจนสำเร็จผล ตามที่ได้พิสูจน์มาเป็นอย่างนี้

    แนวปฏิบัติสำหรับเตวิชโช

    ทราบแล้วว่า เตวิชโชมีอะไรบ้าง ขอนำแนวปฏิบัติมาเขียนไว้ เพื่อรู้แนวทาง หากท่านผู้อ่านประสงค์จะรู้หรือจะนำไปปฏิบัติก็จะสะดวกในการค้นคว้า เตวิชโชหรือท่านผู้ทรงวิชชาสาม มีปฏิปทาในการปฏิบัติดังต่อไปนี้

    ๑. การรักษา ศีล ให้สะอาดหมดจด ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด

    ๒. ฝึกสมาธิในกรรมฐานที่มีอภิญญาเป็นบาท คือกสิณกองใดกองหนึ่งที่เป็นสมุฏฐานให้เกิด ทิพยจักษุญาณ กสิณที่เป็นสมุฏฐานให้เกิดทิพยจักษุญาณ นั้นมีอยู่สามกองด้วยกัน คือ เตโชกสิณ เพ่งไฟ อาโลกกสิณ เพ่งแสงสว่าง โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว

    กสิณทั้งสามอย่างนี้ อย่างใดก็ตาม เป็นพื้นฐานให้ได้ทิพยจักษุญาณทั้งสิ้น แต่ตามนัยวิสุทธิมรรคท่านกล่าวว่า ในบรรดากสิณทั้งสามอย่างนี้ อาโลกกสิณ เป็นกสิณสร้างทิพยจักษุญาณโดยตรง ท่านว่าเจริญ อาโลกกสิณ นั่นแหละเป็นการดี

    วิธีเจริญอาโลกกสิณเพื่อทิพยจักษุญาณ

    การสร้างทิพยจักษุญาณด้วยการเจริญอาโลกกสิณนั้น ท่านให้ปฏิบัติดังนี้ ท่านให้เพ่งแสงสว่างที่ลอดมาทางช่องฝาหรือหลังคาให้กำหนดจิตจดจำภาพแสงสว่างนั้นไว้ให้จำได้ดี แล้วหลับตากำหนดนึกถึงภาพแสงสว่างที่มองเห็นนั้น ภาวนาในใจ พร้อมทั้งกำหนดนึกถึงภาพนั้นไปด้วย ภาวนาว่า "อาโลกกสิณัง" แปลว่า แสงสว่าง กำหนดนึกไป ภาวนาไป ถ้าภาพแสงสว่างนั้นเลอะเลือนจากไปก็ลืมตาดูใหม่ ทำอย่างนี้เรื่อยไป จนภาพนั้นติดตา ติดใจ นึกคิดขึ้นมาเมื่อไร ภาพนั้นก็ปรากฏแก่ใจตลอดเวลา

    ในขณะที่กำหนดจิตคิดเห็นภาพนั้น ระวังอารมณ์จิตจะซ่านออกภายนอก และเมื่อจิตเริ่มมีสมาธิ ภาพอื่นมักเกิดขึ้นมาสอดแทรกภาพกสิณ เมื่อปรากฏว่ามีภาพอื่นสอดแทรกเข้ามาจงตัดทิ้งเสีย โดยไม่ยอมรับรู้รับทราบ กำหนดภาพเฉพาะภาพกสิณอย่างเดียว ภาพแทรกเมื่อเราไม่สนใจไยดี ไม่ช้าก็ไม่มารบกวนอีก เมื่อภาพนั้นติดตาติดใจ จนเห็นได้ทุกขณะจิตที่ปรารถนาจะเห็นได้แล้ว และเป็นภาพหนาใหญ่จะกำหนดจิตให้ภาพนั้นเล็ก ใหญ่ ได้ตามความประสงค์ ให้สูงต่ำก็ได้ตามใจนึก เมื่อเป็นได้อย่างนั้นก็อย่าเพิ่งคิดว่าได้แล้ว ถึงแล้วจงกำหนดจิตจดจำไว้ตลอดวันตลอดเวลา อย่าให้ภาพแสงสว่างนั้นคลาดจากจิต

