ปัจจุบันธรรมเป็นธรรมโม หลวงปู่แหวน สุจิณโณ แสดงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2523

ในห้อง 'หลวงปู่แหวน' ตั้งกระทู้โดย naruphol, 13 ตุลาคม 2010.

  1. naruphol

    naruphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 พฤษภาคม 2006
    โพสต์:
    149
    ค่าพลัง:
    +1,074
    ปัจจุบันธรรมเป็นธรรมโม หลวงปู่แหวน สุจิณโณ แสดงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2523


    ความ คิดทั้งที่เป็นอดีตอนาคต เมื่อเราคิดขึ้นมาพร้อมกันมันก็ดับ ท่านเจ้าคุณอุบาลี ฯ ท่านกล่าวว่า อดีตและอนาคตมันก็อันเดียวกันนั่นแหละ ความตัวเดียวนี้แหละ อดีตและอนาคตก็อันนี้แหละ ปัจจุบันก็อันนี้แหละ แต่ปัจจุบันนี้เป็นธรรมโม อดีตอนาคตเป็นธรรมเมา

    ของสังขารทั้งหลาย มันปรุง มันแต่ง มันเกิดมันดับ อยู่นี้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่นี้แหละสมควรจำต้นมันไว้ ต้นเหตุอดีต อนาคต เป็นธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม จำไว้ให้แม่นน้อมเข้ามาสู่กายสู่ใจของตน น้อมเข้ามาในกาย ให้รู้แจ้งเห็นแจ้ง จนเห็นเป็นโครงกระดูก ธรรมทั้งหลายก็ต้องรู้แจ้งกายรู้แจ้งภายในใจนี้ จึงเป็นผู้รู้

    ถ้า ว่าตามหลักปริยัติธรรมแล้วมันมากมาย แต่ก็เอาของเก่านี้แหละ กลับไปกลับมา เล่นของเก่าอยู่นี้แหละกลับไปกลับมา ไม่มีที่สิ้นสุด ต้องเอาให้เห็นแจ้งรู้รอบสังขาร เมื่อรู้รอบสังขารทั้งหลายแล้วจึงดับต้นเหตุมันได้ รู้เท่าสังขาร สังขารทั้งหลายดับไปหมด ใจมันจึงสงบลงไปรู้ธรรมเป็นนะก็ว่าเป็นธรรมก็ได้ เป็นนะโมก็ว่า

    อตีตา ธรรมเมา อนาคตา ธรรมเมา ปัจจุบัน เป็นธรรมโม ตั้งหลักอย่างนี้ไว้เสียก่อน ถ้าเพลิดเพลินหลงไปให้ยกขึ้นพิจารณา อดีตอนาคตเป็นธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม มันหลงของเก่านี้แหละ ทำเข้าไปให้จิตมีกำลังถ้าจิตยังไม่มีกำลัง ดูประหนึ่งว่าการทำนี้มันลำบาก บุคคลผู้ปกครองคนหมู่มาก ซึ่งแต่ละคนก็มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น ละความชั่ว เอาไปๆ เวลามันหลง ต้องจำที่ต้นเหตุคือ ตัวสังขาร

    มันมักจะไปเป็นอตีตธรรมเมา อนาคตธรรมเมา ปัจจุบันธรรมโม ตั้งอยู่ไม่ไป ไม่มา ไม่ออกไม่เข้า อันนี้เป็นของจริง ไม่ออก ไม่เข้า ไม่เสียหาย นี้คือ ใจมันตั้งมั่น มันไม่ไปที่ไหน ถ้าทำให้ได้ของจริง มันต้องอยู่ในนั่นแหละ รู้แจ้ง เห็นแจ้ง ส่วนมากคนทั้งหลายมักจะได้มากในด้านความจำ แต่ถ้าเอาเข้าจริงๆ หลบเข้าไปตรงนั้นที หลบเข้าไปตรงนี้ทีหลงลายเลย การกระทำเป็นสิ่งสำคัญ ทำเข้าๆ เมื่อได้กำลังแล้วมันเกิดเอง ปัจจุบันเป็นธรรมโม อดีตอนาคตเป็นธรรมเมา จำหลักอันนี้ไว้ให้ดี สังขารมันตั้งอยู่ตรงนี้แหละ

