ธัมมานุสสติกรรมฐาน หนึ่งในอนุสสติ ๑๐

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย กุศโลบาย, 12 มกราคม 2014.

  1. กุศโลบาย

    กุศโลบาย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ธันวาคม 2013
    โพสต์:
    323
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +4,608
    ธัมมานุสสติกรรมฐาน หนึ่งในอนุสสติ ๑๐
    ธรรมโอวาทหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

    ธัมมานุสสติกรรมฐาน แปลว่า ตั้งอารมณ์เป็นการงาน เป็นงานในการระลึกนึกถึง คุณพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ คำว่าเป็นอารมณ์ หมายถึงให้เอาจิตใจจดจ่อ อยู่ในคุณของพระธรรมเป็นปกติ ไม่เอาจิตไปนึกคิดอารมณ์อื่นนอกเหนือไปจากพระธรรม

    อาการที่คิดถึงคุณของพระธรรมนี้ มีอารมณ์การคิดไว้มากมาย เช่นเดียวกับการคิดถึงคุณพระพุทธเจ้า เพราะพระธรรมมีความสำคัญมากกว่าสิ่งใด ๆ แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์ก็มีความเคารพในพระธรรม เพราะพระธรรมเป็นหลักความประพฤติดี ประพฤติชอบประจำโลก การที่พระพุทธเจ้าพระองค์จะทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณได้ ก็เพราะอาศัยพระธรรมเป็นหลักปฏิบัติ

    ฉะนั้น ในพระพุทธศาสนานี้จึงนิยมยกย่องพระธรรมว่า เป็นสรณะที่พึ่งอันประเสริฐสรณะหนึ่ง การระลึกถึงคุณพระธรรมนี้ ท่านอาจจะเลือกเอาคำสั่งสอนตอนใดตอนหนึ่งที่ท่านชอบในบรรดาคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มาเป็นอารมณ์ระลึกได้ตามชอบใจ แต่ท่านโบราณาจารย์ท่านประพันธ์บทสรรเสริญพระธรรมไว้ ๖ ข้อ จะขอนำมากล่าวไว้พอเป็นแนวปฏิบัติ

    ๑.สวากขาโต ภควตา ธัมโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ข้อนี้หมายถึง อาการคำนึงถึงคุณพระธรรมแบบรวม ๆ ว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดรวม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ย่อลงเหลือสาม คือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ได้แก่ ศีลที่บริสุทธิ์อย่างเยี่ยม สมาธิที่ตั้งมั่นอย่างยิ่ง คือสมาบัติแปด อธิปัญญา ได้แก่ การเจริญวิปัสสนาญาณได้มรรคผล คือ พระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหัตตผล คุณธรรม ทั้งหมดนี้ประเสริฐยอดเยี่ยม ไม่มีสิ่งอื่นใดเสมอเหมือน เพราะสามารถกำจัดความทุกข์ ความเดือดร้อนได้ทั้งที่มีชีวิตอยู่ และมรณะไปแล้ว

    คุณธรรมที่เบากว่านั้น เช่น ทาน การให้, ศีล รักษาวาจาใจให้สงบจากเวร, สมาธิ รักษาใจให้สงบจากอกุศล ๕ ประการ คือ โลภะ ความโลภ โทสะ ความคิดประทุษร้าย ถีนมิทธะ ความเคลิบเคลิ้ม ที่ขาดสติสัมปชัญญะ และความง่วงเหงาหาวนอนในเวลาทำความดี อุทธัจจกุกกจุจะ อารมณ์หงุดหงิด ฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ วิจิกิจฉา ความสงสัยในผลของการปฏิบัติธรรม และปัญญา คือการฝึกวิปัสสนาญาณเบื้องต้น

    คุณธรรมขนาดเบา ๆ นี้ ก็มีผลมากแก่ผู้ปฏิบัติ เพราะ

    -ทาน การให้ เป็นคุณธรรมที่ทำลายอารมณ์โลภอยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่น และเป็นเหตุ แห่งความรักความเสน่หาของผู้รับทาน คนที่ให้ทานเป็นปกติ ย่อมเป็นที่รักของผู้รับทานทั่วไป เป็นเหตุให้ปลอดภัยจากอันตราย

    -ศีล เมื่อรักษาดีแล้ว ย่อมมีอานิสงส์ดังนี้ ศีลผู้รักษาไว้ดีแล้ว ย่อมเป็นที่รักของปวงชน เพราะผู้รักษาศีลมีเมตตาเป็นปกติ และจะมีชื่อเสียงในด้านความดีฟุ้งขจรไปทุกทิศ เมื่อเวลาใกล้จะตายจะมีสติสมบูรณ์ เมื่อตายแล้วจะได้ไปสู่สุคติ

    -สมาธิ ย่อมส่งผลให้เป็นคนมีสติสมบูรณ์ และเป็นที่รักแก่ชนทั่วไป เพราะท่านที่ทรงสมาธิ ย่อมกำจัดเวร คือ อกุศล ๕ ประการ มีโลภะเป็นต้นเสียได้

