หลวงพ่อพระราชพรหมยานอธิบายลักษณะของพรหมวิหาร4

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 5 ตุลาคม 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    ลักษณะของพรหมวิหาร

    <DD>ท่านพระโยคาจรทั้งหลาย และบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เวลานี้ท่านได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อไปจงสำรวมใจตั้งใจสดับคำแนะนำใจการเจริญพระกรรมฐาน ขณะที่ท่านนั่งฟังอยู่ หูได้ยินเสียงทุกถ้อยคำ จิตมีความรู้สึกไปตามกระแสเสียง โดยไม่เอาจิตไปส่งในอารมณ์อย่างอื่น อย่างนี้ชื่อว่าอารมณ์ของท่านทรงสมาธิ การทรงสมาธิเพื่อการรับฟังเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา
    <DD>และอีกประการหนึ่ง ขณะใดที่ท่านตั้งใจฟังเสียงธรรมะซึ่งไม่มีอารมณ์อื่นมารบกวน ขณะนั้นชื่อว่าจิตของท่านว่างจากกิเลส ถ้าบังเอิญจิตของท่านว่างจากกิเลสหู เนื่องจากหูฟังเสียงธรรมะอยู่เสมอ ๆ ต่อไปอารมณ์จิตจะชิน จะมีอารมณ์ว่างจากกิเลสจนชิน ในที่สุดกิเลสก็จะหมดไปจากจิตของท่านตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า
    <CENTER>" สุสสูสัง ละภะเต ปัญญัง" : การฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา</CENTER>
    <DD>ฉะนั้น เวลาที่ท่านฟังจงตั้งใจฟังด้วยความสงบ ถ้าบังเอิญจะให้มีกำไรยิ่งไปกว่านั้น เวลาที่ท่านฟังและก็คิดตามไปด้วย เอาจิตน้อมยอมรับเหตุผลในการรับฟัง แต่ทว่าอย่ารับฟังด้วยการไร้ปัญญา ใช้ปัญญาพิจารณาไปด้วยว่าจริงหรือไม่จริง ถ้าหากว่าทำได้อย่างนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงและภิกษุสามเณรทุกท่าน ถ้าหากว่าท่านมีกำลังของจิตพอและก็ไม่ละอารมณ์แบบนี้ ความเป็นพระอริยเจ้าย่อมง่ายสำหรับท่าน เพราะว่าการฟังทุกวันขณะที่ตั้งใจฟังด้วยความเคารพ จงคิดว่าเสียงที่ฟังนี้เป็นเสียงที่นำเอาพระธรรม คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสอน และจงจำไว้ให้ดีว่าเมื่อตอนที่พระพุทธเจ้าจะนิพพานทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า
    <DD>" อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่อเรานิพพานไปแล้ว พระธรรมวินัยที่เราสอนไว้จะเป็นศาสดาสอนเธอ "
    <DD>คำว่า ศาสดา นี่แปลว่า ครู เป็นอันว่าเสียงที่ฟังอยู่จงคิดว่านี่เป็นกระแสเสียงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ความเป็นจริง แล้วจงอย่านึกว่าอาตมาเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง เราอย่าคิดอย่างนั้น คิดว่านี่เป็นเสียงของพระพุทธเจ้า พระธรรมนี่เป็นธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังสอนเราโดยตรง โดยน้อมจิตเข้าไปนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เวลานี้กำลังประทับอยู่เฉพาะหน้าของเราและก็กำลังพูดกับเราโดยตรง จิตจะชื่นบาน และก็ตั้งใจสดับฟังเสียงนั้นและก็คิดตาม แล้วคิดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่เกินวิสัยสำหรับเรา ถ้าเกินวิสัยแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วไม่สอนเรา