    จงเป็นคนมีเวลา คืออย่าคิดว่าเวลานั้นเถอะเวลานี้เถอะจึงค่อยกำหนด การเป็นคนไม่มีเวลา เพราะหาเวลาเหมาะไม่ได้นั้น ท่านว่าเป็นอภัพพบุคคลสำหรับการฝึกญาณ คือเป็นคนหาความเจริญไม่ได้ ไม่มีทางสำหรับมรรคผล เท่าที่ตนปรารถนานั่นเอง ต้องมีจิตคิดนึกถึงภาพกสิณตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ ไม่ยอมให้ภาพนั้นคลาดจากจิต ไม่ว่า กิน นอน นั่ง เดิน ยืน หรือทำกิจการงาน

    ต่อไปไม่ช้าภาพกสิณก็จะค่อยคลายจากสีเดิมเปลี่ยนเป็นสีใสประกายพรึกน้อยๆ และค่อยๆ ทวีความสดใสประกายมากขึ้น ในที่สุดก็จะปรากฏเป็นสีประกายสวยสดงดงาม คล้ายดาวประกายพรึกดวงใหญ่ ตอนนี้ก็กำหนดใจให้ภาพนั้นเล็ก โต สูง ต่ำ ตามความต้องการ การกำหนดภาพเล็ก โต สูง ต่ำ และเคลื่อนที่ไปมาอย่างนี้ จงพยายามทำให้คล่องจะเป็นประโยชน์ตอนฝึกมโนมยิทธิ คือ ถอดจิตออกท่องเที่ยวมาก

    เมื่อภาพปรากฏประจำจิตไม่คลาดเลื่อนได้รวดเร็ว เล็กใหญ่ได้ตามประสงค์คล่องแคล่วว่องไวดีแล้ว ก็เริ่มฝึกทิพยจักษุญาณได้แล้ว เมื่อฝึกถึงตอนนี้ มีประโยชน์ในการฝึกทิพยจักษุญาณและฝึกมโนมยิทธิ คือถอดจิตออกท่องเที่ยว และมีผลในญาณต่างๆ ที่เป็นบริวารของทิพยจักษุญาณทั้งหมด เช่น

    ๑. จุตูปปาตญาณ รู้ว่าสัตว์ที่ตายไปแล้วไปเกิด ณ ที่ใด ที่มาเกิดนี้มาจากไหน
    ๒. เจโตปริยญาณ รู้อารมณ์จิตของคนและสัตว์
    ๓. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติที่เกิดมาแล้วในกาลก่อนได้
    ๔. อตีตังสญาณ รู้เหตุการณ์ในอดีตได้
    ๕. อนาคตังสญาณ รู้เหตุการณ์ในกาลข้างหน้าต่อไปได้
    ๖. ปัจจุปปันนังสญาณ รู้เหตุปัจจุบันว่า ขณะนี้อะไรเป็นอะไรได้
    ๗. ยถากัมมุตาญาณ รู้ผลกรรมของสัตว์ บุคคล เทวดา และพรหมได้ว่าเขามีสุขมีทุกข์ เพราะผลกรรมอะไรเป็นเหตุ

