บทความให้กำลังใจ(พิษจากผลแห่งความดี)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    ความสุขที่แท้
    พระไพศาล วิสาโล
    หลังจากที่ประธานาธิบดีมาร์คอส ครองอำนาจมาได้ ๕ ปี เขาได้เขียนถึงความรู้สึกของตนลงในบันทึกประจำวัน ความตอนหนึ่งมีว่า “ผมเป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุดในฟิลิปปินส์ ผมมีทุกอย่างที่เคยใฝ่ฝัน พูดให้ถูกต้องก็คือ ผมมีทรัพย์สมบัติทุกอย่างเท่าที่ชีวิตต้องการ มีภรรยาซึ่งเป็นที่รักและมีส่วนร่วมในทุกอย่างที่ผมทำ มีลูกๆ ที่ฉลาดหลักแหลมซึ่งสืบทอดวงศ์ตระกูล มีชีวิตที่สุขสบาย ผมมีทุกอย่าง แต่กระนั้นผมก็ยังรู้สึกไม่พึงพอใจในชีวิต “

    ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่หา แต่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าความสุขนั้นเกิดจากวัตถุและอำนาจ ยิ่งมีสมบัติไว้ในครอบครองมากเท่าไร ก็เชื่อว่าจะยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น แต่ครั้นมีสมบัติมากองอยู่ตรงหน้า ชั่วเวลาไม่นานก็กลับทุกข์ใหม่ เพราะมีความอยากจะได้ให้มากกว่าเดิมอีก คนที่คิดว่าอำนาจจะบันดาลความสุขให้ได้ ก็ไม่เคยสุขจริงเสียที เป็นข้าราชการธรรมดาก็อยากเป็นหัวหน้ากอง แต่ครั้นได้เป็นเข้าก็หารู้สึกสมอยากไม่ เพราะนึกฝันถึงตำแหน่งอธิบดี ส่วนคนที่เป็นอธิบดีก็รู้สึกด้อยกว่าปลัดกระทรวงเช่นเดียวกับที่ปลัดกระทรวงก็อยากเป็นรัฐมนตรี พอได้เป็นรัฐมนตรีก็เกี่ยงงอนอยากได้กระทรวงเกรดเอและหวังเลยไปถึงเป็นใหญ่ในทำเนียบ แต่ถ้าใครคิดว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำให้ชีวิตเป็นสุขได้ ก็ขอให้ดูตัวอย่างจากมาร์คอสก็ได้ว่า ทั้งๆ ที่ตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นยิ่งใหญ่กว่านายกรัฐมนตรีเป็น ไหนๆ แต่ชีวิตก็หามีความสุขไม่

    มีน้อยคนในโลกนี้ที่ประสบ “ความสำเร็จ” อย่างอดีตประธานาธิบดีมาร์คอส เขาไม่เพียงแต่จะมีอำนาจล้นฟ้าเท่านั้น หากยังมีทรัพย์สมบัติมหาศาล มีคู่ครองและครอบครัวที่ฝากชีวิตไว้ได้ กระนั้นก็ยังรู้สึกว่าชีวิตนั้นยังพร่องอยู่ ต้องดิ้นรนไขว่คว้าไม่รู้จักหยุดจนชีวิตต้องจบสิ้นอย่างน่าอเนจอนาถ

    ลงคนเราได้เป็นประธานาธิบดีสักครั้ง ก็อยากเป็นต่อไปเรื่อยๆ ข้อนี้พอจะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะการขึ้นกับการลงจากอำนาจนั้นต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่คนที่มีทรัพย์สมบัตินับหมื่นๆ ล้าน เหตุใดจึงยังดิ้นรนตักตวงไม่รู้จักหยุด ในเมื่อสมบัติที่มีนั้นแม้ใช้จนชั่วชีวิตก็ไม่หมด

    การที่เศรษฐีหมื่นล้านยังตั้งหน้าตั้งตาหาเงินอย่างไม่ยั้ง ย่อมแสดงว่าความสุขนั้นไม่ได้เกิดจากการมีหรือการครอบครองทรัพย์สมบัติ ไม่ว่าจะมากมายเพียงใดก็ตาม เพราะขึ้นชื่อว่าความสุขแล้วย่อมยังความพอใจและความเต็มอิ่มให้แก่ชีวิต จนไม่คิดดิ้นรนทะยานอยากอีก โดยส่วนลึกในจิตใจแล้วคนทั้งหลายก็รู้ว่าความสุขมิได้เกิดจากการมี เป็นเพราะมีเท่าไรก็ยังไม่เป็นความสุข จึงเชื่อว่าความสุขนั้นเกิดจากการ ได้

    เศรษฐีอย่างมาร์คอสพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเลขในบัญชีธนาคารเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ มิใช่เพราะว่าเขาต้องการที่จะให้เงินจำนวนมหาศาล หรือเพราะต้องการหลักประกัน ว่าจะมีกินมีใช้อย่างฟุ่มเฟือยไปตลอดชาติ แต่เป็นเขาปรารถนาความสุขจากตัวเงินที่เพิ่มขึ้นต่างหาก บ่อยครั้งเงินนำความยินดีมาให้แก่ชีวิต มิใช่เพราะเรานำมาใช้ปรนเปรออายตนะทั้งห้า หากแต่เป็นเพราะว่าเพียงแค่มันเพิ่มจำนวนมากขึ้นเราก็มีความสุขแล้ว ถ้าหากว่าการใช้เงินนำความสุขมาให้แก่ชีวิตอย่างแท้จริงแล้ว เศรษฐีทั้งหลายก็คงใช้เวลาส่วนใหญ่กับการใช้จ่ายเงินทองแทนที่จะคอยหาเงินตัวเป็นเกลียวจนแทบไม่มีเวลาใช้เงินเอาเลย

    จะว่าไป นี่อาจเป็นสัญชาตญาณที่ฝังลึกในสรรพสัตว์ก็ได้ เวลาเราโยนเนื้อให้หมา มันจะรีบงับทันที แต่ถ้าโยนเนื้อชิ้นที่สองให้มันติดๆ กัน หมาจะคายเนื้อชิ้นแรกและรีบงับเนื้อชิ้นที่สองทันที ทั้งๆ ที่เนื้อทั้งสองชิ้นก็เหมือนกัน ความสุขของหมามิได้อยู่ที่การได้กินเนื้อ แต่อยู่ที่การได้ชิ้นเนื้อเพิ่มขึ้นต่างหาก จะเป็นการพูดแรงไปหรือไม่ หากจะบอกว่าคนเราก็เช่นกัน ไม่จำเพาะเศรษฐีเท่านั้น แม้ปุถุชนทั่วไปก็ปรารถนาความสุขจากการได้มากกว่าความสุขจากการมีหรือการใช้ แม้บางคนจะไม่ปรารถนาเงินทอง บำเพ็ญตนเป็นหนอนหนังสือ แต่ก็คอยเสาะแสวงหาหนังสือเล่มใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งๆ ที่หนังสือในบ้านก็มีอยู่มากมายจนชาตินี้อ่านเท่าไรก็ไม่มีวันหมด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะความสุขของเขาอยู่ที่การได้หนังสือเล่มใหม่ ยิ่งกว่าการมีหนังสือเต็มห้องใช่หรือไม่

    เป็นเพราะเชื่อว่าความสุขอยู่ที่การได้ยิ่งกว่าการมีหรือการใช้เราจึงไม่รู้จักพอ ไม่ว่าจะมีอยู่แล้วมากมายเพียงใด ก็ยังอยากจะได้เพิ่มอีก เรามีความสุขทุกครั้งที่ได้รองเท้าคู่ใหม่ อัลบั้มเพลงใหม่ แต่พอมันมาอยู่กับเราได้ไม่นาน ก็หมดเสน่ห์ ความตื่นเต้นกลับไปอยู่ที่รองเท้าคู่ใหม่ อัลบั้มเพลงใหม่ที่วางโชว์อยู่ในร้าน เราจะมีโอกาสสวมรองเท้าคู่นั้นได้นานเท่าไหร่ ได้ฟังเพลงอัลบั้มนั้นได้กี่ครั้งนั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ จุดสำคัญอยู่ที่เราจะได้มันมาหรือไม่ต่างหากเพียงแค่ได้มันมาก็มีความสุขแล้ว แม้อาจจะไม่ได้ใช้เลยก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ห้างสรรพสินค้าทั้งหลายกลายเป็นที่พึ่งทางใจของคนสมัยนี้ไปแล้วอย่างเต็มภาคภูมิ จะเรียกว่าเป็นวัดหรือวิหารสมัยใหม่ก็คงไม่ผิด

    ห้างสรรพสินค้าและผู้ผลิตทั้งหลายรู้จิตวิทยาข้อนี้เป็นอย่างดีจึงพยายามเสนอสินค้าใหม่ๆ มาล่อตาไม่ได้หยุด แม้จะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น หรือมีโอกาสใช้ไม่บ่อยนักก็ตาม ผลิตภัณฑ์เป็นอันมากผลัดกันออกมาเป็นรุ่นๆ แต่ละรุ่นวางตลาดชั่วเวลาไม่นานก็ถูกรุ่นใหม่ออกมาบดบังจนกลายเป็น “ของเก่า” หาราศีไม่ได้ กระทั่งผู้บริโภครู้สึกกระสับกระส่ายหากไม่ได้ของใหม่มาไว้ในครอบครองยิ่งมีระบบโฆษณาที่เรียกว่าครีเอทีฟมาคอยกระตุ้น ความอยากอีกแรงด้วยแล้ว ความสุขของคนในยุคบริโภคนิยมนี้จึงมีอายุขัยสั้นมาก เพราะว่าหลงดีใจกับของใหม่ได้ไม่นาน ก็ต้องฝ่อเสียแล้ว เนื่องจากของชิ้นนั้นกลายเป็นสินค้าตกรุ่นไป ไม่ว่าจะเป็นนักเลงคอมพิวเตอร์หรือสาวแฟชั่น ย่อมรู้ดีในเรื่องนี้
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    (ต่อ)
    ความสุขจากการได้ในสมัยนี้แม้จะได้มาง่ายๆ (ถ้ามีเงิน) แต่ก็สลายไปได้อย่างง่ายๆ เช่นกัน ดังนั้นใครที่ปรารถนาความสุขชนิดนี้จึงต้องวิ่งไขว่คว้าอยู่เรื่อยไป หาจุดสิ้นสุดไม่ได้ ไม่ต่างจากคนวิ่งหนีเงากลางแดดในฤดูร้อน ความสุขชนิดนี้เจือด้วยความทุกข์มากไม่ว่าจะเป็นทุกข์ในความหมายที่เป็นความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (แม้ก้อนหินหรือเสาเรือนก็มีความทุกข์ชนิดนี้) หรือความทุกข์ที่ทำความยุ่งยากเดือดร้อนให้แก่ชีวิตจิตใจ(ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องประสบ) ในด้านหนึ่งความสุขชนิดนี้เกิดขึ้นเพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็แปรปรวนไป ในอีกด้านหนึ่งความสุขชนิดนี้ได้มาด้วยการดิ้นรนแข่งขันให้ได้เงินและโอกาส เพื่อเป็นปัจจัยไปสู่ สมบัติชิ้นใหม่ๆ ครั้นได้มาก็ไม่สมยาก เกิดความทุกข์เพราะต้องการสิ่งใหม่และมากกว่านั้นอีก ยังไม่นับความทุกข์เนื่องจากต้องกังวลห่วงใยและคอยรักษาสิ่งนั้น

    วิธีเดียวที่จะหนีเงาในยามเที่ยงได้ก็คือนั่งพักใต้ต้นไม้ใหญ่ เราจะหยุดไขว่คว้าดิ้นรนได้ก็ต่อเมื่อรู้จักพอ ความรู้จักพอเป็นที่พักพิงแก่ชีวิตจิตใจได้ก็เพราะสามารถนำเราเข้าถึงความสุขอีกชนิดหนึ่งซึ่งหาได้ยาก นั่นคือความเย็นสบายเพราะไม่ถูกเผาลนด้วยความอยากได้ไม่สิ้นสุด เป็นความโปร่งเบาเพราะคลายกังวลในทรัพย์สิน เมื่อมีความสุขชนิดนี้หล่อเลี้ยงจิตใจ ความตื่นเต้นยินดีในสิ่งใหม่ๆ ก็มีอิทธิพลต่อเราน้อยลง ลึกๆ แล้วที่เราปรารถนาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอก็เพราะต้องการความตื่นเต้น ประเพณีให้ของขวัญมีความหมายแก่ชีวิตก็ตรงนี้ แต่ของขวัญก็สู้ของซื้อไม่ได้ ตรงที่การได้ซื้อของใหม่ยังทำให้เรารู้สึกมีอำนาจอีกด้วย การช็อปปิ้งตามศูนย์การค้ากลายเป็นสิ่งเสพติดชนิดหนึ่งไปแล้วก็เพราะ นั่นเป็นที่ที่เราได้พบทั้งความตื่นเต้นที่ได้พานพบสิ่งใหม่และความรู้สึกมีอำนาจที่ได้ครอบครองเป็นนายเหนือสิ่งต่างๆ ความรู้สึกดังกล่าวมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับเราก็เพราะเราไม่เคยประสบสัมผัสกับความสุขที่ละเมียดละไมกว่านั้น แต่เมื่อใดที่เราเริ่มรู้จักหยุดรู้จักพอ เราจะพบว่าความเย็นสบายโปร่งเบานั้นให้ความสุขที่ยิ่งกว่าความตื่นเต้นและการมีอำนาจ

    น้ำหวานแม้เอร็ดอร่อยกว่าน้ำจืด แต่ถ้าดื่มไม่หยุดหย่อนโรคทั้งปวงก็ถามหา ถึงน้ำจืดจะไม่มีสีสันเตะตา แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตที่ผาสุก ชีวิตต้องการน้ำจืดมากกว่าน้ำหวานฉันใด จิตใจก็ปรารถนาความโปร่งเบาเย็นสบายยิ่งกว่าความตื่นเต้นชั่วครู่ชั่วยาม ซึ่งมักมาพร้อมความเหนื่อยยากและร้อนรนกังวลใจฉันนั้น ความรู้จักพอเป็นบาทฐานให้จิตใจได้เข้าถึงความเบาสบายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อจิตหยุดแส่ส่ายไล่ตามวัตถุภายนอก ก็มีโอกาสนิ่งสงบและสัมผัสกับความใสกระจ่างซึ่งมีอยู่แล้วแต่ภายใน เฉกเช่นน้ำที่หยุดกวน ก็จะตกตะกอนแล้วกลับใสขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

    ชีวิตที่มาถึงจุดนี้ ย่อมเรียกได้ว่าเราเข้าถึงความสุขจากการหยุด เป็นชีวิตที่ไม่อิงแอบแนบแน่นอยู่กับความตื่นเต้นหรือสิ่งเร้าจิตกระตุ้นใจอีกต่อไป ความสุขจากการมี หรือจากการได้ จะมีอิทธิพลต่อชีวิตน้อยลงเพราะมีความสุขที่ละเอียดประณีตกว่าเข้ามาแทนที่ วัตถุที่มีหรือได้ใหม่จะมิใช้สิ่งปรนเปรอตนเองหากเป็นไปเพื่อยังประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่นตามคุณค่าอันแท้จริงของมัน เสื้อผ้าจะมิใช่สิ่งแสดงอัครฐาน รถยนต์จะมิใช่สิ่งบ่งบอกความมั่งมีหากแต่เพื่อให้ชีวิตและการงานดำเนินไปได้ด้วยดี