สร้างธรรมปีติให้เกิดในใจ สร้างกำลังใจคิดว่า เราสามารถ สมเด็จพระบรมโลกนาถจึงโปรด ถ้าคิดไว้อย่างนี้เสมอ บรรดาพุทธบริษัทคิดไว้และฟังบ่อย ๆ ถ้ามีเทปสำหรับฟัง ฟังไปเรื่อย ๆ ขณะใดใจตั้งอยู่ในการฟัง ตั้งใจ จิตจะว่างจากกิเลส ถ้ามันว่างบ่อย ๆ เพราะจิตเราไม่คบกิเลส กิเลสมันก็ไม่อยากคบกับจิตใจของเรา ในที่สุดจิตของเราก็จะกลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ กลายเป็นผู้หมดกิเลสไป
    <DD>เอาละ สำหรับวันนี้ก็จะขอนำเอา พรหมวิหาร ๔ มาแนะนำกับบรรดาท่านพุทธบริษัทตามกำลังปัญญา การแนะนำกันนี่ จงอย่าคิดว่าเป็นการแนะนำละเอียดลออ ความจริงใช้เวลาอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าจะใช้ได้ ท่านฟังตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันตาย เรื่องพรหมวิหาร ๔ ก็ไม่จบ แต่ว่าการฟังนี่ถือว่าเป็นการให้รับฟังเพื่อใช้ปัญญาเท่านั้น คือว่าใช้ปัญญาพิจารณาไปด้วย ฟังด้วย ไม่ใช่ว่าจะอยู่ ๆ ก็จะมานั่งสอนกันซะจนจบอรหันต์กันในวันนี้ แต่ก็ว่าไม่ได้ คนที่รับฟังอยู่มีทั้งคนดีและคนไม่ดี คนดีฟังแล้วเกิดปัญญาใช้ปัญญาพิฆาตเข่นฆ่ากิเลส ก็เป็นของไม่หนัก แต่ว่าสำหรับคนไม่ดี ฟังแล้วก็มีหูคล้ายกับหูกะทะ มีตาเหมือนกระทู้ ทั้งนี้เพราะอะไร ตากระทู้มองอะไรไม่เห็น หูกะทะฟังอะไรไม่ได้ยิน สำหรับคนที่ตามองเห็น หูฟังได้ยิน แต่ไม่สนใจกับเสียงที่ฟัง คนประเภทนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงโปรด เพราะว่าโปรดมากเท่าไร คนประเภทนี้ก็ลงนรกมากเท่านั้น
    <CENTER>[​IMG]</CENTER>
    <DD>ฉะนั้น บรรดาท่านทั้งหลายจะพิสูจน์ตัวของท่านได้ว่า ท่านรับฟังกันทุกวันวันละหลายครั้ง ท่านละความเลวได้มากน้อยเพียงใด จิตใจของท่านดีหรือว่าจิตใจของท่านเลว ต่อไปนี้ ธรรมะในด้านของพรหมวิหาร ๔ เป็นเครื่องวัดจิตใจว่าดีมาก หรือว่าเลวมาก คำว่า พรหมวิหาร วิหาร นี่ก็ แปลว่า ที่อยู่ พรหม นี่แปลว่า ประเสริฐ หมายความว่า เอาใจจับอยู่ในอารมณ์แห่งความประเสริฐ หรือ เอาใจไปขังไว้ในความดีที่สุด ที่เรียกกันว่าประเสริฐ ประเสริฐ นี่แปลว่า ดีที่สุด
    พรหมวิหาร มี ๔ อย่าง คือ
    ๑. เมตตา ความรัก
    ๒. กรุณา ความสงสาร
    ๓. มุทิตา มีจิตอ่อนโยนไม่อิจฉาริษยาใคร
    ๔. อุเบกขา วางเฉย
    <DD>ความจริงพรหมวิหาร ๔ นี่เป็นธรรมะกลาง ที่ว่ากลางก็เพราะว่า ถ้าบุคคลใดมีอารมณ์ใจทรงอยู่ในพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ บุคคลนั้นจะมีศีลบริสุทธิ์ อยู่ตลอดเวลา จะมีจิตทรงฌานอยู่ตลอดเวลาและก็จะเป็นคนมีความฉลาดในด้านปัญญา สามารถตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้โดยง่าย ถ้าจะกล่าวกรรมฐานบทนี้เป็นกรรมฐานใหญ่ก็ว่าได้ นี่กล่าวกันโดยอีกนัยหนึ่งว่า พรหมวิหาร ๔ เป็นอาหาร
    <DD>อาหารเลี้ยงศีลให้อ้วนมีกำลัง เป็นอาหารเลี้ยงสมาธิให้มีกำลัง อาหารเลี้ยงปัญญาให้มีความคมกล้า สามารถจะฟันจะฟาดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานเมื่อใดก็ได้