    การฝึกกสิณจนถึงระดับดีมีผลมากอย่างนี้ ขอนักปฏิบัติจงอย่าท้อถอย สำหรับวันเวลาหรือไม่นานตามที่ท่านคิดหรอก จงอย่าเข้าใจว่าต้องใช้เวลาแรมปี คนว่าง่ายสอนง่ายปฏิบัติตามนัยพระพุทธเจ้า สั่งสอนแล้ว ไม่นานเลย นับแต่อย่างเลวจัดๆ ก็ ๓ เดือน เป็นอย่างเลวมาก อย่างดีมากไม่เกิน ๗ วันเป็นอย่างช้า ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะท่านผู้นั้นเคยได้ทิพยจักษุญาณมาในชาติก่อนๆ ก็ได้เพราะท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรรคว่า "ท่านที่เคยได้ทิพยจักษุญาณมาในชาติก่อนๆ แล้วนั้นพอเห็นแสงสว่างจากช่องฝาหรือหลังคา ก็ได้ทิพยจักษุญาณทันที"

    เคยพบมาหลายคนเหมือนกัน แม้แต่มโนมยิทธิซึ่งเป็นของยาก กว่าหลายร้อยรายที่พอฝึกเดี๋ยวนั้น ไม่ทันถึงชั่วโมงเธอก็ได้เลย ทำเอาครูอายเสียเกือบแย่ เพราะครูเองก็ย่ำต๊อกมาแรมเดือน แรมปี กว่าจะพบดีเอาความรู้นี้มาสอนได้ก็ต้องบุกป่าบุกโคลนขึ้นเขาลำเนาไม้เสียเกือบแย่ แต่ศิษย์คว้าปับได้บุปอย่างนี้ ครูจะไม่อายแล้วจะไปรออายกันเมื่อไร แต่ก็ภูมิใจอยู่นิดหนึ่งว่า ถึงแม้ครูจะทึบ ก็ยังมีโอกาสมีศิษย์ฉลาดพออวดกับเขาได้

    กำหนดภาพถอนภาพ

    เมื่อรู้อานิสงส์อาโลกกสิณแล้ว ก็จะได้แนะวิธีใช้ฌานจากฌานในกสิณต่อไป การเห็นภาพเป็นประกายและรักษาภาพไว้ได้นั้นเป็นฌาน ต้องการจะดูนรกสวรรค์ พรหมโลก หรืออะไรที่ไหน จงทำดังนี้

    กำหนดจิตจับภาพกสิณตามที่กล่าวมาแล้วให้มั่นคง ถ้าอยากดูนรก ก็กำหนดจิตลงต่ำแล้วอธิฐานว่าขอภาพนี้จงหายไป ภาพนรกจงปรากฏขึ้นมาแทน เท่านี้ภาพนรกก็จะปรากฏ อยากดูสวรรค์กำหนดจิตให้สูงขึ้น แล้วคิดว่า ขอภาพกสิณจงหายไป ภาพสวรรค์จงปรากฏแทน ภาพพรหม หรืออย่างอื่นก็ทำเหมือนกัน ถ้าฝึกกสิณคล่องแล้วไม่มีอะไรอธิบายอีก เพราะภาพอื่นที่จะเห็นก็เพราะเห็นภาพกสิณก่อน แล้วกำหนดจิตให้ภาพกสิณหายไป เอาภาพใหม่มาแทน การเห็นก็เห็นทางใจเช่นเดียวกับภาพกสิณ แต่ชำนาญแล้วก็เห็นชัดเหมือนเห็นด้วยตา

    เล่นให้คล่อง จนพอคิดว่าจะรู้ก็รู้ได้ทันทีทันใด ไม่ว่าตื่นนอนใหม่ กำลังง่วงจะนอน ร้อน หนาว ปวด เมื่อย หิว เจ็บไข้ได้ป่วยทำได้ทุกเวลา อย่างนี้ก็ชื่อว่าท่านได้กสิณกองนี้แล้วและได้ทิพยจักษุญาณแล้ว เมื่อได้ทิพยจักษุญาณเสียอย่างเดียว ญาณต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ไม่มีอะไรจะต้องทำ ได้ไปพร้อมๆ กัน เว้นไว้แต่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ท่านว่าต้องมีแบบฝึกต่างหาก แต่ตามผลปฏิบัติพอได้ทิพยจักษุญาณเต็มขนาดแล้ว ก็เห็นระลึกชาติได้กันเป็นแถว ใครจะระลึกได้มากได้น้อยเป็นเรื่องของความขยันและขี้เกียจ ใครขยันมากก็ระลึกได้มาก ขยันน้อยก็ระลึกได้น้อย ขยันมากคล่องมาก ขยันน้อยคล่องน้อย ไหนๆ ก็พูดมาถึงปุพเพนิวาสานุสสติญาณแล้ว ขอนำวิธีฝึกปุพเพนิวาสานุสสติญาณมากล่าวต่อกันไว้เสียเลย

    ฝึกปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

    การเจริญปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือฝึกวิชาการระลึกชาตินั้น ท่านให้ทำดังต่อไปนี้ ท่านให้เข้าฌาน ๔ ในกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องเป็นฌานในกสิณอย่างอื่นไม่ได้ นี่ว่าเฉพาะคนเริ่มฝึกใหม่ ไม่เคยได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณมาในชาติก่อนๆ เมื่อเข้าฌาน ๔ แล้ว ออกจากฌาน ๔ มาพักอารมณ์อยู่เพียงอุปจารฌาน เรื่องฌานและอุปจารฌานนี้ขอให้ทำความเข้าใจเอาตอนที่ว่าด้วยฌานจะเขียนต่อไปข้างหน้า หากประสงค์จะทราบก็ขอให้เปิดต่อไปในข้อที่ว่าด้วยฌาน

    เมื่อพักจิตอยู่เพียงอุปจารฌานแล้ว ก็ค่อยๆ คิดย้อนถอยหลังถึงเหตุการณ์ที่ล่วงมาแล้วในอดีตตั้งแต่เมื่อตอนสายของวัน ถอยไปตามลำดับถึงวันก่อนๆ เดือนก่อนๆ ปีก่อนๆ และชาติก่อนๆ ตามลำดับ ถ้าจิตฟุ้งซ่านก็พักคิดเข้าฌานใหม่ พอจิตสบายก็ถอยออกมา แล้วถอยไปตามที่กล่าวแล้ว ไม่นานก็จะค่อยๆ รู้ค่อยๆ เห็น การรู้การเห็นเป็นการรู้เห็นด้วยกำลังฌานอันปรากฏเป็นรูปของฌาน คือ รู้เห็นทางใจอย่างเดียวกับทิพยจักษุญาณเห็นคล้ายดูภาพยนต์ เห็นภาพพร้อมกับรู้เรื่องราวต่างๆ พร้อมกันไป รู้ชื่อ รู้อาการ รู้ความเป็นมาทุกอย่าง เป็นการสร้างความเพลิดเพลินแก่นักปฏิบัติ

    ทำให้เกิดความรื่นเริงหรรษา มีความสบายใจเป็นพิเศษ ดีกว่ามั่วสุมกับคนมากที่เต็มไปด้วยกิเลสและตัณหา มีประโยชน์ในการเจริญวิปัสสนาญาณมาก เพราะรู้แจ้งเห็นจริงว่า การเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด หาที่สุดมิได้นี้เป็นความจริง การเกิดแต่ละครั้งก็เต็มไปด้วยความทุกข์ทุรนทุรายไม่มีอะไรเป็นสุข บางคราวเกิดในตระกูลยากจน บางคราวเกิดในตระกูลเศรษฐี บางคราวเกิดในตระกูลกษัตริย์ ทรงอำนาจวาสนา บางคราวเป็นเทวดา บางคราวเป็นพรหม บางคราวเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน รวมความว่าเราเป็นมาแล้วทุกอย่าง ไม่ว่าเกิดเป็นอะไรก็เต็มไปด้วยความทุกข์ หาการพ้นทุกข์เพราะการเกิดไม่ได้เลย