    ถ้าวิวัฒน์พัฒนาจากการมี การได้มาสู่การหยุดได้ ความสุขขั้นต่อไปก็เป็นสิ่งพึงหวังได้นั่นคือ การสุขจากการให้ การให้เป็นความสุขก็เพราะได้กระทำสิ่งที่ตนเห็นว่ามีคุณค่า และผลตอบแทนที่ประจักษ์ได้ก็คือความสุขของผู้รับ ซึ่งยังจิตของผู้ให้ให้บังเกิดความแช่มชื่นเบิกบาน ผู้แสวงหาธรรมจากสวนโมกข์มักได้รับคำขอบคุณพร้อมกับรอยยิ้มจากท่านพุทธทาสภิกขุเสมอ เพราะท่านถือว่าเขาเหล่านั้นมาทำให้สวนโมกข์เกิดประโยชน์กว้างขวาง เมื่อรู้จักพอเสียได้ การถือสิทธิติดยึดในทรัพย์สินก็ลดลง สิ่งที่มีอยู่ในครอบครองก็กลายสภาพเป็นของส่วนรวมไปโดยปริยาย เปิดกว้างให้ผู้อื่นได้ใช้สอย หรือก่อประโยชน์ทุกเวลา

    ความสุขชนิดนี้ไม่ต้องแย่งชิง ไม่มีผู้ชนะหรือผู้แพ้ เพราะทุกคนไม่ว่าผู้ให้หรือผู้รับก็ล้วนเป็นผู้ได้ ไม่มีใครเป็นผู้เสีย คนที่เข้าถึงความสุขชนิดนี้จึงเป็นผู้ร่ำรวยเต็มอิ่ม ไม่พร่อง แม้ยากไร้ในทรัพย์สิน แต่ก็มีเวลาและแรงงาน ที่พร้อมจะอุทิศให้ตลอดเวลา เป็นชีวิตที่มีความพึงพอใจในทุกเมื่อ

    ความร่ำรวยเต็มอิ่มและความพึงพอใจในชีวิตดังกล่าว คือสิ่งที่ผู้ยิ่งใหญ่อย่างอดีตประธานาธิบดีมาร์คอสแสวงหา แม้จะทุ่มเททั้งชีวิตแต่จนแล้วจนรอดก็ยังหาไม่พบ มิหนำซ้ำกลับก่อทุกขเวทนาแก่ผู้คนนับไม่ถ้วน ที่บาดเจ็บล้มตายก็มีเป็นอันมาก อีกทั้งเศรษฐกิจของประเทศยังเสียหายนับแสนล้าน แต่คนเช่นนี้ก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียวนัก อย่างน้อยชีวิตของเขาก็เป็นบทเรียนสอนใจเราว่าอำนาจและทรัพย์สมบัติมิใช่ความสุขที่แท้
    :- https://visalo.org/article/chaladsue_9.htm

     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    รักตนเองด้วยการช่วยผู้อื่น
    พระไพศาล วิสาโล
    ที่สำนักเซนแห่งหนึ่งในอเมริกา เมื่อมีการอุปสมบทพระใหม่จะมีพิธีกรรมปุจฉา-วิสัชนา โดยพระใหม่จะกล่าวกับอุปัชฌาย์ว่า “การปฏิบัติธรรมคืออะไร? โปรดสอนกระผมเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่น”

    อุปัชฌาย์จะกล่าวว่า “อะไรนะ ช่วยเหลือผู้อื่นหรือ? ท่านต้องช่วยตัวเอง”

    “กระผมจะช่วยตัวเองได้อย่างไร?” พระใหม่ปุจฉา

    “ดูแลผู้อื่น” คือคำตอบของอุปัชฌาย์

    ช่วยตนเองด้วยการดูแลผู้อื่น ไม่ใช่เป็นแนวคิดของเซนเท่านั้น ที่จริงเป็นคำสอนดั้งเดิมของพุทธศาสนา ดังมีพุทธพจน์ว่า “เมื่อรักษาผู้อื่นก็คือรักษาตน.....ข้อนี้หมายความว่า รักษาผู้อื่นด้วยการอดทน ด้วยการไม่เบียดเบียน ด้วยเมตตาจิต ด้วยความรักใคร่เอ็นดู นี้แหละคือเมื่อรักษาผู้อื่นอยู่ จะมีผลเป็นการรักษาตนด้วย”

    พุทธศาสนามองว่า ความผาสุกของตน กับความผาสุกของผู้อื่นนั้นไม่ได้แยกจากกัน เราจะผาสุกได้ต่อเมื่อผู้อื่นมีความผาสุกด้วย นิรมล เมธีสุวกุลเล่าว่า คราวหนึ่งได้ไปถ่ายทำสารคดีในหมู่บ้าน ขณะที่กำลังพักผ่อนอยู่ คุณป้าคนหนึ่งถือปลาพวงใหญ่มาแล้วถามทีมถ่ายทำว่า “รู้ไหมว่า ปลาพวงนี้ทำอย่างไรจึงจะกินได้นาน” แต่ละคนก็ให้คำตอบต่าง ๆ กัน เช่น หมักบ้าง ตากแดดบ้าง ใส่ตู้เย็นบ้าง “ผิดหมดเลย” คุณป้าตอบ “ต้องเอาไปแบ่งเพื่อนบ้านให้ทั่วถึง”

    หลายคนสงสัยว่าถ้าแบ่งให้คนอื่น เราก็ได้กินน้อยลงสิ จะมีกินนาน ๆ ได้อย่างไร แต่ชาวบ้านอย่างคุณป้ามองว่า ถ้าเรามีน้ำใจแบ่งปลาให้เพื่อนบ้าน เวลาเพื่อนบ้านจับปลาได้ ก็จะแบ่งให้เรา ทำให้มีปลากินได้เรื่อย ๆ ท่านอาจารย์พุทธทาสก็พูดทำนองเดียวกันว่า ข้าวที่เรากินนั้น แค่วันเดียวมันก็กลายเป็นอุจจาระ แต่ถ้าเราแบ่งให้ผู้อื่น มันก็จะอยู่ในใจเขานานเท่านาน

    ที่จริงนี้ไม่ใช่ภูมิปัญญาของชาวบ้านไทยเท่านั้น แต่เป็นภูมิปัญญาสากล มีเกษตรกรชาวอเมริกันผู้หนึ่งในรัฐไอโอวา เขาเป็นเจ้าของพันธุ์ข้าวโพดคุณภาพดีที่ได้รางวัลชนะเลิศติดต่อกันหลายครั้งในการประกวดระดับรัฐ แทนที่จะหวงพันธุ์เหมือนคนอื่น เขาชอบแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ดีที่สุดให้แก่ชาวไร่ทุกคนในละแวกเดียวกัน
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    (ต่อ)
    เมื่อถูกถามถึงเหตุผล เขาตอบว่า “ถ้าเพื่อนบ้านผมปลูกข้าวโพดพันธุ์ไม่ดี ละอองเกสร(ที่ลอยมาจากไร่ข้างเคียง)จะผสมข้ามพันธุ์ ทำให้ข้าวโพดของผมมีคุณภาพลดลง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมถึงให้ความสำคัญกับการที่คนเหล่านั้นจะต้องปลูกข้าวโพดพันธุ์ดีที่สุดจริง ๆ”

    ชาวไร่ผู้นี้รู้ดีว่า ถ้าอยากให้ผลผลิตในไร่ของเขาดี ไร่รอบ ๆ ก็ต้องดีด้วย เขาไม่อาจประสบความสำเร็จได้หากคนอื่นย่ำแย่

    ในทำนองเดียวกันถ้าเราต้องการความสุข ก็ควรช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขด้วย

    อย่างไรก็ตามเราไม่ควรเกื้อกูลผู้อื่นเพียงเพราะหวังประโยชน์ตนเท่านั้น แต่ควรก้าวไปอีกขั้น คือทำเพราะมีความปรารถนาดีต่อเขาเป็นที่ตั้ง

    แต่ถึงแม้จะไม่ได้ทำดีเพราะมุ่งหวังประโยชน์ที่จะเกิดแก่ตนเอง แต่ก็ขอให้มั่นใจได้ว่า ผลดีย่อมเกิดขึ้นแก่ตนเองอย่างแน่นอน ผลดีที่ว่าไม่ได้หมายถึงชื่อเสียงเกียรติยศหรือภาพลักษณ์ แต่ประเสริฐยิ่งกว่านั้นอีก

    “น้องด้าย” เด็กหญิงอายุ ๑๔ ไปเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเด็กอ่อนที่บ้านปากเกร็ด หลังจากที่ไปช่วยได้ไม่กี่เดือน แม่สังเกตว่า เธอนิ่งและสุขุมขึ้น รับฟังคนอื่นมากขึ้น และใช้อารมณ์กับแม่น้อยลง ไม่ต่างจาก “กบ” นักธุรกิจวัย ๓๐ ปลาย ๆ เขารู้สึกว่าตนเองใจเย็นขึ้น แม้แต่ลูกน้องก็ทักว่าเขาพูดนุ่มนวลกว่าเดิม ไม่โผงผางเหมือนเก่า เหตุผลก็เพราะ เวลาอยู่กับเด็ก เขาต้องใช้ความอดทนและความอ่อนโยน จะทำตามอารมณ์ไม่ได้ เขายังเล่าด้วยว่า “ในขณะที่เราพยายามจะให้เขามีพัฒนาการที่ดี เขาก็ช่วยขัดเกลาให้เราอ่อนโยนในเวลาเดียวกันด้วย"

    การช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ช่วยขัดเกลาและปรับปรุงจิตใจของเราโดยไม่รู้ตัว ทำให้เราเห็นแก่ตัวน้อยลง และมีจิตใจอ่อนโยนมากขึ้น ที่สำคัญอีกประการก็คือ ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทีแรกคิดจะไปให้ความสุขแก่เขา กลับกลายเป็นว่า เขาให้ความสุขแก่เรา สอดคล้องกับพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข”

    ดังนั้นถ้าเรารักตนเองจริง ๆ อยากให้ตนเองมีความสุขและมีจิตใจเจริญงอกงาม ควรช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นมาก ๆ เพราะ “รักษาผู้อื่นก็คือรักษาตน”
    :- https://visalo.org/article/secret255609_2.htm

     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    buddhagreentree.jpg
    ในวิกฤต มีโอกาส

    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อพูดถึงความตาย เรามักนึกถึงความเจ็บปวด ความทุรนทุราย และความพลัดพรากสูญเสียจากสิ่งที่รัก บางคนอาจนึกเลยไปถึงสิ่งลี้ลับดำมืดหรือความทุกข์ทรมานที่รออยู่เบื้องหน้าหลังสิ้นลม ความตายจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวในความรู้สึกของผู้คน จนแม้แต่จะเอ่ยถึงก็ยังไม่กล้า

    กล่าวได้ว่าความตายเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่สามารถจะเกิดได้กับคน ๆ หนึ่ง เพราะไม่มีอะไรที่จะเป็นสุดยอดของความพลัดพรากนอกจากความตาย แต่ในทุกวิกฤตย่อมมี “โอกาส”อยู่เสมอ

    มองในแง่กายภาพ ความตายเป็นวิกฤตที่นำความแตกดับมาสู่ชีวิตก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันก็เปิดโอกาสให้หลายชีวิตมีลมหายใจยืนยาวต่อไป โดยอาศัยอวัยวะจากผู้ตายมาปลูกถ่ายทดแทน หรืออาศัยความรู้จากร่างของผู้ตาย มาพัฒนาวิธีการเยียวยารักษาโรคร้ายเพื่อยืดชีวิตของผู้คน

    ใช่แต่เท่านั้น ความตายยังเป็นโอกาสในทางจิตวิญญาณด้วย กล่าวคือเป็นประตูเปิดสู่ภพภูมิที่สูงขึ้น ดังคนโบราณเชื่อว่าหากตั้งจิตให้เป็นกุศลก่อนตายก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์หรือได้พบพระศรีอาริย์ในชาติต่อไป ถ้าเป็นคนอีสานก็เชื่อว่าจะได้ไปสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

    แต่ถึงแม้จะไม่เชื่อในภพหน้า ความตายก็ยังสามารถหนุนเนื่องให้เกิดการยกระดับทางจิตใจได้ตั้งแต่ขั้นสามัญไปจนถึงขั้นสูงสุด คือการบรรลุอรหัตผล ในพระไตรปิฎกมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับบุคคลที่บรรลุธรรมขั้นสูงในขณะที่ความตายมาประชิดตัว อาทิ พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา ในวาระสุดท้ายของพระองค์ทรงประชวรหนัก มีทุกขเวทนาแรงกล้า พระพุทธองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรมถึง ๗ วัน ๗ คืน ในคืนสุดท้าย ทรงแสดงธรรมเรื่องความไม่เที่ยง พระเจ้าสุทโธทนะทรงพิจารณาตาม และเห็นแจ้งด้วยพระองค์เองว่าสังขารนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ในที่สุดก็ทรงบรรลุอรหัตผลก่อนจะเสด็จดับขันธ์ในคืนนั้นเอง

    heaw3.jpg พระติสสะก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้รับทุกขเวทนามากในยามใกล้ตาย มิหน้ำซ้ำท่านยังถูกเพื่อนพระด้วยกันทอดทิ้งเนื่องจากเป็นโรคที่น่ารังเกียจ ท่านถูกปล่อยให้นอนจมปฏิกูลและมีหนองเปรอะเปื้อนเต็มตัว เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบจึงเสด็จมาดูแลท่าน อาบน้ำชำระร่างกายและเปลี่ยนจีวรใหม่ จากนั้นพระองค์ได้แสดงธรรมสั้น ๆ ว่า “อีกไม่นาน ร่างกายนี้ จักปราศจากวิญญาณ ถูกทอดทิ้ง ทับถมแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้ อันหาประโยชน์มิได้” พระติสสะได้พิจารณาตามและประจักษ์ด้วยตนเองร่างกายนี้ไม่น่ายึดถือเลย ส่งผลให้ท่านบรรลุอรหัตผลในขณะเดียวกับที่สิ้นชีวิต
    ส่วนพระสัปปทาสมีประวัติที่แตกต่างออกไป กล่าวคือท่านมีความทุกข์มากที่ไม่เคยพบกับความสงบใจเลยตลอด ๒๕ ปีที่บวช จึงตัดสินใจปลิดชีวิตตนเอง ช่วงที่ท่านปาดคอตนเอง ท่านได้สติหันมาพิจารณาความเจ็บปวดอันแรงกล้าที่เกิดขึ้น และเห็นว่าสังขารนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง จิตจึงละวางจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ชั่วขณะนั้นเองก็บรรลุอรหัตผลก่อนจะสิ้นลม
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    (ต่อ)
    ความตายนั้นตัดรอนชีวิตและบีบคั้นกายใจก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันก็ประกาศสัจธรรมอย่างชัดเจนว่า สังขารนั้นไม่เที่ยง ไม่มีอะไรที่ยึดติดถือมั่นว่าเป็นของเราได้เลย เพราะเอาไปไม่ได้สักอย่าง ส่วนทุกขเวทนาอันแรงกล้านั้นก็ตอกย้ำว่าสังขารนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ไม่น่ายึดไม่น่าเอา เป็นเสมือนครูที่เฆี่ยนตีไม่หยุดหย่อนจนกว่าเราจะเข็ดหลาบ และยอมปล่อยวางสังขารนั้นไปในที่สุด