    <DD>ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ท่านจะดีหรือว่าท่านจะเลว ท่านจะเป็นคนหรือท่านจะเป็นมนุษย์ ความจริงมนุษย์นี่เขาแยกไว้หลายอย่าง คำว่า มนุษย์ มนุสโส แปลว่า ผู้มีใจสูง มีศีลบริสุทธิ์ หรือว่ามีกรรมบถ ๑๐ บริสุทธิ์ มนุสสเทโว ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ว่ากำลังใจเป็นเทวดา คือ มี หิริ และ โอตตัปปะ มนุสสพรหมมา หมายความว่าร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ใจประกอบไปด้วยพรหมวิหาร ๔ อย่างนี้ตายแล้วเป็นพรหม
    <DD>แล้วก็ มนุสสติรัจฉาโน ร่างกายเป็นมนุษย์ ใจไม่เคารพนับถือในสิทธิซึ่งกันและกัน ขาดความเมตตาปรานี ร่างกายเป็นมนุษย์ ใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน ตายแล้วเป็นสัตว์เดรัจฉาน มนุสสนิรยโก มนุษย์สัตว์นรก หมายความว่า คนประเภทนี้หาความดีอะไรไม่ได้ ไม่มีความรู้สึกตัว ไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่ว ขาดความเมตตาปรานี คนประเภทนี้มีร่างกายเป็นมนุษย์ ใจเป็นสัตว์นรก
    <DD>ในหมู่คณะของเราจะพอมีอยู่บ้างไหม ที่อยู่กันมาแล้วหลาย ๆ ปี ยังไม่หมดความเลว ยังบูชาความเลวว่าเป็นความดี เข้ากับคนนั้นก็ไม่ได้ เข้ากับคนนี้ก็ไม่ได้ ถืออารมณ์ใจตัวเป็นสำคัญ ถ้าเรามีความเลวอย่างนี้ ก็ตั้งหน้าตั้งตาจำไว้ว่า ถ้าเราตายคราวนี้ อีกหลายแสนกัปที่จะได้กลับมาเป็นมนุษย์ แล้วก็เป็นมนุษย์อีกหลายแสนวาระที่จะเป็นมนุษย์สมบูรณ์บริบูรณ์ จะต้องเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความลำบากยากแค้น มีแต่ความทุกข์กับโทมนัสตลอดเวลา ถ้าบังเอิญจะกลับเนื้อกลับตัวเสียจะได้เป็นคนกับเขาบ้าง ถ้าเป็นคนมันยังยุ่งเกิดมาในโลกก็รกโลก ถ้าเป็นมนุษย์ก็ยังสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่มีความดีอะไร ยังมีทุกข์ ไปเป็นเทวดาหรือพรหมก็พักทุกข์เล็กน้อย ไม่ช้าก็มาทุกข์ใหม่ ทุกคนเขาตั้งใจไปนิพพานกัน แต่เราทำไมตั้งใจเป็นสัตว์นรกหรือสัตว์เดรัจฉาน มันจะมีประโยชน์อะไร
    <DD>ต่อนี้ก็ฟังกัน เพราะพรหมวิหาร ๔ นี่ความจริงไม่ต้องอธิบายมากก็ได้ แต่ทว่าเวลานี้ถือว่าเป็นการแนะนำกรรมฐานรวม อันดับแรกก่อนที่จะทรงพรหมวิหาร ๔ หรือว่าทำกรรมฐานทุกกองก็จงอย่าทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐาน กับ พุทธานุสสติกรรมฐาน แม้แต่กำลังฟังอยู่นี่ก็เช่นเดียวกัน ควรจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ไปด้วย แล้วก็ตั้งใจฟัง เวลาฟังก็คิดว่าเวลานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังประทับอยู่ข้างหน้าของเรา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระมหากรุณาธิคุณมาหาเราถึงที่อยู่ และกระแสเสียงขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถยากที่เราจะบูชาให้ครบถ้วน ตั้งใจไว้อย่างนี้นะ ตั้งใจไว้อย่างนั้นนะ คิดว่าเสียงนี้เป็นเสียงของพระพุทธเจ้าแล้วก็พระองค์กำลังประทับอยู่ข้างหน้าของเรา ใจจะได้เป็นสุขจะได้มีอารมณ์ชุ่มชื้น คือไม่ใช่ว่าอาตมาจะมาอวดว่าตัวเองเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะการทำใจอย่างนี้ จิตใจมันสบายมีความสุข แล้วจิตจะหมดกิเลสได้ง่าย
