เรื่องเด่น การฆ่าอย่างไร ไม่เป็นบาป - ท่าน ว.วชิรเมธี

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย picko, 11 พฤษภาคม 2018.

  1. picko

    picko เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มกราคม 2014
    โพสต์:
    635
    กระทู้เรื่องเด่น:
    97
    ค่าพลัง:
    +2,133
    Untitled-2.jpg

    การฆ่าอย่างไร ไม่เป็นบาป - ท่าน ว.วชิรเมธี


    ปุจฉา

    ทราบว่าการทำลายชีวิตสัตว์อื่นเป็นบาป แต่ถ้าสัตว์นั้นเป็นอันตรายต่อเราหรือ
    ผู้มีพระคุณ แล้วเราจำเป็นต้องฆ่าจะบาปไหม เช่น มียุงอยู่ในห้องแม่ที่พิการ
    ช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วเราตบยุง (เพราะใช้วิธีอื่นลำบากกว่า) จะบาปไหมคะ และ
    ชีวิตสัตว์เล็กๆ เช่น ยุง มด แมลง กับสัตว์ใหญ่เช่นวัวควาย บาปต่างกันแค่ไหน
    หากการฆ่าสัตว์เพียงชีวิตเดียวก็บาปมากแล้ว คนที่มีอาชีพฆ่าสัตว์หรือ
    พวกเพชฆาต จะบาปขนาดไหน เขาจะต้องตกนรกกี่ภพกี่ชาติคะ

    จะว่าไปแล้วอาชีพเหล่านี้ ถ้าพวกเขาไม่ทำแล้วใครจะทำ เพราะแม้แต่คนที่ถือศีล
    หลายคนก็ยังกินเนื้อสัตว์อยู่เลยนี่คะ


    วิสัชชนา

    การฆ่าสัตว์ที่จะถือว่าเป็นการละเมิดศีล และเป็นบาปโดยสมบูรณ์ (ปาณาติบาต)
    ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข ๕ ประการ

    (๑) สัตว์มีชีวิต

    (๒) รู้ว่าสัตว์มีชีวิต

    (๓) มีจิตคิดจะฆ่า

    (๔) พยายามฆ่า

    (๕) สัตว์ตาย

    การฆ่าสัตว์จะถือว่า บาปมากบาปน้อย มีเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาก็คือ
    “เจตนา”

    ถ้ามีเจตนาฆ่ารุนแรง ในลักษณะตั้งใจหรือวางแผนไว้ก่อน
    บาปก็หนัก ผลกรรมก็รุนแรง

    ในทางกฎหมายก็ถือเช่นเดียวกันโดยกล่าวว่า
    “กรรมย่อมส่อเจตนา”
    แต่การฆ่าที่ไม่มีเจตนา ก็ไม่ถือว่าเป็นบาป แต่เป็นเพียง “กิริยา” อย่างหนึ่งเท่านั้น
    เช่น พระรูปหนึ่งตาบอดเดินไปเหยียบแมลงเม่าตายเป็นเบือ มีคนไปฟ้องพระพุทธเจ้า

    พระองค์ตรัสว่า ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว เจตนาฆ่าไม่มี ก็ไม่ถือว่าเป็นบาป

    การที่เราฆ่าสัตว์โดยอ้างเหตุผลว่า สัตว์นั้นเป็นอันตรายต่อเรา
    ถามว่าบาปไหม ก็ตอบได้ว่า “บาป” เหมือนกัน

    แต่จะบาปมากบาปน้อย ก็ขึ้นอยู่กับ “เจตนา” และองค์ประกอบ
    สี่ประการดังกล่าวมาข้างต้น นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาเกณฑ์
    ต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น

    -เป็นสัตว์ใหญ่ หรือเป็นสัตว์เลก

    ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ ก็ถือว่า บาปมาก สัตว์เล็กก็บาปน้อย

    -เป็นสัตว์มีคุณมาก หรือมีคุณน้อย

    ถ้ามีคุณมากอย่างคน ควาย วัว ก็มีบาปมาก
    แต่ถ้ามีคุณน้อย ก็บาปน้อยลงตามส่วน

    (ขออนุญาตไม่ยกตัวอย่างเดี๋ยวสัตว์เล็กๆ ทั้งหลายจะเดือดร้อน)

    การที่เราบอกว่า สัตว์บางชนิด เราจำเป็นต้องฆ่า เพราะเขาเป็นอันตรายต่อเรา
    นี่ก็เป็นทัศนะหนึ่งที่พอฟังได้ แต่หากมองในมุมกลับกัน

    บางทีสัตว์ก็อาจพูดถึงคนในทางกลับกันว่า คนเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เป็นอันตราย
    ต่อเขา ดังนั้น เขาก็จำเป็นต้องฆ่าคน เช่น งูเห่า งูจงอาง เห็นคนมาก็กัดจนถึงแก่ชีวิต บางทีถ้ามองในมุมของสัตว์ ก็อาจกล่าวได้ว่า