    ด้วยเหตุนี้ในยามที่ความตายมาคุกคาม จึงมีโอกาสอย่างมากที่บุคคลจะเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมจนละวางความยึดติดถือมั่นในสังขาร เข้าถึงมรรคผลนิพพาน หรือลุถึงอิสรภาพทางจิตวิญญาณได้ ท่านพุทธทาสภิกขุจึงเรียกช่วงเวลาที่ใกล้ตายว่าเป็น “นาทีทอง”ของชีวิต

    สำหรับคนทั่วไปที่ไกลวัด หรือไม่หวังนิพพานในชาตินี้ ความตายก็ยังเป็นโอกาสให้ได้พบสิ่งดี ๆ เท่าที่ปุถุชนจะหวังได้ เช่น ได้เห็นลูกหลานหรือพี่น้องกลับมาคืนดีกันเพราะเห็นแก่คนป่วยที่กำลังจะตาย ในทำนองเดียวกัน บางคนที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้ภรรยาจนฝ่ายหลังตีจาก เมื่อเจ้าตัวป่วยหนักจนภรรยาอยู่เฉยไม่ได้ ต้องกลับมาดูแลอย่างใกล้ชิด สามีจึงมีโอกาสเอ่ยปากขอโทษภรรยา และนำไปสู่การคืนดีกันได้ในที่สุด
    เมื่อถึงคราวจะสิ้นลมสามีก็จากไปอย่างสงบ

    ทั้ง ๆ ที่ร่างกายใกล้จะแตกดับ แต่ก็มีหลายคนที่ได้พบกับความสงบในยามใกล้ตาย เพราะได้ปล่อยวางภาระต่าง ๆ ในชีวิต ด้วยรู้ว่าไม่มีประโยชน์ที่จะแบกเอาไว้ต่อไป บ้างก็หันมาให้เวลากับลูกหลานและพ่อแม่ ได้รับความอบอุ่นใจ และดีใจที่ได้ทำสิ่งสำคัญในชีวิตก่อนตาย บางคนเมื่อรู้ว่ามีเวลาเหลือน้อย ได้หันเข้าหาธรรมะ เจริญสมาธิภาวนา สร้างบุญสร้างกุศลเต็มที่ จึงพบกับความสุขใจอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน

    หากไม่มีมรณภัยมาประชิดตัว ผู้คนเหล่านี้ก็คงยังหมกมุ่นกับการงาน แสวงหาเงินทอง วุ่นวายกับภาระต่าง ๆ หาไม่ก็เพลิดเพลินกับความสนุกสนาน จนลืมไปว่ายังมีสิ่งที่ดีกว่าหรือสิ่งสำคัญอย่างอื่นในชีวิตที่ต้องใส่ใจ ใช่หรือไม่ว่าความตายมาเตือนให้เขาหันมาทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจอย่างแท้จริง รางวัลที่ได้ก็คือความสงบเย็นและความสุขใจที่อาจไม่เคยรู้จักมาก่อน กระทั่งนาทีสุดท้ายของชีวิตก็ยังพบกับความสงบได้ ไม่ทุรนทุรายแม้ทุกขเวทนาทางกายจะบีบคั้นก็ตาม

    ความตายจึงไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยความทุกข์ทรมานเสมอไป มีผู้คนเป็นอันมากที่จากไปท่ามกลางความอาลัยและความปลื้มปีติของญาติที่เห็นคนรักของตนจากไปอย่างสงบและงดงาม

    มารี คูรี นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องเคยกล่าวว่า “ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่น่ากลัว มีแต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ” ความข้อนี้ใช้กับความตายได้ด้วย ความตายนั้นไม่น่ากลัวเลยหากเราเข้าใจความตายอย่างรอบด้านและทุกแง่มุม จนเห็นว่าความตายไม่ใช่วิกฤต หากเป็นโอกาสอันทรงคุณค่าด้วย
    ........ EndLineMoving.gif

    :- https://visalo.org/article/secret255207.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 25 มีนาคม 2024
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    บทเรียนสำคัญ
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อรู้ว่านครสวรรค์ถูกน้ำท่วมทั้งเมือง และมวลน้ำกำ ลังเคลื่อนลงมา “อ้อย” ได้เดินทางไปยังบ้านแม่ที่อยุธยา แล้วทยอยขนข้าวของขึ้นชั้นสอง น้องสาวเห็นเช่นนั้น จึงว่าเธอ “ตื่นตูม” เธอตอบไปว่า “ไม่ประมาท” กับ “ตื่นตูม” อาจดูคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกันนะ หลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์น้ำก็ไหลเอ่อท่วมอยุธยาถึง ๒ เมตร
    จากอยุธยา เธอไปตั้งหลักที่บ้านของเธอเองที่ปทุมธานี เมื่อเห็นว่ามวลน้ำยังไหลมาไม่หยุด เธอก็เริ่มเก็บข้าวของ น้องสาวจึงท้วงว่า ไม่ต้องขนหรอก ถึงท่วมก็ไม่มาก แต่เธอไม่สนใจ ทยอยเก็บไปเรื่อย ๆ ไม่กี่วันมวลน้ำก้อนใหญ่ก็มาถึงปทุม พอเห็นน้ำเข้ามา น้องสาวถึงได้ตระหนักว่าครั้งนี้หนักหนาสาหัสกว่าที่คิด แต่โชคดีที่พี่สาวขนของล่วงหน้าไปมากแล้ว จึงสูญเสียทรัพย์สมบัติไปไม่มาก นับแต่นั้นเธอก็ต้องระเหเร่ร่อน แต่ก็ไม่ได้เป็นทุกข์กับเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะทำใจได้กับข้าวของที่สูญเสียไป

    ตรงข้ามกับ “เข็ม” บ้านของเธออยู่ที่นครสวรรค์ ซึ่งมักเจอปัญหาน้ำท่วมแทบทุกปี ตอนที่ได้ข่าวว่าน้ำท่วมพิษณุโลกนั้น เธอคิดว่าคงกระทบกับนครสวรรค์ไม่มากนัก จึงไม่ได้เตรียมการรับมือแต่อย่างใด จู่ ๆ วันหนึ่งก็พบว่าน้ำไหลเอ่อท่วมบ้านเธออย่างรวดเร็ว นอกจากโน้ตบุ๊คแล้ว ก็มีของมีค่าอีกไม่กี่ชิ้นที่เธอกับสามีขนออกมาได้ แม้จะกลับไปกู้ข้าวของที่บ้านอีก ๒-๓ ครั้ง แต่ก็ได้มาไม่มาก เพราะน้ำขึ้นสูงมาก ข้าวของส่วนใหญ่จมอยู่ใต้น้ำ ยังความเศร้าโศกเสียใจให้แก่เธอเป็นอย่างยิ่ง

    อุทกภัยครั้งนี้สร้างความเสียหายเหลือคณานับอย่างที่นึกไม่ถึง อันที่จริงภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดฝันของคนไทย ก่อนหน้านี้คนไทยจำนวนไม่น้อยพากันปริวิตกว่าภัยพิบัติครั้งใหญ่กำลังจะมา โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้คาดคิดว่าภัยพิบัติจะมาในรูปที่คุ้นเคยและเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ อย่างอุทกภัย คนไทยนั้นคุ้นเคยกับน้ำท่วมจนไม่คิดว่าจะมีอะไรร้ายแรงกว่าปีก่อน ๆ ดังนั้นจึงชะล่าใจและลงเอยด้วยความสูญเสียมากมาย

    สำหรับคนที่ไม่ประมาท การเตรียมตัวอย่างเนิ่น ๆ ทำให้ไม่สูญเสียมาก จึงทำใจปล่อยวางได้ ส่วนคนที่ทำใจไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้วก็คือผู้ที่ประมาท ไม่ได้เตรียมการใด ๆ ไว้เลย จึงสูญเสียทรัพย์สมบัติจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

    อุทกภัยครั้งนี้ให้บทเรียนที่สำคัญมากมาย ที่เห็นได้ชัดก็คือ เราไม่สามารถหลีกหนีวิบากหรือผลกรรมที่เราทำกับธรรมชาติได้ ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่เรามิอาจประมาทได้อีกต่อไป อันที่จริง มิใช่แต่ภัยธรรมชาติเท่านั้น แม้ภัยชนิดอื่น ๆ ก็ประมาทไม่ได้เช่นกัน คนทั่วไปนั้น ตราบใดที่ภัยยังอยู่ไกลตัว ก็มักชะล่าใจ ไม่คิดเตรียมการป้องกัน ครั้นมันจู่โจมถึงตัว ก็สายเสียแล้วที่จะรับมือกับมัน อุทกภัยครั้งนี้น่าเป็นข้อเตือนใจอย่างแรงว่า อย่าชะล่าใจแม้ภัยยังไม่ประชิดตัว
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    (ต่อ)
    อุทกภัยครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สอนให้เราตระหนักชัดถึงความไม่แน่นอนของสรรพสิ่ง มันกำลังบอกเราว่า ไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ไม่ช้าก็เร็วสิ่งเหล่านั้นต้องพลัดพรากจากเราไป ยิ่งยึดติดถือมั่นมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นทุกข์

    จะว่าไปแล้วเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเสมือนการบ้านที่ฝึกให้เรารู้จักปล่อยวาง เมื่อต้องเจอภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในวันหน้า มันสามารถเป็นได้ทั้งภัยพิบัติจากธรรมชาติ (ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงกว่านี้ในอนาคต) และภัยพิบัติที่เกิดแก่ชีวิต จะเป็นภัยพิบัติชนิดใดก็ตาม ล้วนนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งสิ้น ใช่หรือไม่ว่า ความสูญเสียที่เกิดจากอุทกภัยครั้งนี้ แม้จะมากเพียงใด ก็ยังเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

    จริงอยู่ บางคนอาจโชคดีที่รอดพ้นจากภัยธรรมชาติครั้งหน้าได้ แต่ภัยพิบัติที่เกิดแก่ชีวิตนั้น ไม่มีใครหนีพ้น โดยเฉพาะความตาย วันนี้ถึงเราจะสูญเสียไปมากมาย แต่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ ก็มีโอกาสที่จะหามาได้ใหม่ แม้สิ้นเนื้อประดาตัว ก็สามารถตั้งเนื้อตั้งตัวได้อีกไม่ช้าก็เร็ว แต่เมื่อถึงวันที่เราละจากโลกนี้ไป ไม่ว่ามีเท่าไหร่ก็สูญหมด ไม่เว้นแม้กระทั่งลมหายใจ

    หากเราไม่รู้จักปล่อยวางความสูญเสียจากอุทกภัยครั้งนี้ เราจะทำใจได้อย่างไรเมื่อต้องเจอความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ในอนาคต โดยเฉพาะในวันสิ้นลม

    อย่าชะล่าใจเพราะคิดว่าความตายนั้นยังอยู่อีกไกล ผู้ไม่ประมาทย่อมเตรียมตัวเสียแต่วันนี้โดยอาศัยเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนใจ

    ถ้ารู้จักเก็บเกี่ยวบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เราจะได้ทรัพย์อันประเสริฐที่มีค่ายิ่งกว่าสมบัติที่สูญเสียไป อย่างเทียบกันไม่ได้
    :-https://visalo.org/article/secret255501.htm
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    monkmeditate.jpg
    เป็นมิตรกับความเครียด

    พระไพศาล วิสาโล
    ความเครียดเป็นปัญหาสำคัญของคนในยุคนี้ มันไม่เพียงส่งผลต่อจิตใจเท่านั้น หากยังเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย มีการศึกษาพบว่าร้อยละ ๕๐-๗๕ ของความเจ็บป่วยที่ผลักดันให้ผู้คนไปหาหมอนั้นสืบเนื่องจากความเครียด ใช่แต่เท่านั้นเมื่อพิจารณาจากสาเหตุการตายแล้ว กล่าวได้ว่าความเครียดเป็นภัยที่ร้ายแรงกว่าเหล้าหรือบุหรี่เสียอีก

    อย่างไรก็ตามความเครียดมิใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียหมด ความเครียดหากอยู่ในระดับพอประมาณก็ส่งผลดีได้ เช่น กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ เป็นที่รู้กันว่าหากเรียนแบบสบาย ๆ ไม่มีการบ้านยาก ๆ หรือฝึกทำสิ่งที่แปลกใหม่ไม่คุ้นเคย ( พูดง่าย ๆ คือ ถ้าไม่ออกจาก “ไข่แดง”เสียบ้าง) พัฒนาการในทางสติปัญญาหรือทักษะก็เกิดขึ้นได้ยาก ในทำนองเดียวกันความเครียดที่เกิดจากเส้นตายหรือการแข่งขัน นอกจากไม่เป็นโทษแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการงานด้วย ทำให้ผู้คนเอาศักยภาพที่มีอยู่มาใช้อย่างเต็มที่

    แนวคิดดังกล่าวเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันแนวคิดนี้กำลังถูกตั้งคำถามมากขึ้น งานวิจัยล่าสุดชี้ว่าสิ่งสำคัญมิได้อยู่ที่ระดับความเครียด แต่อยู่ที่มุมมองของเราที่มีต่อความเครียดต่างหาก ความเครียดอย่างเดียวกัน หากเรามองมันต่างกัน ปฏิกิริยาในร่างกายก็ออกมาต่างกัน ทำให้มีผลต่อสุขภาพและการทำงานต่างกันไปด้วย

    เป็นที่รู้กันว่าเมื่อมีภัยคุกคาม คนเราจะมีปฏิกิริยาสองอย่าง คือ ไม่สู้ก็หนี ในภาวะดังกล่าวหัวใจจะเต้นเร็ว เส้นเลือดจะหดตัว เลือดจะถูกสูบฉีดเลือดไปยังกล้ามเนื้อมากขึ้น ขณะที่สมองจะจดจ่ออยู่กับภาพรวมและมองข้ามรายละเอียด ในกรณีที่สถานการณ์ไม่เลวร้ายมาก และหากเรามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมิใช่ภัยคุกคาม แต่เป็นสิ่งท้าทายความสามารถ ร่างกายจะมีปฏิกิริยาแตกต่างกัน แม้หัวใจยังคงเต้นเร็ว แต่สมองจะคมชัดขึ้น และมีฮอร์โมนบางอย่างหลั่งออกมาเพื่อช่วยในการฟื้นตัวและการเรียนรู้ โดยเส้นเลือดยังคงเปิดกว้าง ในทางตรงข้าม แม้เจอสถานการณ์อย่างเดียวกัน (เช่น ทำข้อสอบ พูดในที่ชุมชน หรือเสนอแผนงาน) แต่เรามองว่ามันเป็นสิ่งเลวร้าย รู้สึกเหมือนกับว่ากำลังถูกกดดันบีบคั้น ร่างกายจะมีปฏิกิริยาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและงานที่กำลังทำอยู่

    มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์เคยทำการทดลองกับพนักงานธนาคารจำนวน ๔๐๐ คนในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกได้ดูวีดีโอที่ตอกย้ำถึงผลร้ายของความเครียด กลุ่มที่สองดูวีดีโอที่พูดถึงความเครียดว่าสามารถเพิ่มพูนสมรรถนะของคนเราได้ ส่วนกลุ่มสุดท้ายไม่มีวีดีโอให้ดู หนึ่งสัปดาห์ต่อมา ผู้วิจัยพบว่ากลุ่มที่สองจดจ่อกับงานมากขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น และมีปัญหาสุขภาพน้อยลง ส่วนสองกลุ่มที่เหลือไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเลย

    ในการทดลองของมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ซึ่งทำกับนักศึกษาที่เตรียมสอบเข้าเรียนหลักสูตรปริญญาโท นักศึกษากลุ่มแรกได้รับการบอกว่าความเครียดระหว่างสอบเป็นเรื่องธรรมดาและอาจช่วยให้ทำข้อสอบได้ดีขึ้น ส่วนกลุ่มที่สองไม่มีการพูดคุยใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อมีการลองทำข้อสอบ ผลปรากฏว่ากลุ่มแรกทำคะแนนได้ดีกว่ากลุ่มที่สอง และเมื่อนำน้ำลายของนักศึกษาเหล่านี้ไปตรวจ ก็พบว่าความเครียดของนักศึกษากลุ่มแรกไม่ได้ลดลง ยังคงเครียดเท่า ๆ กับกลุ่มที่สอง ไม่กี่เดือนต่อมาเมื่อมีการสอบจริง นักศึกษากลุ่มแรกที่ถูกสอนให้มองความเครียดเป็นบวก ก็ยังคงทำคะแนนได้ดีกว่ากลุ่มที่สอง

    ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือเมื่อปี ๒๕๕๕ นักวิจัยชาวอเมริกันได้ย้อนกลับไปดูผลการสำรวจสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี ๒๕๔๑ ซึ่งมีการสอบถามคน ๓๐,๐๐ คนเกี่ยวกับความเครียดที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา รวมทั้งถามความเห็นว่าเขาเหล่านั้นเชื่อว่าความเครียดมีผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่ เมื่อตามไปดูว่าคนเหล่านั้นมีใครบ้างที่เสียชีวิตไปแล้ว ผู้วิจัยพบว่าคนที่ระบุว่ามีความเครียดสูงและเชื่อว่ามันมีผลเสียต่อสุขภาพ มีโอกาสตายก่อนวัยอันควรมากกว่าถึงร้อยละ ๔๓ ส่วนคนที่มีความเครียดสูงแต่ไม่คิดว่ามันเป็นอันตราย มีโอกาสตายเร็วน้อยกว่าคนที่มีความเครียดต่ำด้วยซ้ำ
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    (ต่อ)
    การศึกษาดังกล่าวชี้ว่า ความเครียดจะส่งผลดีหรือเสียอยู่ที่ทัศนคติของเราเป็นสำคัญ รู้กันมานานแล้วว่าใจมีผลต่อกาย แต่ที่ผ่านมาเรามักให้ความสำคัญกับภาวะอารมณ์ เช่น ดีใจหรือเสียใจ รักหรือโกรธ ผ่อนคลายหรือกังวล แต่ในความเป็นจริง แม้แต่ทัศนคติหรือมุมมองของเราก็ส่งผลต่อสุขภาพหรือความเป็นไปในร่างกายด้วย

    เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยลพบว่า คนอายุ ๔๐ ที่มีทัศนคติลบต่อวัยชรา (เช่น เห็นว่าคนแก่เป็นพวกเหม่อลอย เรียนรู้สิ่งใหม่ได้ยาก) เมื่อผ่านไป ๒๕ ปี เนื้อสมองในส่วนที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัสของคนเหล่านี้จะฝ่อลงมากกว่า รวมทั้งมีลิ่มเลือดมากกว่า ซึ่งล้วนเป็นตัวบ่งชี้ของโรคอัลไซเมอร์ สอดคล้องกับการวิจัยก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าคนที่มีอคติต่อวัยชราจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นใน ๔๐ ปีให้หลัง

    ทั้งหมดนี้บอกเราว่า อะไรเกิดขึ้นกับเรา ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรารู้สึกหรือมีทัศนคติต่อมันอย่างไร แม้สิ่งไม่ดีเกิดกับเรา แต่หากเรารู้สึกดีกับมัน หรือมองมันในแง่บวก มันก็อาจมีประโยชน์กับเราได้ หรืออย่างน้อยก็ก่อความเสียหายน้อยลง ผู้ป่วยหลายคนเมื่อรู้สึกดีกับมะเร็ง ก็สามารถอยู่กับมะเร็งได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าหากรู้สึกลบกับมัน ก็จะทุกข์ทรมานและตายเร็ว

    กับความเครียดก็เช่นกัน หากเราหนีมันไม่พ้น แทนที่จะผลักไสมัน หรือตีโพยตีพาย ควรมองมันในแง่บวก หรือปรับใจให้เป็นมิตรกับมัน ด้วยวิธีนี้เท่านั้นมันจะเป็นคุณกับเรา และกลายเป็นมิตรกับเราในที่สุด

    :-https://visalo.org/article/jitvivat255908.html
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    ดูแล “ตัวกู” ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง
    พระไพศาล วิสาโล
    หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร เป็นเจ้าอาวาสคนแรกของวัดถ้ำยายปริก เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ท่านเล่าว่าตอนมาบุกเบิกถ้ำยายปริกใหม่ ๆนั้น ประสบความลำบากมาก เพราะนอกจากน้ำกินน้ำใช้จะหายากแล้ว ยังถูกรังควานจากนักเลงเจ้าถิ่นบนเกาะสีชัง ที่ต้องการครอบครองที่ดินของวัด ท่านเองโดนคนเหล่านั้นด่าว่าบ่อย ๆ แต่ท่านก็หาได้หวั่นไหวไม่

    คราวหนึ่งท่านเดินผ่านหน้าบ้านของนักเลงคนหนึ่ง เขาเห็นเป็นโอกาส จึงออกมายืนด่าท่านด้วยถ้อยคำที่หยาบคายทันที แต่แทนที่ท่านจะโกรธหรือทำหูทวนลม ท่านกลับเดินเข้าไปหาแล้วจับแขนเขา ทำท่าขึงขังแล้วพูดว่า

    “มึงด่าใคร มึงด่าใคร”
    “ก็ด่ามึงน่ะสิ” เขาตอบกลับ
    ท่านยิ้มรับแล้วพูดว่า “อ๋อ แล้วไป ที่แท้ก็ด่ามึง ดีแล้ว อย่ามาด่ากูก็แล้วกัน”
    ว่าแล้วท่านก็เดินออกมา ปล่อยให้นักเลงผู้นั้นยืนงงอยู่พักใหญ่

    คำด่านั้นไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหนก็ไม่ทำให้เราทุกข์ตราบใดที่มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรา แต่หากคำด่านั้นมุ่งมาที่เรา(หรือเพื่อนพ้องของเรา) เราจะโมโหโกรธาขึ้นมาทันที ด่าใครก็ไม่สำคัญเท่ากับ “ด่ากู” เพราะ “ตัวกู” เป็นสิ่งที่ต้องพะเน้าพะนอ จะยอมให้อะไรมากระทบไม่ได้ ไม่ใช่แต่ “ตัวกู” เท่านั้น หากยังรวมถึง “พวกกู” และ “ของกู” ด้วยที่ต้องปกป้องมิให้อะไรมาแผ้วพานหรือกระทบกระทั่ง

    คนที่รู้เท่าทันนิสัยของตัวกูและไม่ทุกข์ร้อนกับคำด่าอย่างหลวงพ่อประสิทธิ์นั้นมีน้อยมาก แทนที่จะมองว่าเขา “ด่ามึง” ไม่ใช่ “ด่ากู” ส่วนใหญ่แล้วมักสมยอมรับเอาคำด่าเหล่านั้นมาเป็น “ของกู” เสร็จแล้วก็เป็นทุกข์เป็นร้อนเอง

    อย่าว่าแต่คำด่าเลย แม้กระทั่งคำวิจารณ์หรือคำติติงที่มิได้เกี่ยวข้องอะไรกับตัวเรา แต่มุ่งหมายไปที่สิ่งของของเรา (เช่น เสื้อผ้า โทรศัพท์ รถยนต์ ) ก็สามารถทำให้เราเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาได้ เพราะ“ของกู” ก็คือ “ตัวกู” นั่นเอง เป็นธรรมชาติของตัวกูที่มักยึดมั่นสำคัญหมายสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็น “ของกู” และดังนั้นจึงเป็น “ตัวกู”ไปด้วย

    ความยึดมั่นสำคัญหมายดังกล่าวเป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ของผู้คน ทำให้ตกอยู่ในอำนาจแห่งถ้อยคำและการกระทำของผู้คน ทั้งมิตรและอมิตร อย่างมิอาจสลัดได้ อีกทั้งยังทำให้ไม่อาจยอมรับความจริงของโลกและชีวิตที่มีความผันผวนปรวนแปรเป็นธรรมดา ดังนั้นเมื่อต้องสูญเสียพลัดพรากจากสิ่งที่ถือว่าเป็น “ของกู” จึงทำใจไม่ได้ แทนที่จะเสียของอย่างเดียว ก็เสียใจซ้ำเข้าไปอีก ขณะเดียวกันเมื่อถูกวิจารณ์หรือมีคนชี้ให้เห็นความผิดพลาดของความคิดและการกระทำของตน ก็ไม่ยอมรับความจริงหรือเปิดใจยอมรับสิ่งที่ดีกว่า เพียงเพราะมันไม่ใช่ความคิด “ของกู”หรือตรงกับความคิด “ของกู”

    คนเราถ้าไม่เอา “ตัวกู” หรือ “ของกู” เป็นตัวตั้ง จิตใจก็จะเปิดกว้างยอมรับความจริงที่ไม่น่าพิสมัยได้มากมาย รวมทั้งความพลัดพรากสูญเสียและคำวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่ทุกข์ร้อน อีกทั้งยังสามารถทำสิ่งดีงามได้อีกมากมายอย่างแทบไม่มีขอบเขตเลยก็ว่าได้

    ริชาร์ด ดอว์กินส์ นักวิทยาศาสตร์และนักเขียนชื่อดัง ได้เล่าถึงศาสตราจารย์อาวุโสผู้หนึ่งแห่งคณะสัตววิทยา มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด เป็นผู้ที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างมากในวงการชีววิทยา ท่านผู้นี้มีความมั่นใจและสอนลูกศิษย์มานานหลายปีว่า Golgi Apparatus (กลไกอย่างหนึ่งภายในเซลล์)ไม่มีอยู่จริง เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดไปเอง แล้ววันหนึ่งนักชีววิทยาหนุ่มผู้หนึ่งจากอเมริกามาบรรยายที่อ็อกซฟอร์ด โดยมีอาจารย์จากคณะสัตววิทยาไปร่วมฟังทั้งคณะ นักชีววิทยาผู้นี้ได้นำเสนอหลักฐานอย่างหนักแน่นและน่าเชื่อถือเพื่อยืนยันว่า Golgi Apparatus นั้นมีอยู่จริง เมื่อเขาบรรยายจบ ศาสตราจารย์ท่านนี้เดินไปหาเขา เขย่ามือเขา และพูดด้วยความรู้สึกยินดีว่า “เพื่อนรัก ผมขอขอบคุณ ผมผิดมาถึง ๑๕ ปี” พูดจบทั้งห้องก็ตบมือดังสนั่น

    ศาสตราจารย์ท่านนี้ไม่รู้สึกเสียหน้าที่พบว่าความคิดของตนนั้นผิดพลาด ท่านกลับยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน เพราะท่านเอา “ความรู้” หรือ “ความจริง”เป็นใหญ่ “ตัวกู”จึงไม่มีโอกาสเผยอหน้าขึ้นมาอาละวาดหรือแก้ตัว แต่คนส่วนใหญ่นั้นมักเอา “ตัวกู” เป็นตัวตั้ง หากพบว่าความคิด “ของกู”ถูกท้าทายหรือมีคนชี้ให้เห็นข้อผิดพลาด ก็จะไม่พอใจ ไม่ยอมรับความจริง แม้จำนนด้วยเหตุผล ก็ไม่ยอมรับความผิดพลาด เพราะขัดกับความต้องการของ “ตัวกู”ที่ต้องการประกาศความยิ่งใหญ่ และปรารถนาจะยืนยันร่ำร้องว่า “กูเก่ง” “กูถูก” “กูแน่”

    เมื่อเอา ความรู้ ความจริง หรือความถูกต้องเป็นใหญ่ เราก็พร้อมแสวงหา เปิดรับและชื่นชมสิ่งนั้นจากทุกคน โดยไม่เลือกว่าเป็นหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ จบป.๔หรือปริญญาเอก คนจนหรือคนรวย แต่เมื่อใดที่เอา “ตัวกู”เป็นใหญ่ หน้าตา ศักดิ์ศรี และสถานภาพก็กลายเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันก็เกิดการถือ “เรา” ถือ “เขา” หรือ “พวกเรา”กับ “พวกเขา” ขึ้นมา จะฟังใครก็ต้องดูก่อนว่าเป็นพวกเราหรือพวกเขา หากเป็นพวกเรา พูดอะไรก็ถูกหมด แต่ถ้าเป็นพวกเขา พูดอะไรก็ผิดไปหมด
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    (ต่อ)
    เมื่อยึดติดถือมั่นในตัวกูและมีการแบ่งเราแบ่งเขา หากได้ยินได้ฟังอะไร อย่างแรกที่เราสนใจก็คือ “คนพูดเป็นใคร เป็นพวกเราหรือไม่” แต่ไม่สนใจที่จะถามว่า “สิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นความจริงหรือไม่” เพราะหากเป็นพวกเราพูด ก็พร้อมจะเชื่อว่าเป็นความจริงตั้งแต่ต้น โดยไม่ต้องพินิจพิจารณา โดยเฉพาะหากเป็นการพูดที่ถูกใจเราหรือสอดคล้องกับความคิดความเชื่อของเรา ในทางตรงข้าม หากเป็นคนละฝ่ายกับเรา ไม่ว่าจะพูดอะไร เราก็ตั้งท่าปฏิเสธไว้ก่อน ยิ่งสิ่งที่พูดนั้นขัดแย้งกับความเชื่อของเราด้วยแล้ว ก็ไม่สนใจแม้แต่จะฟังด้วยซ้ำ ทำให้ความจริงจากอีกฝ่ายยากที่จะเข้าถึงใจของเราได้