    <DD>ต่อไปก็มาฟังพรหมวิหาร ๔ คือ
    <DD>๑. เมตตา ความรัก คำว่า ความรัก ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าความรักที่ประกอบไปด้วยกามคุณเหมือนกับหนุ่มรักสาว สาวรักหนุ่ม หรือหญิงรักชาย ชายรักหญิง ปรารถนาจะครองคู่ นั่นเป็นเรื่องความรักเกี่ยวกับราคะและอำนาจของกิเลส ไม่ใช่พรหมวิหาร ๔ ที่เรามีความรักก็เพราะใจของเราเป็นคนใจดี มีความเมตตาปรานี มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าคนและสัตว์ หรือว่าคนทุกคนในโลก แม้แต่สัตว์เดรัจฉานที่เกิดมานี่ มีความรู้สึกเหมือนกัน รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกันหมด เรามีความรักสุขฉันใด เขามีความรักสุขฉันนั้น
    <DD>สำหรับ เมตตา ความรัก ต้องอยู่ในขอบเขตของความดี อย่ารักแบบโง่ ๆ ในคณะของเรานี่มีทั้งฆราวาสก็ดี พระก็ดี ที่มีเมตตาแบบโง่ ๆ นี่มีอยู่ ผมสลดใจมาก คือว่าบางทีเห็นพระบางองค์ เห็นฆราวาสบางคน พอฟังเสียงพูดในคำสงสัย ก็รู้สึกเสียดายแรงที่สั่งสอน เพราะอะไร เพราะว่าคนที่เขาได้ดีกันน่ะ เขาฟังแล้วก็คิด คิดแล้วจำ ไม่ใช่จะมาตั้งหน้าตั้งตาสงสัย ปัญญามี เพียงแค่ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่รู้จักคิด นี่น่าเสียดาย สงสารองค์พระสมเด็จพระธรรมสามิสรที่ทรงทรมานพระกายมาถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัป รวบรวมความดีมาเพื่อแจกจ่ายแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท แล้วผมเองก็เสียดายแรงงานของผมเหมือนกัน เพราะตัวผมเองไม่เคยจะได้เรียนแบบนี้ ฟังคำสอนจากอาจารย์นิดหนึ่งก็ไปปฏิบัติให้ได้ ถ้าไม่ได้ เกินวิสัย ก็มาถามหน่อยหนึ่ง แล้วก็กลับไปทำ ถ้าทำสิ่งนั้นยังไม่ได้จะไม่ยอมกลับมาหาครูบาอาจารย์ อย่างกับบรรดาท่านทั้งหลายที่สงสัยว่า จำภาพพระพุทธรูป ลืมตาแล้วก็หลับตานึกถึงภาพ ภาพมันเลือนไปแล้วก็ลืมตาขึ้นมาดูใหม่ แค่นี้ก็ยังสงสัยกันว่าทำไมภาพนั้นจึงนึกเห็นไม่ชัด มันก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะถาม ถ้าใช้คำถามอย่างนี้ก็แสดงว่าเป็น บรมโง่ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กอมมือก็พอจะรู้ การจะจำภาพจะนึกถึงอะไรก็ตาม อยู่ ๆ จะให้อารมณ์มันแจ่มใสจำได้ถนัดไม่ได้
    <DD>ถ้าฝึกฝนเรื่อยไป อารมณ์นั้นมันก็ปรากฏ วันเวลาตั้งแต่ตื่นอยู่ถึงหลับจงอย่าทิ้งอารมณ์นั้น ทำอารมณ์ให้มันชิน คิดถึงภาพนึกว่าในสมัยที่เราเคยรักใคร่ที่ซึ่งเป็นคู่รัก เวลาหลับตาก็เห็น ลืมตาก็นึกเห็นภาพ หรือว่าถ้าเรามีบ้านอยู่ เราจากบ้านไปไหน เวลานึกถึงบ้านขึ้นมาเมื่อไหร่มันก็นึกเห็นภาพบ้านเมื่อนั้น จิตใจของเราไม่ลืมเลือน ไม่ปล่อยสติสตังให้มันพลั้งเผลอ นี่เขาทำกันอย่างนี้ มันเป็นของธรรมดา ๆ
    <DD>สำหรับด้านอารมณ์เมตตานี่ก็เหมือนกัน ให้ใช้ปัญญาพิจารณาหาความเป็นจริง ไอ้เรื่องเมตตานี่มีความสำคัญ ถ้าเมตตาแบบโง่ ๆ มันมีภัยแก่ตัวเอง อย่าลืมว่าคนที่เราจะต้องมีความเมตตานะ