    -วิปัสสนาญาณ มีอานิสงส์ทำจิตใจให้มีความสุข เพราะจิตเคารพต่อกฎของธรรมดา เพราะ รู้แจ้งเห็นจริงตามกฎธรรมดาทุกประการ หมดความหวั่นไหวในทุกข์ภัยที่ปรากฏ มีอารมณ์สงัดเยือกเย็นเป็นปกติ คล้ายต้นไม้ที่ไม่มีลมร้ายมาถูกต้อง ฉะนั้น

    ในข้อนี้ท่านสอนให้ระลึกนึกถึงคุณของพระธรรม ตามที่กล่าวมาโดยย่ออย่างนี้ หรือท่านจดจำพระสูตร คือคำสอนที่ยกตัวบุคคล แล้วจะคิดตามนั้น หรือท่านจะคิดตามพระธรรมข้อใดก็ได้ตามใจชอบ เป็นระลึกถึงคุณพระธรรมตามข้อนี้เหมือนกัน เพราะบทสวากขาโตนี้ท่านกล่าวรวม ๆ เข้าไว้

    ๒.สันทิฏฐิโก แปลว่า ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง หมายความว่าผลของการปฏิบัติธรรมนี้ ไม่ใช่จะปฏิบัติกันไปตามเรื่อง ผลของการปฏิบัติธรรมนี้เป็นความสุขใจ ท่านปฏิบัติจริงจะได้รับผลจริงในชาตินี้

    ๓.อกาลิโก แปลว่า ไม่เลือกกาลไม่เลือกสมัย หมายถึงผลของการปฏิบัติธรรมนี้ ได้รับ ผลทุกขณะที่ปฏิบัติ ไม่จำกัดกาลเวลาว่า จะต้องเป็นเวลานั้นเวลานี้ ตัวอย่างเช่น ผู้ปฏิบัติธรรมในด้านพรหมวิหาร ท่านที่ทรงพรหมวิหาร ย่อมประทานความรักให้แก่คนและสัตว์ไม่เลือกหน้า ท่านไม่ถือโกรธใคร พบคนควรไหว้ท่านก็ไหว้ พบคนควรให้ท่านก็ให้

    ท่านมีหน้ายิ้มตลอดเวลา ท่านลองคิดดูว่า ถ้าท่านพบคนอย่างนี้เข้า ท่านควรจะรักเคารพหรือท่านควรจะคิดประทุษร้าย ขอให้ท่านคิดเอาเอง ผลของการปฏิบัติธรรมได้ผลไม่จำกัดกาลเวลาอย่างนี้ และในสมัยนี้มีคนพูดกันมานานว่า เวลาล่วงมา ขณะนี้พระอริยะไม่มีแล้ว ท่านอย่าเชื่อเขาเลย เพราะคุณของพระธรรมยืนยันอยู่อย่างนี้ว่า ผลแห่งการบรรลุมีได้ไม่เลือกกาลเวลา ขอให้ปฏิบัติจริง ปฏิบัติตรงตามคำสั่งสอนเถอะ และปฏิบัติพอดี อย่าเกียจคร้านเกินไปและอย่าขยันเกินไป รับรองว่าท่านต้องการคุณธรรมขนาดไหน ก็มีหวังได้ทุกขนาด และไม่จำกัดกาลเวลา

    ๔.เอหิปัสสิโก แปลว่า ควรเรียกให้มาดู ข้อนี้ท่านกล้าท้าทายว่า การปฏิบัติธรรมนั้น ของท่านกล้ายืนยันผล ขอให้ทำถูก ทำตรง ทำพอดีเถอะ ท่านรับรองผลว่า ต้องได้รับผลแน่นอน ขออย่างเดียว ขอให้เอาจริงเท่านั้น อย่าทำแบบสุกเอาเผากิน คนไม่จริงพระธรรมท่านก็ไม่จริงด้วย ถ้าผู้ปฏิบัติจริง ผลของพระธรรมท่านก็ให้จริง ขอให้จริงต่อจริงพบกันเถอะ แล้วจะได้รับผลสมความมุ่งหมาย

    ๕.โอปนยิโก แปลว่า ควรน้อมเข้ามา ท่านหมายความว่า ผู้หวังผลคือความสุขทางใจ สุขทั้งในชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไปแล้ว เชิญเข้ามาฝึกได้ ไม่จำกัดกาลเวลา ไม่จำกัดเพศและวัย ไม่จำกัดเชื้อชาติ สัญชาติ และศาสนา ถ้าเข้ามาจริง ปฏิบัติจริง ท่านรับรองว่าต้องได้ผลจริง

    ๖.ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ แปลว่า อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตน คำว่า วิญญู หมายถึง ท่านผู้รู้ คือผู้ปฏิบัติที่ได้รับผลแล้ว ท่านผู้นั้นจะรู้ผลเองว่า การปฏิบัติพระธรรมนี้มีผล คือความสุขอันประณีต และมีความเยือกเย็นใจเป็นพิเศษ มีความสุขประณีตกว่าความสุขอันเกิดขึ้นจากโลกวิสัยหลายพันล้านเท่า

    https://www.facebook.com/BuddhaSattha
     

แชร์หน้านี้

Loading...