    การแบ่งเราแบ่งเขาหากมีความโกรธเกลียดเป็นมูลฐานด้วยแล้ว ย่อมก่อให้เกิดกำแพงแห่งอคติอันแน่นหนา ซึ่งไม่เพียงปิดกั้นความคิดเห็นหรือแม้แต่ความจริงจากคนที่อยู่คนละฝ่ายกับเราเท่านั้น หากยังทำให้เราปฏิเสธทุกอย่างที่เป็นของเขา ซึ่งรวมถึงความเป็นมนุษย์ในตัวเขาด้วย นั่นคือมองเห็นเขาเป็นตัวเลวร้าย เชื่อถือไม่ได้ ไร้คุณธรรม ฉวยโอกาส มุ่งเอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ มีการติดป้ายใส่ยี่ห้อเพื่อทำลายความเป็นมนุษย์ในตัวเขา ด้วยการแสดงความดูหมิ่นดูแคลนหรือประนามหยามเหยียด การกระทำดังกล่าวได้ตอกย้ำทำให้อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเขากลายเป็นสิ่งเลวร้ายไปหมดในสายตาของเรา ไม่เว้นแม้แต่คุณค่าที่เขาเชิดชูหรือยึดถือ

    ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองเป็นเหลืองและแดงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งในเรื่องรูปแบบทางการเมืองที่พึงปรารถนา ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับเสียงข้างมาก อีกฝ่ายต้องการการเมืองที่มีคุณธรรม ไร้การคอร์รัปชั่น ท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าวได้มีการกล่าวประณามหยามเหยียดจนเกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรง ถึงขั้นสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงต่อกัน จนเกิดเหตุการณ์นองเลือดระหว่างการล้อมปราบของฝ่ายรัฐ มีการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในฝ่ายของคนเสื้อแดง

    นอกจากการโจมตีต่อต้านจุดยืนทางการเมืองของกันและกันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันก็คือ ท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคุณค่าที่แต่ละฝ่ายยึดถือด้วย คนเสื้อเหลืองจำนวนไม่น้อยรู้สึกรังเกียจกับคำว่าประชาธิปไตย ความยุติธรรม (และแสลงหูกับคำว่าสองมาตรฐาน ความเหลื่อมล้ำ) ขณะเดียวกันคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยก็รังเกียจกับคำว่า คุณธรรม ความดีงาม ความซื่อสัตย์สุจริต (และแสลงหูกับคำว่า คอร์รัปชั่น) ทั้งนี้ก็เพราะถ้อยคำและคุณค่าเหล่านี้ถูกมองว่าผูกโยงอยู่กับฝ่ายตรงข้ามกับตน จึงมีความรู้สึกในทางลบจนเห็นว่าเป็นสิ่งเลวร้ายไปเลย

    นั่นเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะทั้งประชาธิปไตย ความยุติธรรม รวมทั้งคุณธรรมความดี ความซื่อสัตย์สุจริต ล้วนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคนและจำเป็นต่อสังคมไทยในยุคนี้ ใช่แต่เท่านั้นมันยังเป็นคุณค่าที่ฟูมฟักอยู่แล้วในใจของทุกคนไม่ว่าเหลืองหรือแดง การปฏิเสธคุณค่าเหล่านี้ไม่ว่าอันใดอันหนึ่ง หมายถึงการปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่ในตนเอง รวมทั้งปิดโอกาสที่คุณค่าเหล่านี้จะเจริญงอกงามในใจตนเพื่อชีวิตที่มีคุณค่า

    เกษียร เตชะพีระ นักรัฐศาสตร์ที่ติดตามการเมืองไทยมานาน พูดไว้อย่างน่าฟังว่า “ชีวิตคนเราซับซ้อนเกินกว่าจะมีเพียงสีเดียว ถ้าตีความสีว่า "เหลือง"เป็นการต่อสู้คอร์รัปชั่น ไม่ยอมรับอำนาจผูกขาดโดยการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมซึ่งเราก็อาจมีตรงนั้นอยู่ในตัว ขณะเดียวกันเราก็มีสีแดง (คือ)การเมืองประชาธิปไตย ยึดหลักเสียงส่วนมาก สิ่งที่น่าเศร้าคือความขัดแย้งทางการเมืองบังคับให้เราเป็นสีเดียว บางทีเราชอบส่วนหนึ่งของเหลืองและส่วนหนึ่งแดงด้วย”

    เกษียร ได้ชี้ว่าการเห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรู จนมุ่งร้ายต่อเขาและปฏิเสธทุกอย่างที่เป็นตัวเขานั้น ได้ส่งผลร้ายย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง “ความรุนแรงอย่างแรกที่กระทำคือกระทำกับตัวเอง เพราะในท่ามกลางความขัดแย้งเราทำลายสีอื่นที่อยู่ในตัวเอง เราอยากเป็นเหลืองเราทำลายความเป็นแดง คุณอยากเป็นแดงคุณทำลายความเป็นเหลือง ก่อนที่คุณจะทำลายคนอื่นคุณทำร้ายตัวเอง คุณก็เป็นมนุษย์น้อยลง เหลือมิติเดียว ถ้าไม่รู้จักหยุดตรงนั้น คุณจะเกลียดส่วนนั้นของชีวิตและทำร้ายคนอื่น ใช้ความรุนแรงต่อคนอื่น”

    การยึดติดถือมั่นกับการแบ่งเราแบ่งเขานั้น ในที่สุดย่อมบั่นทอนชีวิตจิตใจของเราเอง ยิ่งเราเห็นอีกฝ่ายมีความเป็นมนุษย์น้อยเพียงใด ความเป็นมนุษย์ของเราก็ยิ่งน้อยลงเพียงนั้น โดยที่กำแพงแห่งอคติจะยิ่งปิดกั้นมิให้เราได้สัมผัสกับความจริงและความดีงามที่พึงปรารถนาเลย หรืออาจถึงกับกัดกร่อนคุณค่าที่เคยยึดถือแต่เดิมก็ได้ การแบ่งเราแบ่งเขาและกำแพงแห่งอคตินั้นไม่ได้มาจากไหน หากมาจากการยึดถือ “ตัวกู”เป็นใหญ่นั่นเอง ต่อเมื่อรู้เท่าทันมัน และพยายามเอาความจริง ความดีงามเป็นตัวตั้ง มันจึงจะอยู่เป็นที่เป็นทางและยากที่จะก่อผลร้ายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
    :-
    https://visalo.org/article/jitvivat255404.htm
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    พบสิ่งใหม่ในความซ้ำ
    พระไพศาล วิสาโล
    นักปราชญ์กรีกคนหนึ่งชื่อเฮราคลิตุส วาทะประโยคหนึ่งของเขาที่มีชื่อเสียงมากก็คือ “ไม่มีใครที่ก้าวเท้าลงไปในแม่น้ำสายเดียวได้ ๒ ครั้ง” เราทุกคนทำได้แค่ครั้งเดียว เพราะถ้าก้าวลงไปอีกครั้ง มันก็เป็นแม่น้ำสายใหม่แล้ว แม้ว่าชื่อมันยังเป็นชื่อเดิม คือ ลำปะทาว เจ้าพระยา ชี มูล หรือบางปะกง เมื่อวานกับวันนี้ มันยังมีชื่อเดิม แต่ที่จริงแม่น้ำเมื่อวานกับวันนี้เป็นแม่น้ำคนละสาย ที่เห็นตอนนี้เป็นแม่น้ำสายใหม่ มันไม่ใช่แค่เมื่อวาน แม้วินาทีที่ผ่านมากับวินาทีนี้ แม่น้ำที่อยู่ต่อหน้าเราก็เป็นแม่น้ำคนละสาย เราจึงไม่สามารถก้าวเท้าลงไปในแม่น้ำสายเดิมได้ ๒ ครั้ง ทำได้แค่ครั้งเดียว

    เทียนที่เราจุดก็เหมือนกัน วินาทีที่แล้วกับวินาทีนี้ มันเป็นเทียนคนละเล่ม ลองถ่ายรูปหรือเอาไปชั่งน้ำหนักดู ก็จะพบว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงขึ้น คือสั้นลงหรือเบาลง เพราะฉะนั้นทุกอย่างไม่เคยซ้ำเดิม มันไม่ซ้ำซาก มันใหม่เสมอ อยู่ที่ว่าเราจะสังเกตไหม อยู่ที่ใจของเรา

    ในสมัยพุทธกาลมีพระรูปหนึ่ง ชื่อ พระจูฬปันถกะ ท่านมีพี่ชายชื่อพระมหาปันถกะ เป็นคนฉลาดมาก บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้เร็ว ตรงข้ามกับท่านจูฬปันถกะ เป็นคนสมองทึบ มีความจำที่แย่มาก แค่คาถาเดียวท่านใช้เวลา ๔ เดือนก็ยังจำไม่ได้ จนพี่ชายไล่ออกไปจากสำนัก ท่านจูฬปันถกะเสียใจมากจึงคิดจะสึก บังเอิญได้พบพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเห็นว่าท่านจูฬปันถกะเป็นผู้ที่มีความตั้งใจ ถึงจะโง่เพียงใดก็สามารถบรรลุธรรมได้

    พระพุทธเจ้าจึงประทานผ้าขาวบริสุทธิ์ให้ แล้วตรัสสั่งให้ท่านจูฬปันถกะลูบคลำผ้าผืนนั้นพร้อมกับบริกรรมด้วยคำสั้นๆ ว่า รโชหรณํ (ระ-โช-หะ-ระ-นัง) แปลว่าผ้าเปื้อนฝุ่น ท่านจูฬปันถกะเป็นคนว่าง่าย เมื่อพระพุทธองค์สั่ง ก็ทำตาม ท่านลูบผ้าไปเรื่อยๆ ลูบไปก็ท่องรโชหรณํๆๆ ไปด้วย ตอนแรกก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอลูบไปนานๆ ผ่านไปหลายชั่วโมง ผ้าก็เริ่มคล้ำ ที่จริงมันไม่ใช่เพิ่งคล้ำ มันเริ่มคล้ำทันทีที่ถูกลูบคลำแล้ว แต่ไม่ปรากฏชัดเจน ครั้นลูบไปนานๆ รอยคล้ำที่เกิดจากฝุ่นก็มีมากขึ้นจนมองเห็นได้ชัดเจน

    ทีแรกท่านจูฬปันถกะลูบผ้าโดยไม่ได้คิดอะไร ท่านลูบเพียงเพราะพระพุทธเจ้าสั่ง แต่เมื่อลูบไปนานๆ ทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเห็นว่าผ้าขาวกลายเป็นผ้าคล้ำ ความที่ท่านท่องรโชหรณํ ท่องไปนานๆ จิตก็แนบแน่นอยู่กับคำดังกล่าวจนเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ สงบตั้งมั่น พอเห็นความคล้ำของผ้า ก็ได้คิดขึ้นมาว่า ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อเช้าผ้ายังขาว แต่ตอนนี้มันหมองคล้ำเสียแล้ว ท่านยังเห็นต่อไปว่า ฝุ่นทำให้ผ้าคล้ำ เฉกเช่นกิเลสทำให้จิตมัวหมอง ผ้าคล้ำเพราะฝุ่น จิตก็หมองทุกข์เพราะกิเลส ได้คิดเช่นนี้ท่านก็เห็นโทษของกิเลส ขณะเดียวกัน เมื่อได้เห็นอนิจจังของผ้า ท่านก็เกิดปัญญาแจ่มแจ้งในพระไตรลักษณ์ บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา

    จากคนโง่ที่หวังเอาดีทางธรรมแทบไม่ได้ กลับกลายเป็นพระอรหันต์ ทั้งนี้เป็นเพราะท่านขยันทำซ้ำๆ ทุกครั้งที่ท่านลูบผ้า ผ้าไม่ใช่ผืนเดิม เป็นผ้าผืนใหม่ มันมีความคล้ำหรือความสกปรกเกิดขึ้นทีละนิดๆ เป็นผลของการทำซ้ำๆ พิจารณาให้ดีจะพบว่า ไม่ใช่แต่การลูบผ้าเท่านั้น อะไรก็ตามที่เราทำซ้ำๆ ที่จริงมันไม่ซ้ำเดิม มันเป็นของใหม่อยู่เสมอ แต่เราเข้าใจผิดว่ามันเป็นความซ้ำซาก พอมองว่าซ้ำซากก็เลยกลายเป็นความจำเจ พอเห็นว่าจำเจ ความเบื่อก็เกิดขึ้นตามมา

    ที่จริงแม้ว่าเป็นการทำซ้ำๆ แต่อย่าลืมว่าชีวิตของเราอยู่ได้ก็เพราะการทำอะไรซ้ำๆ นี่แหละ ทุกวันเราต้องกินข้าว เช้าก็ข้าว กลางวันก็ข้าว เย็นก็ข้าว พรุ่งนี้ก็กินข้าว มะรืนก็กินข้าว สมัยก่อนคนไทยยังไม่รู้จักขนมปัง ก็กินข้าวได้ทุกวัน ทุกวันนี้เรากินข้าวทุกวันเหมือนกัน ไม่เห็นมีใครบ่นว่ามันซ้ำซาก ทุกวันเราต้องเข้านอน นอนวันละ ๗-๘ ชั่วโมง ก็ไม่เห็นใครบ่นว่ามันซ้ำซาก

    ยิ่งลมหายใจแล้วยิ่งเห็นชัด หายใจเข้าหายใจออกอยู่อย่างนี้ทั้งปีทั้งชาติ ตั้งแต่เกิดจนตาย ลมหายใจเรามี ๒ จังหวะเท่านั้น คือ เข้าและออก เข้าและออก เข้าและออก มันไม่ใช่แค่เข้านานๆ ที และออกนานๆ ที มันเข้าออกแทบทุกวินาที ก็ไม่มีใครบ่นว่าทำไมถึงหายใจซ้ำซาก ปอดกับหัวใจของเราก็เหมือนกัน มันยุบและขยายอย่างนี้ทุกวัน ทุกวินาที ดูให้ดีจะพบว่าชีวิตเราต้องพึ่งพาอาศัยความซ้ำๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย เราเป็นหนี้บุญคุณความซ้ำ จึงไม่ควรรังเกียจมัน ควรเห็นอานิสงส์ของความซ้ำ เห็นคุณค่าของมันบ้าง
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    (ต่อ)
    จะว่าไป เราควรฝึกใจให้คุ้นกับความซ้ำเสียแต่ตอนนี้ เพราะต่อไปจะต้องไปเจอกับความซ้ำแบบที่ไม่อยากจะเจอ เช่น เวลาเจ็บป่วย ต้องนอนติดเตียง หรือนอนอยู่ในท่าเดียว ยิ่งกว่าซ้ำอีก แถมอาจจะต้องกินอาหารที่ซ้ำ เพราะว่าเป็นเบาหวาน จึงต้องคุมอาหาร โรคบางชนิดพอเป็นหนักแล้วเราจะกินอะไรไม่ได้มาก ต้องกินอาหารที่ซ้ำๆ ชีวิตของพวกเราแต่ละคนมีโอกาสมากที่จะไปอยู่ในสภาพนั้นในอนาคต คือนอนติดเตียงเป็นเดือน วันๆ ไม่เห็นอะไรนอกจากเพดาน ผนัง ซ้ำเดิม เพราะไปไหนไม่ได้ อยู่ในห้องเดิมๆ ๒๔ ชั่วโมง อยู่บนเตียงตัวเดิม อาหารอย่างเดิม ถ้าเราไม่รู้จักทำใจให้ใหม่เสมอกับสิ่งซ้ำๆ ถึงเวลาที่เราต้องนอนติดเตียงเพราะป่วยหนัก หรือเกิดเป็นอัมพาต จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต จะทุกข์ทรมานมาก