    เมื่อเห็นทุกข์ในการเกิด ก็เป็นการเห็นอริยสัจ ๔ จัดว่าเป็นองค์วิปัสสนาญาณ อันดับสูง การเห็นด้วยปัญญาญาณจัดเข้าในประเภทรู้แจ้งเห็นจริง ไม่ใช่เห็นแบบวิปัสสนึก คือ การคาดคะเนเดาเอาเอง เดาผิดบ้างถูกบ้างตามอารมณ์คิดได้บ้าง หลงๆ ลืมๆ บ้าง เป็นวิปัสสนึกที่ให้ผลช้าอาจจะเข้าใจในอริยสัจได้แต่ก็นานมาก และทุลักทุเลเกินสมควร ที่เหลวเสียนั่นแหละมาก ส่วนที่ได้เป็นมรรคผลมีจำนวนน้อยเต็มทน ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ผ่อนคลายมานะ นอกจากจะทราบประวัติของตนเองในอดีตชาติแล้ว ยังช่วยทำให้มีปัญญาญาณรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจได้โดยง่าย

    ยิ่งกว่านั้นยังคลายมานะ ความถือตนถือตัว อันเป็นกิเลสตัวสำคัญ ที่แม้พระอนาคามีก็ยังตัดไม่ได้ จะตัดได้ก็ต่อเมื่อถึงอรหัตตผลนั่นแหละ แต่เมื่อท่านได้ญาณนี้แล้ว ถ้าท่านคิดรังเกียจใคร คนหรือสัตว์ รังเกียจในความโสโครก หรือฐานะ ชาติตระกูล ท่านก็ถอยหลังชาติเข้าไปหาว่า ชาติใด เราเคยเป็นอย่างนี้บ้าง ท่านจะพบว่าท่านเองเคยครองตำแหน่งนี้มาก่อน

    เมื่อพบแล้ว จงเตือนใจตนเองว่า เมื่อเราเป็นอย่างเขามาก่อน เขากับเราก็มีสภาพเสมอกัน เราเป็นอย่างนั้นมาก่อน เขากับเรามีสภาพเสมอกัน เราเป็นอย่างนั้นมาก่อนเขาก็ชื่อว่าเราเป็นต้นตระกูล สภาพการณ์อย่างนั้น ที่เขาเป็นอย่างนั้น เพราะเขารับมรดกตกทอดมาจากเรา เราจะมารังเกียจทายาทของเราด้วยเรื่องอะไร ถ้าเรารังเกียจทายาท ก็ควรจะรังเกียจตัวเองให้มากกว่า เพราะทราบแล้วว่าเป็นอย่างนั้นไม่ดี เป็นที่น่ารังเกียจ เราทำไมจึงไม่ทำลายกรรมนั้นเสีย กลับปล่อยให้เป็นมรดกตกทอดมาให้บรรดาอนุชนรุ่นหลังต้องรับกรรมต่อๆ กันมา เป็นความชั่วร้ายเลวทรามของเราต่างหาก ไม่ใช่เขาเลว

    คิดตัดใจว่า เราจะไม่ถือเพศ ชาติตระกูล ฐานะเป็นสำคัญ ใครเป็นอย่างไรก็มีสภาพเสมอกัน โดยเกิดแล้วตายเหมือนกันหมด ฐานะความเป็นอยู่ ชาติ ตระกูล ในปัจจุบัน เป็นเสมือนความฝันเลื่อนลอย ไม่มีอะไรเป็นของจริง ในที่สุดก็ต้องตกเป็นเหยื่อของมัจจุราชทั้งสิ้น คิดตัดอย่างนี้ จะบรรเทามานะ ความถือทะนงตัวเสียได้ ความสุขสงบใจก็จะมีตลอดวันคืน จะก้าวสู่อรหัตตผลได้อย่างไม่ยากนัก
    </TD></TR></TBODY></TABLE>ที่มา http://www.geocities.com/4465/samadhi/samp202.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...