    <DD>พระพุทธเจ้าแบ่งคนไว้เป็น ๔ จำพวก คือ
    ๑. อุคฆติตัญญู คนมีปัญญาดี
    ๒. วิปจิตัญญู ปัญญาต่ำมานิดหนึ่ง
    ๓. เนยยะ ท่านประเภทนี้พอสอนได้ แต่ต้องแนะนำบ่อย ๆ หน่อย นาน ๆ หน่อย อันนี้คน ๓ จำพวกนี้ พระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ แต่พวก ปทปรมะ เอาดีไม่ได้ นี่องค์สมเด็จพระจอไตรเสด็จหลีก ไม่ทรงสั่งสอน จะถือว่าพระองค์ขาดเมตตาไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะสอนเขาเขาก็ไม่รับฟัง
    [​IMG]สำหรับพวกเราก็เหมือนกัน ถ้าจะแสดงเมตตาจิต ก็ดูเสียก่อนว่าคนประเภทนั้นเราควรจะเมตตาไหม ถ้าเห็นว่าแนะนำแล้วไม่ได้ผล ก็จงอย่าสงเคราะห์คนประเภทนั้น หลีกไปเสีย อย่างพระพุทธเจ้าทรงหลีก ตัวอย่างก็มี อุปกาชีวก เป็นต้น เขาพบองค์สมเด็จพระบรมสุคต ไม่เชื่อพระสัพพัญญู สมเด็จพระบรมครูก็ไม่ทรงสั่งสอน นี่ดูเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ใครไปใครมาก็เมตตาเสียดะ เมตตาโง่ ๆ แบบนั้นน่ะจะสร้างความเดือดร้อน เหมือนกับเราจะให้ของเขาเขาไม่รับ ไปให้เขาทำไม ไม่ต้องไปอ้อนวอน ไม่ต้องไปแค่นเขาให้รับ

    และอีกประการหนึ่ง วัดเรากำหนดระเบียบวินัยเป็นของสำคัญ จงอย่าเมตตาคนเกินกว่าระเบียบวินัย ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดามีพระมหากรุณาไม่มีขอบเขต แต่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ก็วางวินัยไว้ลงโทษพระลงโทษเณร ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าไม่มีระเบียบวินัย คนนั้นเราเมตตาไม่ได้ เพราะเป็นคนเลว พระพุทธเจ้าทรงวางวินัยไว้กี่พันข้อ ๒๒๗ ข้อนี่มันยังไม่หมด ยังมีส่วนอภิสมาจารบ้าง ยังมีส่วนธรรมะบ้าง ที่พระองค์ทรงห้าม นี่เป็นอันว่าพระพุทธเจ้ามีพระมหากรุณาธิคุณก็จริงแหล่ แต่ทว่าทรงเลือกเอาแต่เฉพาะคนดีเท่านั้น ไม่ใช่เลวก็ทำ นี่เมตตาของเราเหมือนกัน ใครจะมาจากไหนก็ช่าง จะมียศฐาน์บรรดาศักดิ์ฐานะเช่นใดก็ช่าง ถ้าผิดระเบียบวินัย อันนี้เราจงถือว่านั่นเขาเป็นคนเลว ไม่ควรแก่การเมตตา จำไว้ให้ดีนะ

    <DD>แม้แต่พระก็เหมือนกัน พระที่บวชอยู่พรรษานี้นะบางองค์ก็ลืมตัวไปก็มี จงระวังให้ดีนะว่าเราเป็นพระ ถ้าหากว่าผิดพระธรรมวินัยเกินไป ผมก็จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงขับพระวักกลิได้ฉันใด ผมก็จะขับทั้งพระทั้งคนที่ไม่รักระเบียบวินัยเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าเหมือนกัน
    <DD>นี่เป็นอันว่าเมตตาเราต้องมีขอบเขต คือ เมตตาเฉพาะคนดี ไม่ใช่ไปเมตตาคนเลว ไอ้คนเลวถ้าหากว่าจะดีได้เราเมตตาได้ ถ้าอย่างพวกเราที่อยู่ในที่นี้รับฟังกันอยู่ตลอดเวลายังเลวได้ละก็ ไม่ต้องเมตตาแล้ว คำสั่งคำเดียว คือ ไปจากที่นี่ แล้วก็ต้องไปทันที เพราะการที่จะติดตามคำสั่งสอนกันไม่มีแล้ว นี่เป็นอันว่าขอบเขตของการเมตตาปรานีนี่มีอยู่ ไม่ใช่สักแต่ว่าเมตตา ใครจะมาจากไหนก็ช่างในเมื่อเข้ามาในขอบเขตนี้จะต้องอยู่ในระเบียบทุกอิริยาบท จะถือว่าเป็นแขกมาไม่รู้ไม่ได้ ถ้าคนดีนี่เขาต้องเคารพในระเบียบวินัยของสถานที่ จะถือว่าอยู่ที่บ้านฉัน ฉันไม่ได้ทำอย่างนี้ ที่โน่นไม่ได้ทำอย่างนั้น นั่นมันที่อื่นไม่ใช่ที่นี่ ถ้าคนไม่รักระเบียบวินัยจงอย่าปรานี ช่วยกันจัดการไปให้พ้นทันที โดยไม่ต้องบอกผมก็ได้ แล้วคนประเภทนี้เป็นคนเลว