    คนสมัยนี้ขี้เบื่อ เพราะว่าได้เสพได้สัมผัสกับอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เล็กก็ว่าได้ หลายคนติดโทรทัศน์ตั้งแต่อายุ ๒-๓ ขวบ คนที่เติบโตมากับโทรทัศน์ จะว่าไปก็น่าสงสาร เพราะเขาเห็นแต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในจอ ลองสังเกตดูจอโทรทัศน์ มันไม่ค่อยมีภาพนิ่งๆ เกิน ๕ วินาที ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา หนัง ละคร ยกเว้นสารคดี แม้แต่สารคดีก็ต้องเปลี่ยนภาพฉับไวตลอดเวลา เด็กที่โตมากับโทรทัศน์ ไอแพด ยูทูบ จะเป็นคนที่เบื่อง่าย ถ้าเจออะไรที่ซ้ำๆ แค่ ๕ วินาที พอเจออะไรซ้ำๆ ก็เลยรู้สึกเบื่อ

    ที่จริงแม้แต่ความเบื่อ มองให้ดีมันมีประโยชน์ จะว่าไปแล้ว เราโชคดีที่เจอความเบื่อ เพราะความเบื่อเป็นตัวบ่งชี้ว่าชีวิตเราตอนนี้ราบรื่นเป็นปกติ ไม่มีอะไรย่ำแย่เลวร้ายเกิดขึ้น แต่เมื่อใดที่ชีวิตของเราเกิดไม่ปกติขึ้นมา ความเบื่อจะหายไป มีอารมณ์อย่างอื่นมาแทนที่ ซึ่งแย่กว่าความเบื่อเสียอีก เช่น ถ้ามีคนมาด่าเรา เราจะยังรู้สึกเบื่อไหม ไม่เบื่อแล้ว เพราะมีความโกรธมาแทน ถ้าเงินหาย รถถูกขโมย ถามว่ายังจะเบื่ออยู่ไหม ไม่เบื่อแล้ว เพราะมีความเสียใจและเคืองแค้นมาแทน ถ้าเกิดแฟนทิ้ง ขอเลิก เราจะยังเบื่ออยู่ไหม ไม่เบื่อแล้ว เพราะมีความโศกเศร้าและกลุ้มใจมาแทน ถ้าหากงานมีปัญหา เราจะไม่รู้สึกเบื่อ แต่จะรู้สึกหนักใจ เครียดจัด ถ้าเกิดคนรักตาย ก็ไม่รู้สึกเบื่อเช่นกัน เพราะความเศร้าเสียใจ อาลัยอาวรณ์ มาแทน

    ลองถามตัวเอง ระหว่างความโกรธ ความเศร้า ความเสียใจ ความอาลัยอาวรณ์ ความหนักอกหนักใจ กับความเบื่อ จะเลือกอะไร เราคงจะเลือกความเบื่อ ความเบื่อดีกว่าความโกรธ ดีกว่าความเศร้า ดีกว่าความเสียใจ ดีกว่าความหนักใจ ดีกว่าความกลุ้มใจ ใคร่ครวญให้ดี ความเบื่อแสดงว่าชีวิตเราปกติ ราบรื่น ถ้าชีวิตเราไม่ปกติ เราจะไม่เบื่อ มันจะมีความรู้สึกอื่นมาแทนที่ อย่างที่ยกตัวอย่างไป เราชอบไหม ระหว่างชีวิตปกติกับชีวิตที่ไม่ปกติ มีเหตุร้ายเกิดขึ้น จะเลือกอะไร ระหว่างชีวิตปกติกับชีวิตที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น ทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิม เช่น สูญเสียคนรัก เงินหาย ถูกต่อว่าด่าทอ ถูกแฟนทิ้ง งานมีปัญหา ถูกไล่ออกจากงาน ดังนั้นเราควรตระหนักว่าเราโชคดีที่รู้สึกเบื่อ มันแสดงว่าชีวิตเราปกติ ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น จึงควรขอบคุณความเบื่อและอยู่กับความเบื่อให้ได้ ต่อไปถ้าเราฝึกใจให้คุ้นชินกับสิ่งซ้ำๆ ได้ก็จะไม่รู้สึกเบื่อ
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256211.html
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    บ่าวที่ดี นายที่เลว
    พระไพศาล วิสาโล
    “บ่าวที่ดี นายที่เลว” เป็นนิยามหนึ่งของเงิน เงินมีคุณประโยชน์มากมายหากเรารู้จักใช้มัน นอกจากช่วยให้เราและครอบครัวมีชีวิตที่ผาสุกแล้ว เงินยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเกื้อกูลผู้อื่นและสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ส่วนรวม แต่หากเราปล่อยให้มันเป็นนายเรา ครอบงำชีวิตจิตใจของเรา ความเดือดร้อนก็จะตามมาทั้งกับเราและผู้อื่น คนจำนวนไม่น้อยยอมทำชั่วก็เพราะเงิน ไม่ใช่แค่คดโกงเท่านั้น แต่อาจถึงขั้นทำร้ายผู้อื่น แม้กระทั่งบุพการีก็ไม่ละเว้นหากมีมรดกก้อนใหญ่รออยู่ หลายคนแม้จะหักห้ามใจไม่ทำชั่วเพราะเงิน แต่ก็ยอมตายเพื่อมันหากมีใครมาแย่งชิงเอาไป หรือตรอมตรมจนล้มป่วยเมื่อสูญเสียมันไป ที่ฆ่าตัวตายก็มีไม่น้อย เมื่อยอมให้เงินมาเป็นใหญ่เสียแล้ว เป็นธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ย่อมหวงแหนมันยิ่งกว่าหวงแหนชีวิต

    แต่จะว่าไปแล้ว ไม่ใช่เงินเท่านั้น ความคิดก็เป็น“บ่าวที่ดี นายที่เลว” ด้วยเช่นกัน ความคิดเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราอยู่รอดปลอดภัยไกลจากอันตราย เราใช้ความคิดเพื่อแก้ปัญหาก้าวข้ามอุปสรรคทั้งหลาย ถ้าคิดไม่เป็นหรือคิดไม่ถูก ชีวิตเราย่อมเต็มไปด้วยความยุ่งยากนานัปการ แต่ถึงจะคิดเป็นหรือคิดเก่ง ถ้าวางความคิดไม่ได้ ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ ชีวิตก็เป็นทุกข์เช่นกัน เช่น ฟุ้งซ่านจนนอนไม่หลับ วิตกกังวลจนป่วย คนที่คลุ้มคลั่งจนเป็นบ้าหรือถึงกับฆ่าตัวตายก็เพราะปล่อยให้ความคิดรุมเร้าจิตบงการใจอย่างมิอาจควบคุมได้ มิใช่หรือ

    ความคิดใดความคิดหนึ่งเมื่อกลายมาเป็นนายเรา มันไม่เพียงสร้างปัญหาให้เราเท่านั้น หากยังก่อความทุกข์แก่ผู้อื่นได้ด้วย อาการที่เกิดขึ้นบ่อยก็คือ เมื่อรู้ว่าคนอื่นมีความคิดที่แตกต่างจากเรา เราจะรู้สึกทนไม่ได้ ทั้งนี้เพราะรู้สึกว่าความคิดของเรากำลังถูกท้าทายหรือมีคู่แข่ง เราจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องความคิดนั้น เริ่มจากโต้แย้ง หักล้าง คัดง้าง และโจมตีความคิดของเขา รวมทั้งลดความน่าเชื่อถือของมันด้วย ทั้ง ๆ ที่เขายังไม่ได้ทำอะไรเราเลย เพียงแค่แสดงความเห็นที่ต่างจากเรา เราก็รู้สึกไม่พอใจเขาเสียแล้ว นอกจากเล่นงานความคิดของเขาแล้ว เรายังอาจโจมตีตัวเขา ด้วยการต่อว่าด่าทอ หรือใช้ผรุสวาท หากเขาตอบโต้เพื่อปกป้องความคิดของเขา เราก็จะเล่นงานเขาหนักขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นการทะเลาะวิวาท

    เมื่อความคิดกลายเป็นนายเรา ก็ง่ายมากที่เราจะมองคนอื่นที่คิดต่างจากเราเป็นศัตรู หรือปฏิบัติต่อเขาราวกับเป็นคนละพวก แม้จะเป็นมิตรสหาย พี่น้อง คู่รัก หรือพ่อแม่ เราก็อาจตัดสัมพันธ์กันได้ง่าย ๆ เพียงเพราะคิดต่างกัน แต่นั่นก็ยังไม่ร้ายเท่ากับการทำร้ายกันถึงชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ สงครามระหว่างศาสนา สงครามระหว่างอุดมการณ์ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็เพราะผู้คนปล่อยให้ความคิดกลายเป็นนายตน จนพร้อมที่จะฆ่าฟันผู้คนทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักเพียงเพื่อปกป้องความคิดที่ตนยึดถืออย่างหัวปักหัวปำ

    ผู้คนปล่อยให้ความคิดกลายเป็นนายตนได้อย่างไร คำตอบก็คือ ความยึดติดถือมั่น นี้เป็นสาเหตุเดียวกับที่เงินกลายเป็นนายของใครต่อใคร เมื่อใดก็ตามที่เรายึดติดถือมั่นว่าเงินก้อนนี้เป็น “ของกู” เราก็กลายเป็น “ของมัน” ไปทันที ยิ่งยึดติดถือมั่นอย่างแรงกล้า เราก็พร้อมจะตายเพื่อมัน หรือทำร้ายคนอื่นเพื่อมัน ความคิดก็เช่นกัน ทันทีที่เรายึดติดถือมั่นว่าความคิดนี้เป็น “ของกู” อีกทั้งยังเป็นความคิดที่ประเสริฐและถูกต้อง เราก็กลายเป็น “ของมัน” ไปโดยไม่รู้ตัว ยอมทำทุกอย่างเพื่อมัน แม้จะต้องตัดญาติขาดมิตรกับผู้คน ก็ไม่ยี่หระ

    ความยึดติดถือมั่นหากกระทำอย่างเหนียวแน่น ก็ทำให้เราหลงตัวลมตนได้ง่าย จนยอมทำทุกอย่างแม้เป็นความเลวร้ายหรือเป็นโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้ก็เพื่อสิ่งที่ตนยึดติดถือมั่นนั้น ผลก็คือ แทนที่มันจะเป็นเครื่องมือของเรา มันกลับมาเป็นนายเรา แม้ความคิดนั้นจะเป็นสิ่งประเสริฐหรือถูกต้อง แต่หากยึดติดถือมั่นจนลืมตัวแล้ว เราก็สามารถทำสิ่งต่ำทรามหรือความผิดอันมหันต์ได้ ดังคนจำนวนไม่น้อยที่ยึดติดถือมั่นในศาสนาที่รักสันติ แต่กลับลงเอยด้วยการประหัตประหารผู้คนเพียงเพราะเขานับถือศาสนาต่างจากตน
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    (ต่อ)
    ถ้าอยากเป็นนายความคิด แทนที่จะให้ความคิดเป็นนายเรา เราจำต้องมีสติรู้ทันความคิดนั้น เมื่อมันผุดขึ้นมาในใจ ก็รู้ว่ามันเป็นแค่ความคิดไม่ใช่ “ตัวกู” อีกทั้งสามารถวางมันลงได้เมื่อไม่ใช้งาน ที่สำคัญก็คือหมั่นตรวจสอบใคร่ครวญมันอยู่เสมอ ประหนึ่งหยิบเครื่องประดับมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทำให้เห็นตำหนิหรือข้อจำกัดของมัน ไม่สำคัญมั่นหมายว่ามันเลอเลิศสมบูรณ์พร้อม

    มีท่าทีอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เราไม่หลงยึดมั่นในความคิดใดความคิดหนึ่งจนคับแคบมืดบอด พระพุทธเจ้าเรียกว่า “สัจจานุรักษ์” (การคุ้มครองสัจจะหรือรักความจริง)นั่นคือ การไม่ยืนกรานยึดติดว่าสิ่งที่ตนรู้หรือคิดเห็นเท่านั้นที่ถูกต้องและเป็นจริง ดังมีพุทธพจน์ว่า “วิญญูชน เมื่อจะคุ้มครองสัจจะ ไม่ควรลงความเห็นในเรื่องนั้นเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล(ทั้งนั้น)” ทัศนคติดังกล่าวช่วยให้เราเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ดูถูกคนที่เห็นต่างจากตน หรือด่วนสรุปว่าเขา “โง่” “ผิด” หรือ “ชั่วร้าย”

    ความคิดที่เรายึดถือนั้น แม้จะไตร่ตรองมาอย่างดี ก็ไม่ควรมั่นใจว่าเป็นความถูกต้องสมบูรณ์ ถ้าไม่อยากให้ความคิดพาเราเข้ารกเข้าพง ควรตรวจสอบหรือทักท้วงความคิดของตนอยู่เสมอ รวมทั้งคิดเผื่อไว้บ้างว่า ความคิดนั้นอาจมีข้อบกพร่องหรือผิดพลาดก็ได้ เพราะเราเป็นปุถุชน ย่อมมีการรับรู้ที่จำกัด หากเราตระหนักว่าสิ่งที่เราไม่รู้นั้นยังมีอีกมาก และอาจมากกว่าสิ่งที่เรารู้ด้วยซ้ำ เราจะไม่หลงยึดมั่นความคิดใดจนมืดบอด

    เป็นธรรมดาที่ผู้ยึดติดถือมั่นในความคิด ย่อมรู้ตัวได้ยาก เพราะถูกความคิดนั้นครอบงำจิตใจจนลืมตัว แต่สิ่งหนึ่งที่เตือนให้เรารู้ตัวว่ากำลังยึดติดถือมั่นก็คือ เกิดความขุ่นเคืองใจหรือความโกรธทันทีที่ความคิดที่ตนยึดถือนั้นถูกวิจารณ์ หรือมีการนำเสนอความเห็นอื่นมาเทียบเคียงเสมือนเป็นคู่แข่งขันท้าทาย หากไม่มัวส่งจิตออกนอก หมายตอบโต้ผู้ที่คิดต่างจากตน แต่กลับมาตามดูรู้ทันอารมณ์ของตน ก็จะรู้ได้ทันทีว่า ที่เราโมโหโกรธาเขาก็เพราะยึดติดถือมั่นในความคิดของตนนั้นเอง นั่นจะช่วยให้เรายับยั้งชั่งใจไม่เผลอทำอะไรที่เลวร้าย แต่ ถ้าไม่มีสติรู้ทันใจของตน หากความคิดสั่งให้ด่า เราก็จะด่าทันที ความคิดสั่งให้ทำร้ายเขา เราก็จะทำไม่ยั้ง มารู้ตัวอีกทีก็สายเกินแก้แล้ว