    สัตว์ก็อาจมีความชอบธรรม ในการฆ่าคนเหมือนกัน

    ดังนั้น การที่เราจะอ้างว่า เราจำเป็นต้องฆ่าสัตว์ เพราะสัตว์เป็นอันตรายต่อเรา
    ก็ต้องพยายามมองในมุมกลับกันได้ อย่ามองในลักษณะ “เอาคนเป็นศูนย์กลาง”
    เสมอไป

    ถ้าเราลองมองอะไรหลายๆ มุม ก็จะพบว่า บางครั้งเหตุที่เราอ้างขึ้นมาเพื่อฆ่าสัตว์นั้น เป็นเหตุอันไม่ควรอ้าง แต่เป็นเพราะเราเห็นแก่ตัวต่างหาก

    คนที่มีอาชีพฆ่าสัตว์ ก็บาปอยู่แล้ว จะบาปมากบาปน้อย ก็ให้พิจารณาตามเกณฑ์
    ที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนเพชรฆาต ถ้าไม่มีเจตนาฆ่า ก็บาปน้อย แต่ถ้ามีเจตนาฆ่า
    มาเป็นตัวร่วมและทำการฆ่าอย่างสนุกสนาน มีความสุขจากการฆ่า ก็แน่นอนว่าบาป ยิ่งฆ่าคนไม่ผิด หรือฆ่าคนที่มีคุณค่าชีวิตมาก ก็บาปมาก แต่ถ้าฆ่านักโทษอุกฉกรรจ์ ที่เป็นคนผิดจริง ก็บาปน้อย จะไม่ให้บาปเลยนั้นหายากมาก ยกเว้นเพชฌฆาต ที่มีใจบริสุทธิ์ ฆ่าเพียงเพราะเป็นหน้าที่ ไม่มีเจตนฆ่าร่วมในการฆ่าเลย ก็ไม่บาป

    แต่โดยมาก คนอย่างนี้หายาก ยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร


    คราวหนึ่ง เพชรฆาตอาชีพ เคยสารภาพให้ฟังว่า เมื่อตอนแรกที่เขารับหน้าที่ฆ่าคน
    ด้วยการยิงเป้านักโทษนั้น นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลงเป็นอาทิตย์ หลับตา ลืมตา
    ก็เห็นแต่คนที่ตัวเองประหาร แต่พอฆ่าคนที่สอง สาม สี่ และห้า เขารู้สึกสนุก รื่นรมย์ เขาบอกอีกว่า เขาจำเสียงกระสุนที่เจาะชำแรกลงไปบนเนื้อนักโทษได้อย่างถนัดถนี่ จำกลิ่นเนื้อไหม้ที่เกิดจากการเสียดทานจากความร้อนแรงของกระสุนที่พุ่งเข้าไปฝัง อยู่ในร่างของนักโทษได้ จำสภาพนักโทษที่ดิ้นพลาดๆ แล้วแน่นิ่งคาหลักได้ จนลมหายใจเฮือกสุดท้ายขาดห้วงไป ได้เป็นอย่างดี

    เขาบอกอีกว่า เห็นภาพเหล่านี้แล้ว มีความสุขชะมัด ต่อมาเมื่อเกษียณแล้ว เขาจึงรู้สึกผิดมหันต์และตัดสินใจบวชไม่สึก เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับนักโทษเหล่านั้น

    เห็นไหมว่า การฆ่าอาจนำมาซึ่งความสุขในเบื้องต้น
    แต่มีผลเป็นความทุกข์ตรมขมไหม้ ในบั้นปลายอย่างนี้แน่นอน
    ใครที่มีความสุขจากการฆ่า จึงมีโอกาสถูกเขาฆ่าตอบ

    หนึ่งถูกฆ่า จนวางวายทำลายขันธ์ลงไปจริงๆ

    สองถูกฆ่า จากความสุข จมอยู่กับความทุกข์เพราะความรู้สึกผิดไปจนตาย

    คุณไม่ต้องกังวลว่า หากไม่มีใครฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้ว สัตว์จะไม่ถูกฆ่า
    โลกมีวัฏจักรของมันเอง คือ มีทั้งผู้ล่า และผู้ถูกล่า นี่คือ ห่วงโซ่อาหารของสิ่ง
    มีชีวิตทุกชนิด เราไม่สามารถทำให้คนทั้งโลกหยุดการฆ่าแล้วมาสมาทานศีล
    ได้ทั้งหมดหรอก


    สิ่งสำคัญที่เราทำได้ก็คือ เห็นเขาฆ่า อย่าไปฆ่าร่วมกับเขา อย่าสนับสนุนเขา
    อย่ามีความสุขจากการฆ่า และเหนืออื่นใด อย่าเกิดมาให้เขาฆ่าบ่อยๆ

    ภารกิจของเราในชีวิตนี้ก็คือ ปฏิบัติธรรมไป จนอยู่เหนือเกิดเหนือตาย
    ก็จะได้อยู่เหนือการฆ่าอย่างถาวร


    แต่ก่อนอื่นในชีวิตนี้ สิ่งที่คุณควรฆ่าก่อน เป็นอันดับแรก ก็คือ “กิเลส”

    เพราะการฆ่ากิเลส ฆ่าอย่างไรก็ไม่บาป
     

แชร์หน้านี้

Loading...