    <DD>และอีกประการหนึ่ง คนพูดมากปากพล่อยทำลายศรัทธาของคน พระก็มี คนก็เหมือนกัน มีบ้างไหมพระของเรา มีปากเลว ๆ ไม่ได้ใช้ปัญญา คือ พูดก่อนคิด ใครเขาทำอะไรผิด ใครเขาทำอะไรถูก ต้องคิดว่าถ้าเขาทำด้วยเจตนาดีอันนี้เราควรให้อภัย การพลั้งพลาดเป็นของธรรมดา การมีความรู้สึกให้อภัยซึ่งกันและกัน รู้สึกสงสารในการพลั้งพลาด ทั้ง ๆ ที่เขาทำด้วยเจตนาดี แต่ว่ามันผิดไปบ้าง อันนี้เราก็ต้องมีจิตให้อภัย อย่างดีที่สุดก็ควรจะปลอบกำลังใจว่าเราทำผิดไปแล้ว วันหน้าความดียังมีอยู่ เพราะเราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมครู เราก็ควรจะยับยั้งตนใช้ปัญญาเสียใหม่ สำหรับวันนี้เราก็คงจะได้กันแต่เพียงขอบเขตของการเมตตาเท่านั้น ความจริงแล้วละก็เรื่องเมตตานี่ไม่ต้องสอนกันก็ได้ แต่ว่าไม่สอนก็เห็นจะไม่ไหว เพราะว่าทั้งเก่าทั้งใหม่ มอง ๆ ดูแล้วบางท่านก็แสนดี แต่บางคนอยู่กับผมมาตั้ง ๑๐ ปี ก็ยังเอาดีไม่ได้ก็มี
    <DD>นี่คนประเภทนี้เขาเรียกว่า มนุสสเปโต คือ มนุษย์เปรต หรือ มนุสสติรัจฉาโน มีร่างกายเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นเดรัจฉาน เราจะสังเกตได้ว่าการเลี้ยงสัตว์ ถ้าคนใดคิดว่าหมาไม่จำเป็นต้องกินดี คนประเภทนี้ขาดความเมตตาปรานี อย่างนี้เรียกว่า มนุสสติรัจฉาโน แค่มนุษย์สัตว์เดรัจฉาน หรือ มนุสสเปโต กายเป็นมนุษย์ใจเป็นเปรต หรือ มนุสสนิรยโก ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นสัตว์นรก
    <DD>เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัทและพระโยคาวจรทั้งหลาย วันนี้เราก็ได้แต่ขอบเขตของความเมตตาเท่านั้น แต่ยังไม่หมด แต่เวลามันหมด ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงกำหนดใจตั้งอยู่ในความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำรวจศีลให้บริสุทธิ์ว่าตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเวลานี้เรามีความบกพร่องในศีลบ้างหรือเปล่า
    <DD>ประการที่ ๒ สำรวจกำลังใจของเรา ว่าเรามีความเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์หรือเปล่า
    <DD>ประการที่ ๓ นึกถึงความตายหรือเปล่า
    <DD>ประการที่ ๔ เห็นว่าโลกเป็นทุกข์ หาความสุขไม่ได้ ใจรักพระนิพพานหรือเปล่า ถ้าบกพร่องจุดใดจุดหนึ่ง รักษากำลังใจจุดนั้นให้สมบูรณ์ จะมีความสุข นั่นคือความเป็นอริยเจ้า
    <DD>ต่อไปนี้ขอท่านทั้งหลายตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะเห็นว่าเวลานั้นสมควรจะยกเลิก
    <TABLE width="100%" border=0><TBODY><TR align=right><TD>สวัสดี</TD></TR></TBODY></TABLE>
    <CENTER>( จากเทปเรื่อง พรหมวิหาร ๔ ปี ๒๕๒๑ )
    ( ม้วน ๑ หน้า ก )
    </CENTER></DD><DD><CENTER>ที่มา http://www.putthawutt.com/html/menu.html</CENTER></DD>
     

แชร์หน้านี้

Loading...