    ผู้คนทุกวันนี้ทำร้ายจิตใจกัน ตัดสายสัมพันธ์กันจนขาดสะบั้น สร้างศัตรูมากมาย อีกทั้งยังทำร้ายร่างกายกันอย่างน่าสลดใจ ไม่ใช่เพราะความเห็นที่แตกต่างกัน แต่เป็นเพราะปล่อยให้ความคิดต่าง ๆ เถลิงอำนาจมาเป็นนายตน ยอมทำตามคำบงการของมัน เพื่อความเป็นใหญ่ของมัน หากเราไม่สามารถเป็นนายของมัน หรือนำมันกลับมาเป็นบ่าวได้ ก็ยากที่ชีวิตจะราบรื่นสงบสุข ซ้ำยังจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายหนักขึ้นด้วย

    :- https://visalo.org/article/jitvivat255706.html
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    สร้างสุขได้โดยการกำจัด ‘ขยะ’ ในใจ
    by kadocom
    erewrwe.jpg
    หลายคนมักตั้งคำถามว่า ความทุกข์ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมาจากอะไร คำตอบง่ายๆ ที่เราไม่เคยคิดก็คือ การที่เราเอาขยะเข้ามาอยู่ในใจของเรา ผมมักเปรียบเปรยง่ายๆ ว่าให้เราลองก้มไปที่หน้าอกด้านซ้ายของเราและดมดูว่าอกของเราเหม็นหรือไม่ ถ้าเหม็นแสดงว่าเรามีขยะอยู่ในใจ แต่ถ้าไม่แสดงว่าเรารู้จักที่จะขจัดขยะเหล่านั้นออกไป
    ขยะที่เรามีหนักเท่าไรก็คือความทุกข์ที่เราแบกรับไว้มากเท่านั้น จำได้มั้ยครับว่า แก้วน้ำที่เราถือไว้ ไม่ได้บ่งบอกว่ามันมีน้ำหนักมาน้อยแค่ไหน แต่ความหนักของมัน คือ ระยะเวลาที่เราจะถือไว้ต่างหาก เราเรียนรู้ที่จะปล่อยวางหรือไม่ เหมือนกับโรงเรียนแห่งหนึ่งให้นักเรียนแบกถุงมันฝรั่งไปไหนต่อไหนด้วยทุกวัน ภายในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งในระหว่างนั้นมันฝรั่งก็เริ่มส่งกลิ่นเหม็นเน่า แต่ทุกคนก็ต้องแบกมันไว้ให้ครบอาทิตย์
    เมื่อครบกำหนดคำถามที่ทุกคนได้รับก็คือ “นักเรียนอยากจะทำอะไรกับถุงมันฝรั่งใบนี้” คำตอบที่ได้เหมือนกัน ก็คือ “ทิ้งมันไปซะ” ฉันใดฉันนั้นกับขยะในใจของเรา ไม่ว่าจะเป็นความไม่พอใจเพื่อนร่วมงานที่ทำงานผิดพลาด คำพูดที่ไม่หวานหูของคนในครอบครัว พนักงานบริการที่ไม่มีมารยาท หรือ คนขับรถที่ไม่มีน้ำใจหยุดให้เราข้าม สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นขยะ เพราะขยะ คือ สิ่งที่ไม่มีค่า ไม่มีราคา แล้วทำไมเราจึงเก็บมันมาคิดหรือติดอยู่ในใจเรา ถ้าเรารู้ว่ามันจะทำให้เราทุกข์ เราจะเก็บมันไว้หรือถือมันไว้ตั้งแต่แรกหรือไม่

    ผมเชื่อว่า ถ้าเราป้อนข้อมูลที่ไม่ดีเข้าสู่สมองของเราแล้ว ในหัวของเราก็จะมีแต่ข้อมูลไม่ดี และสิ่งที่ประมวลออกมาก็จะกลายเป็นข้อมูลที่ไม่ดีที่มากกว่าเดิมถึง 2 เท่า เขาเรียกว่า การป้อนขยะเข้าสู่จิตใจ ทำให้เราคิดหรือแสดงออกบนมุมมองที่เต็มไปด้วยขยะหรือสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์หรือมีประโยชน์ใดๆ ดังนั้นถ้าเราเก็บขยะไว้ เราก็ค่อยๆ ซึมซับเอาความทุกข์เข้าไปทุกๆ วัน จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี และจากปีกลายเป็นหลายๆ ปี คนบางคนติดอยู่ในกองขยะเหล่านี้ ซึ่งเราเรียกว่า กองขยะแห่งความทุกข์

    คนเราจะสุขได้ ต้องรู้จักกำจัดขยะที่มีอยู่ในใจออกไปให้หมด และไม่ดึงเอาขยะเหล่านั้นเข้ามาในใจ โดยเราต้องปิดกั้นความคิดและความรู้สึกของเรา ก่อนที่จะทำตัวเป็นเครื่องดูดฝุ่น หรือเป็นถังขยะที่รองรับสิ่งที่ไม่มีคุณค่าหรือบั่นทอนสุขภาพจิตของเรา วิธีการที่เราสามารถทำได้เลยก็คือ การป้อนคำพูดเพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองดูดขยะเหล่านี้เข้าไป เช่น พูดว่า “การเศร้าเสียใจหรือหงุดหงิดไปกับเรื่องพวกนี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น ลืมมันซะ” หรือ “สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป เราอย่าไปใส่ใจ”

    นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาโดยการแสดงสำรับไพ่ให้คนทั่วไปได้ดู แต่ในไพ่หนึ่งสำรับจะมีบางอย่างที่ผิดปกติ มีบางอย่างที่แตกต่างไปจากไพ่ทั่วไป เช่น ไพ่ 4 ดอกจิกมีสีแดง ไพ่ 5 ข้าวหลามตัดมีรูปข้าวหลามตัด 6 รูป ซึ่งคนที่ได้เห็นไพ่นั้นจะถูกถามคำถามเหมือนกันว่าพวกเขาเห็นอะไร

    ถามว่าคนที่ดูไพ่เหล่านี้ ได้เห็นความผิดปกติที่มีอยู่ในไพ่สำรับพิเศษที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้หรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ เพราะพวกเขาไม่ได้สังเกตความผิดปกติเหล่านี้ และเมื่อถูกถามให้อธิบายถึงไพ่ที่พวกเขากำลังมองอยู่ คนส่วนมากตอบว่า พวกเขากำลังมองเห็นไพ่ 5 ข้าวหลามตัด และไพ่ 4 ดอกจิกอยู่ โดยที่พวกเขาไม่ได้พูดถึงความผิดพลาดของไพ่แต่ละใบไม่ว่าจำนวนรูปหรือสีที่อยู่ในไพ่

    หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงได้เกิดขึ้น คำตอบก็คือสิ่งที่เราเห็นไม่ได้เป็นเพียงแค่รูปแบบที่ควรจะเป็น แต่ยังเป็นสิ่งที่เรากำลังมองหาอยู่ ซึ่งได้แก่ ความคาดหวังและข้อสันนิษฐานของเรา ซึ่งตรงนี้คือสิ่งที่นำไปสู่ความผิดพลาดในการดำเนินชีวิตของเรา เมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่เราความหวังหรือสรุป เราก็จะรู้สึกผิดหวังและเกิดความทุกข์ใจในที่สุด เป็นการเอาขยะเข้ามาในใจเรา

    ขยะเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเราใส่ใจ เราเอาใจเข้าไปร่วมกับมัน เพราะเราคาดหวังว่าคนอื่นต้องเป็น ต้องพูด ต้องทำ อย่างที่เราคิดและต้องการ เมื่อเขาไม่ทำ ไม่พูด หรือไม่เป็นอย่างที่เราหวัง เราจึงผิดหวังและเสียใจ และนั่งเฝ้าถามว่าทำไมสิ่งต่างๆ ถึงเป็นเช่นนี้

    เราสร้างขยะเหล่านี้ขึ้นมาด้วยตัวของเราเอง ถ้าเราเปลี่ยนความคิดเสียใหม่เหมือนกับที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่า "You can't change other people, you can only change yourself." เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ เราเปลี่ยนได้เพียงแค่ตัวเราเอง เพราะฉะนั้นความคาดหวัง ความต้องการของเราที่มีต่อคนอื่น และทำให้เราเกิดความทุกข์ สามารถแก้ไขได้ไม่ยากเพียงแต่รู้จักเปลี่ยนวิธีคิดของเรา เมื่อวิธีคิดของเราเปลี่ยนได้ เราก็สามารถขจัดขยะออกไปจากใจเราได้
    ข้อคิดฝากทิ้งท้าย

    ที่บ้าน เราเรียนรู้ที่จะให้อภัยกันและกันในครอบครัวหรือไม่ เรารู้จักพูดจาดีๆ ต่อกันหรือไม่ เรารู้จักการให้และการรับแก่กันหรือไม่
    ที่ทำงาน เราเรียนรู้ที่จะให้อภัยกันและกันในกับเพื่อนร่วมงานหรือไม่ เรารู้จักพูดจาดีๆ ต่อกันหรือไม่ เรารู้จักการให้และการรับแก่กันหรือไม่ เรารู้จักการไม่เอารัดเอาเปรียบ การไม่แทงข้างหลัง การไม่ขัดแข้งขัดขากันหรือไม่
    บนท้องถนน เราเรียนรู้ที่จะให้อภัยกันและกันหรือไม่ เราเรียนรู้ที่จะมีน้ำใจให้แก่กันหรือไม่ เราเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตามกฏระเบียบที่มีอยู่หรือไม่

    การที่เรามุ่งคิดในสิ่งที่ดี ทำในสิ่งที่ดี เป็นแนวทางที่เรากำลังมอบความสุขต่อตนเองและคนรอบข้าง เป็นการให้ของขวัญแก่บุคคลอื่น และรับของขวัญจากคนอื่นในทางกลับกัน

    จงจำไว้ว่า เราจะไม่มอบขยะให้กับบุคคลอื่น และไม่รับขยะที่ผู้อื่นสร้างให้ เพราะขยะคือสิ่งที่ไม่มีค่า แล้วทำไมเราอยากเก็บสิ่งไม่มีค่าไว้ในใจ
    :-ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า http://www.thaihealth.or.th/node/8450
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 มีนาคม 2024
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    ทำดีได้ ไม่ต้องใช้คำขวัญ
    พระไพศาล วิสาโล
    ในหนังสือเรื่อง “ปัญญาเหนือทุกข์” ของ แจ๊ค คอร์นฟิลด์ (กำธร เก่งสกุล แปล) ผู้เขียนเล่าถึงการวิจัยที่ทำในย่านพักอาศัยของคนจนในกรุงลอนดอน ถนนสองสายถูกเลือกขึ้นมาเพื่อการศึกษาเปรียบเทียบ ทั้งสองสายมีสภาพคล้ายกันและอยู่ห่างกันไม่ถึง ๒ กม. ที่สำคัญคือมีสถิติอาชญากรรมในระดับสูงพอ ๆ กัน แต่นักวิจัยได้เลือกถนนสายหนึ่งให้มีการเอาใจใส่อย่างดี เช่น ทำความสะอาดทุกวันเป็นเวลาหนึ่งปี เก็บขยะถูกชิ้น ลบรอยขีดเขียนบนกำแพงในที่สาธารณะ ปลูกไม้ดอกตรงขอบทางเดินและรดน้ำต่อเนื่อง ไฟริมถนนตลอดจนป้ายที่แตกหักได้รับการซ่อมแซมและทาสีใหม่

    ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีการประกาศต่อสาธารณชน หลังจากนั้นหนึ่งปีได้มีการนำถนนทั้งสองสายมาเปรียบเทียบกัน ปรากฏว่าสถิติอาชญากรรมบนถนนสายที่สะอาดและงดงามลดลงเกือบ ๕๐%

    ผู้เขียนไม่ได้อธิบายว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวคล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นในหลายเมืองของหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และเนเทอร์แลนด์ เมื่อชุมชนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยอาชญากรรมก็ลดลง สิ่งที่น่าคิดก็คือทั้งสองอย่างเกี่ยวพันกันอย่างไร คำตอบก็คือ ชุมชนที่เป็นระเบียบเรียบร้อยนั้นแสดงว่าผู้คนใส่ใจส่วนรวม คนที่อยู่ในบรรยากาศแบบนี้ย่อมเกิดตระหนักว่าตนจะทำตามอำเภอใจไม่ได้ จึงเกิดความยับยั้งชั่งใจเมื่อนึกอยากทำผิดกฎระเบียบ

    คำอธิบายดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากความคิดที่ว่า อาชญากรรมตามชุมชนต่าง ๆ มักเริ่มจากการกระทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ปากระจกหน้าต่างแตก หรือขีดเขียนในที่สาธารณะแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผู้คนจึงได้ใจและกล้าทำสิ่งที่อุกอาจมากขึ้น เช่น ลักขโมย และลุกลามไปสู่อาชญากรรมที่รุนแรง แนวความคิดนี้มองว่า การปล่อยให้มีกระจกหน้าต่างแตกหรือสีขีดเขียนเปรอะเปื้อนในที่สาธารณะเป็นเวลานาน ๆ คือการส่งสัญญาณว่า ชุมชนนี้ไม่มีใครเอาเป็นธุระ อยู่อย่างตัวใครตัวมัน เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้คนอื่น ๆ ทำตามอำเภอใจ ไม่สนใจกฎเกณฑ์หรือกติกา เกิดความรู้สึกอยากทำสิ่งแย่ ๆ อย่างเดียวกันบ้าง หรือทำยิ่งกว่า (แกทำได้ ฉันก็ต้องทำได้สิ)

    ฟิลิป ซิมบาร์โด นักจิตวิทยาชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เคยทดลองเอารถคันหนึ่งซึ่งไม่มีป้ายทะเบียนมาจอดโดยเปิดฝากระโปรงทิ้งไว้ในเมืองบรองซ์ กรุงนิวยอร์ค อันเป็นย่านคนจนและเต็มไปด้วยอาชญากรรม ส่วนรถอีกคันหนึ่งเอาไปจอดทิ้งไว้ที่เมืองพาโลอัลโต แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นย่านคนมีฐานะ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ในชั่วเวลาไม่กี่นาทีรถคันแรกก็ถูกถอดแบตเตอรี่และหม้อน้ำ แล้วชิ้นส่วนอื่น ๆ ก็ถูกถอดตามมา ภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง ก็ไม่เหลือของมีค่าอยู่เลย ในที่สุดก็มีคนทุบกระจกเข้าไปขโมยชิ้นส่วนภายในรถ

    ตรงข้ามกับรถคันที่สอง ไม่มีใครแตะต้องรถคันนั้นนานเป็นอาทิตย์ แต่เมื่อซิมบาร์โดลงมือทุบกระจกรถคันนั้นเสียเอง ไม่นานก็มีคนไปรื้อถอดชิ้นส่วนรถไม่ต่างจากที่บรองซ์ ซิมบาร์โดชี้ว่าสาเหตุที่การรื้อถอดชิ้นส่วนรถเกิดขึ้นเร็วมากในบรองซ์ ก็เพราะคนที่นั่นรู้สึกว่า จะทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครสนใจ พฤติกรรมแบบเดียวกันนี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในถิ่นคนมีฐานะ หากมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า “ทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครสนใจ”