    ว่า ไปก็ไม่มีที่สิ้นสุด ประเดี่ยวเอาอย่างนั้นประเดี๋ยวเอาอย่างนี้ เอาเข้าๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ก็เลยลืมหลักไปเสีย ให้ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันนี้แหละ เร่งเข้าความเพียร ไม่หลับไม่นอน บางมีก็หลงไปบ้างเหมือนกัน หลวงปู่มั่น ท่านว่าไม่ต้องเอามาก เอาเพียงเล็กน้อยก็พอแล้ว

    สติสัมปชัญญะก็ดี สัมมาสติก็ดี ก็อันเดียวกันนั้นแหละเพราะคิดดีก็ดี คิดชั่วก็ดี เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับ มันอันเดียวนั้นแหละ มันหมุนไปหมุนมาอยู่นั่นแหละ เอาสตินำออกเสียจากความชั่ว อันเป็นส่วนดีก็รักษาไว้ อันเป็นเหตุส่วนทุกข์ให้ละเว้นเสีย สติสัมปชัญญะก็ดี สัมมาสติก็ดี ก็อันเดียวกันนั้นแหละ มีกำหนดรู้ ที่เกิดของธรรม ที่ดับของธรรม รู้อยู่ที่เดียวนี้แหละ ละอยู่ที่เดียวนี้แหละ วางอยู่ที่เดียวนี้แหละ

    การ ปรารภความเพียรก็เอาสตินี้แหละ เวลาเกิดความคับขัน ก็ให้น้อมเข้ามา ปฏิบัติอยู่ให้เพียรเพ่งอยู่จนหายสงสัย เพ่งจนหายสงสัย อันนี้สำคัญมาก เพ่งเข้ามาสู่จิตสู่ใจ อย่าไปเพ่งออกภายนอก เพ่งจนหายสงสัยจนไม่มีเกิดไม่มีดับ พราหมณาจารย์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เพียรเพ่งอยู่มันดับไปเอง แม้เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไปเอง แต่อย่าเข้าไปยึดถือในอะไรๆ สิ่งที่มันปรุงขึ้นแต่งขึ้นมักจับมันไม่ทัน

    จิต ของผู้มีความเพียร เพ่งอยู่ จนหายสงสัย อย่าไปเพ่งออกภายนอก ให้เพ่งเข้าสู่ภายใน เมื่อมีสติมั่นเพ่งอยู่อย่างนี้ สิ่งทั้งปวงเมื่อเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป ให้เพ่งจับอยู่เฉพาะในปัจจุบัน อย่างไปเพ่งอดีต อนาคต อดีตเป็นธรรมเมา อนาคตเป็นธรรมเมา

    พราหมณา จารย์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่เพ่งอยู่ภายใน ต้องเพ่งเข้าสู่ภายในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นมันก็ดับไปเอง อย่าเข้าไปยึดถือสำคัญมั่นหมาย ว่าเป็นสิ่งนั่นว่าเป็นสิ่งนี้ เพ่งอยู่จนหายสงสัย ถ้าหายสงสัยมันก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเท่านั้นแหละ การเพ่งอย่าให้มันออกไปข้างนอก ให้เพ่งเข้ามาทางใจ ให้เข้าสู่ใจ ให้เข้าสู่ ฐีติ ภูตัง ให้ตั้งอยู่ในธรรม อันไม่ไป ไม่มา ไม่เข้า ไม่ออก เร่งความเพียรไม่หยุดหย่อน ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป พระอริยเจ้าไม่ว่าสมัยใด ท่านเปลี่ยนอริยาบถทั้ง 4 ยืน เดิน นั่ง นอน มีความเพียรทุกอริยาบถไม่ทอดทิ้ง ขันติบารมี อดทนด้วยกาย อดทนด้วยวาจา อดทนด้วยใจ ท่านไม่ยอมละความเพียร

    “อตีตาธรรมเมา อนาคตธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม จำเอาไว้ให้แม่น
    ไม่ต้องพูดมาก พูดมากไม่ใช่ธรรมะ มันเป็นธรรมเมา”


    ขอขอบพระคุณและโมทนาบุญอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
    • หลวงปู่แหวน สุจิณโณ. ธรรมโอวาท : พระนาค อัตถวโร วัดสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพฯ เรียบเรียง, 2545. หน้า 19-22.
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_0002.jpg
      IMG_0002.jpg
      ขนาดไฟล์:
      2.2 MB
      เปิดดู:
      478

แชร์หน้านี้

Loading...