    ในกรณีดังกล่าว สิ่งที่เป็นสัญญาณว่า “ทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครสนใจ” ก็คือ กระจกรถที่ถูกทุบแตกนั่นเอง นี้เป็นที่มาของทฤษฎี “หน้าต่างแตก” ของเจมส์ วิลสัน และยอร์จ เคลลิ่ง ทั้งสองอธิบายดังนี้ว่า “สมมติว่ามีอาคารหลังหนึ่งซึ่งมีหน้าต่างแตกหลายบาน หากหน้าต่างไม่ได้รับการซ่อม ก็มีแนวโน้มว่าอันธพาลจะทุบหน้าต่างแตกเพิ่มขึ้น ในที่สุดพวกเขาก็จะแอบเข้าไปในอาคารนั้น และหากอาคารนั้นไม่มีคนอยู่ มันก็อาจกลายเป็นที่อาศัยของคนเหล่านั้นหรือจุดไฟข้างใน”

    แนวความคิดนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อนโยบายของสำนักงานตำรวจกรุงนิวยอร์คเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีที่แล้ว มีการขจัดรอยขีดเขียนในที่สาธารณะ ดูแลสถานีรถไฟใต้ดินให้สะอาดสะอ้าน รวมทั้งใส่ใจกับการทำผิดกฎเล็ก ๆ น้อย เช่น ไม่จ่ายค่าตั๋วรถไฟใต้ดิน หรือทำลายทรัพย์สินสาธารณะ สิ่งที่ตามมาก็คือ อาชญากรรมในกรุงนิวยอร์คซึ่งเคยพุ่งสูงได้ลดลงไปมาก ความสำเร็จดังกล่าวมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง แต่เชื่อว่าการทุ่มเทในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังก็มีส่วนอยู่ไม่น้อย
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    (ต่อ)
    ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมกับพฤติกรรมของผู้คนนั้นเกี่ยวพันกันอย่างยิ่ง สิ่งแวดล้อมที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเป็นระเบียบนั้น สามารถลดทอนพฤติกรรมด้านลบของผู้คน ทำให้อาชญากรรมลดลงได้ ในทางตรงข้ามสภาพแวดล้อมที่ถูกปล่อยปละละเลย สามารถส่งเสริมให้คนมีพฤติกรรมในทางลบจนกระทำอาชญากรรมต่าง ๆ ได้ไม่ยาก

    อันที่จริงสภาพแวดล้อมยังสามารถมีอิทธิพลในลักษณะอื่น ๆ ต่อพฤติกรรมของผู้คน ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ การทดลองในสำนักงานของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอังกฤษ พนักงานสามารถหาชาหรือกาแฟได้จากครัวรวม แต่ต้องชงเองและหยอดเงินใส่กล่องเองด้วย โดยมีป้ายบอกราคาติดไว้ที่ข้างฝา วันหนึ่งมีคนเอาภาพโปสเตอร์มาติดเหนือป้ายนั้น ภาพนั้นเปลี่ยนไปทุกอาทิตย์ ถ้าไม่ใช่ภาพดอกไม้ ก็เป็นภาพตาที่กำลังมองมายังผู้ดู ที่น่าแปลกก็คือ จำนวนเงินในกล่องจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคืออาทิตย์ใดที่เป็นภาพดอกไม้ จำนวนเงินที่ได้(ต่อนม ๑ ลิตร)จะลดลง แต่อาทิตย์ใดเป็นภาพตาจ้องมอง จำนวนเงินที่ได้จะเพิ่มขึ้น เฉลี่ยแล้วอาทิตย์ใดที่มีตาจ้องมอง พนักงานจะหยอดเงินมากกว่าอาทิตย์ที่มีดอกไม้ เกือบ ๓ เท่า

    กล่าวอีกนัยหนึ่งภาพโปสเตอร์นั้นมีผลต่อความซื่อสัตย์ของพนักงานด้วย ภาพตานั้นทำให้ผู้คนรู้สึกลึก ๆ ว่าถูกจ้องมอง จึงมีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินตามราคา แต่หากเป็นภาพอื่น ก็อาจจะจ่ายบ้าง ไม่จ่ายบาง หรือจ่ายไม่ครบ

    ทั้งหมดนี้ชี้ว่าความดีหรือศีลธรรมของผู้คนนั้น ไม่ได้อยู่ที่จิตสำนึกล้วน ๆ แต่ยังขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งแวดล้อมมีผลต่อจิตสำนึก และนำไปสู่พฤติกรรมที่สอดคล้องกัน ดังนั้นการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนให้มีศีลธรรม จึงไม่ควรเน้นที่การเทศน์การสอนหรือการรณรงค์ด้วยคำขวัญเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อม รวมถึงการสร้างเหตุปัจจัยภายนอกที่เกื้อกูลด้วย อาทิ การกระจายโภคทรัพย์ไม่ให้เกิดความยากไร้

    เรื่องทำนองนี้อันที่จริงก็มีกล่าวในพระไตรปิฎก หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องของพระราชาที่ต้องการปราบโจรผู้ร้ายซึ่งมีอยู่ชุกชุม ความคิดของพระราชาก็คือ เพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้น แต่พราหมณ์ปุโรหิตทักท้วงเพราะเห็นว่าจะทำให้ปัญหาหนักขึ้น พราหมณ์เสนอให้มีการกระจายทรัพย์หรือส่งเสริมอาชีพ ไม่ว่าเกษตรกร พ่อค้า และขุนนาง พระราชาคล้อยตาม ปรากฏว่าเมื่อประชาชนอยู่ดีกินดี มีอาชีพ มีรายได้พอแก่อัตภาพ โจรผู้ร้ายก็หายไป ชาวเมืองอยู่อย่างผาสุก “รื่นเริงบันเทิงใจ อุ้มลูกฟ้อนรำไปมา สนุกสนาน บ้านช่องไม่ต้องปิดประตูลั่นกุญแจ”

    น่าสังเกตว่า พราหมณ์ (ซึ่งเป็นตัวแทนความคิดของพระพุทธเจ้า)ไม่ได้เสนอให้มีการเทศนาสั่งสอนประชาชนหรือรณรงค์ให้ประชาชนมีศีลธรรมแต่อย่างใด เพียงแค่จัดระบบเศรษฐกิจให้ดี อาชญากรรมก็ลดลง ศีลธรรมก็กลับมา

    เรื่องนี้ชี้ว่าในการเสริมสร้างศีลธรรมของผู้คน สิ่งหนึ่งที่มิอาจมองข้ามได้เลยก็คือการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมและเหตุปัจจัยภายนอกให้เกื้อกูลต่อจิตสำนึกและพฤติกรรมของผู้คนด้วย

    :- https://visalo.org/article/jitvivat255608.html
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,131
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,045
    เปลื้องใจให้เป็นไทจากความคิด
    พระไพศาล วิสาโล
    ความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือ การคิด เราคิดได้เก่งและซับซ้อนพิสดารอย่างไม่มีสัตว์ใดเทียบได้ เราสามารถใช้ความคิดเพื่อจัดการธรรมชาติ รวมทั้งสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มากมาย กล่าวได้ว่าความคิดเป็นเครื่องมือที่สำคัญของมนุษย์ในการดำรงชีวิตและสร้างโลก แต่ใช่หรือไม่ว่าบ่อยครั้งเราก็เผลอปล่อยให้ความคิดขึ้นมาเป็นนายเรา และสั่งให้เราทำตามบัญชาของมัน เวลาเกลียดใครก็ตาม เมื่อความคิดสั่งให้เราด่า เราก็ด่าตามคำสั่งของมัน เมื่อความคิดสั่งให้เราทำร้าย เราก็ทำร้ายตามคำสั่งของมัน คนจำนวนไม่น้อยตกเป็นทาสของความคิดจนนอนไม่หลับ แม้ใจอยากจะหลับ แต่ถ้าความคิดยังไม่ต้องการหลับ เราก็หลับไม่ได้ จนกว่ามันจะหยุดคิดหรือเหนื่อยไปเอง

    ความคิดนั้นเกิดจากการปรุงแต่งของเราก็จริง แต่ทันทีที่มันเกิดขึ้น มันก็ดูเหมือนจะมีชีวิตของมันเอง มันพยายามที่จะดำรงคงอยู่ให้ได้นานที่สุด ด้วยการกระตุ้นให้เราหวนคิดถึงมันบ่อย ๆ และนานเท่าที่จะนานได้ ยิ่งคิดถึงมัน มันก็ยิ่งเติบใหญ่และเข้มแข็ง เช่นเดียวกับกองไฟซึ่งโหมไหม้และแรงกล้าขึ้นเรื่อย ๆ หากมีคนเติมเชื้อให้มันอยู่เสมอ ใช่แต่เท่านั้นมันยังต้องการ “แพร่พันธุ์” ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เวลาเรานึกคิดเรื่องอะไรได้ขึ้นมาก็ตาม เราจึงอยากเผยแพร่ความคิดนั้นให้คนอื่นได้รับรู้ เริ่มจากการบอกเล่าจากปากต่อปาก ส่งอีเมล เขียนบทความ ไปจนถึงเขียนหนังสือเป็นเล่ม เท่านั้นยังไม่พอ มันยังต้องการการปกป้องคุ้มครองจากเราด้วยเพื่อที่มันจะได้มีชีวิตยืนนานและแพร่พันธุ์ได้ไม่จบสิ้น ดังนั้นมันจึงสั่งให้เราโต้เถียงหักล้างเหตุผลของคนที่คิดต่างจากเรา ยิ่งไม่เห็นด้วยกับความคิดของเรามากเท่าไร เรายิ่งต้องออกแรงทุ่มเถียงมากเท่านั้นเพื่อเอาชนะคะคานให้ได้ โดยอาจไม่คำนึงด้วยซ้ำว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อให้ความคิดของเราผงาดต่อไปได้ และยิ่งเป็นอมตะได้ก็ยิ่งดี


    ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนจะทำร้ายหรือรบราฆ่าฟันกันเพียงเพื่อปกป้องและเผยแพร่ความคิดของตน ไม่ว่าจะเป็นความคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับทีมฟุตบอลที่ตนโปรดปราน ไปจนถึงความคิดใหญ่ ๆ ที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองหรือศาสนา บ่อยครั้งผู้คนที่ทำร้ายกันก็มิใช่ใครอื่น หากเป็นพี่น้อง มิตรสหาย เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมชาติ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมนุษยชาติไม่เคยขาดการรบพุ่งทำสงครามกันเพียงเพราะมีความคิดเห็นที่ต่างกัน ความคิดนั้นมีอานุภาพและอำนาจเหนือมนุษย์อย่างไม่อาจประมาทได้เลย

    อะไรทำให้ความคิดมีอานุภาพต่อมนุษย์ปานนั้น เหตุผลสำคัญประการหนึ่งได้แก่ความยึดติดถือมั่นจนลืมตัว ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า “อุปาทาน” นั่นเอง การที่คนเราจะเห็นด้วยหรือสนับสนุนความคิดใดนั้น เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งเสียหาย แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเราเกิดยึดติดถือมั่นในความคิดนั้น ๆ (ทิฏฐุปาทาน) จนทนไม่ได้กับความคิดที่เห็นต่าง จริงอยู่ตอนที่สมาทานความคิดนั้นใหม่ ๆ เราอาจเห็นว่าเป็นความคิดที่ดีและถูกต้อง แต่ถ้าเผลอไปเมื่อไร ก็จะมีอัตตาหรือตัวตนเข้าไปผูกติดกับความคิดนั้น เกิดความยึดมั่นสำคัญหมายในความคิดนั้นว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ถึงตรงนี้ก็จะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของความคิดนั้น (หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นคือกลายเป็นทาสของความคิดนั้น) จากเดิมที่สมาทานความคิดนั้นด้วยเหตุผลเพราะว่าเป็นความคิดที่ “ถูกต้อง” ก็เปลี่ยนมาเป็นเพราะว่าความคิดนั้นเป็น “ของกู” ทีนี้ก็จะไม่สนใจแล้วว่าความคิดของคนอื่นนั้นถูกต้องหรือไม่ แต่จะสนใจแค่ว่าเป็นความคิดที่ “ถูกใจ”ตนเองหรือไม่ ถ้าไม่ถูกใจ แม้จะถูกต้องหรือมีเหตุผล ก็ไม่รับฟัง หรือยิ่งกว่านั้นคือเห็นเป็นศัตรูที่ต้องจัดการ เช่น กล่าวร้าย ประณาม ปิดปาก ไปจนถึงทำร้าย จากเดิมที่ใช้เหตุใช้ผล ก็กลายมาเป็นการใช้อารมณ์หรือความรู้สึก อัตตาเข้ามาแทนที่ปัญญา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือกลายเป็นการยึดติดถือมั่นด้วยกิเลส มุ่งที่การแพ้-ชนะเป็นสำคัญ ไม่สามารถมองเห็นอะไรที่เกินเลยไปกว่านั้นได้ ทั้ง ๆ ที่มีความสำคัญมากกว่า

    เมื่อยึดติดถือมั่นกับความคิดจนเห็นเรื่องแพ้-ชนะเป็นสิ่งสำคัญแล้ว อันตรายก็เกิดขึ้นทันที เพราะมันสามารถผลักดันให้เราทำอะไรก็ได้เพียงเพื่อให้ “ความคิดของกู”เป็นผู้ชนะ ซึ่งแม้จะลงเอยว่า “ความคิดของกู”เป็นผู้ชนะ แต่ “กู” หรือผู้กระทำกลายเป็นผู้แพ้ก็ได้ หลายปีก่อนในสหรัฐอเมริกามีการชุมนุมประท้วงหน้าคลีนิกทำแท้งแห่งหนึ่ง ผู้ประท้วงซึ่งเรียกตัวว่าเป็นผู้เชิดชูชีวิต (pro-life) เห็นว่าการทำแท้งนั้นเป็นการทำลายชีวิตซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าประทานมา ในขณะที่ผู้ที่สนับสนุนการทำแท้งนั้นเห็นว่าเป็นสิทธิที่ผู้หญิงสามารถเลือกได้เพราะเป็นเจ้าของร่างกายของตนเอง ฝ่ายประท้วงพยายามปิดล้อมคลีนิกเพื่อขัดขวางมิให้ผู้หญิงเข้าไปทำแท้ง แต่ไม่สำเร็จ เพราะกฎหมายในรัฐนั้นอนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ ผู้ประท้วงคนหนึ่งโกรธแค้นมาก ถึงกับบุกเข้าไปในคลีนิกและชักปืนยิงหมอและพยาบาลในนั้นจนถึงแก่ความตาย แม้การกระทำดังกล่าวสามารถยุติการทำแท้งได้ (ชั่วระยะหนึ่ง) สมใจผู้ประท้วงก็จริง แต่ก็ทำให้ผู้ประท้วงกลายเป็นฆาตกรซึ่งต้องรับโทษหนัก

     

แชร์หน้านี้

Loading...