กรรมที่ทำให้ได้เป็นอริยะสงฆ์รูปแรกและรูปสุดท้าย

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย Lady_Yuna, 27 สิงหาคม 2014.

  1. Lady_Yuna

    Lady_Yuna เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 พฤษภาคม 2013
    โพสต์:
    41
    ค่าพลัง:
    +359
    [​IMG]
    .
    .
    ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นผู้ที่บรรลุธรรมเป็นคนแรก เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก ​
    .
    ส่วนท่านพระสุภัททปริพาชก ท่านเป็นพระสาวกองค์สุดท้าย ที่บรรลุธรรมด้วยพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นปัจฉิมสาวก​
    .
    ซึ่งการจะบรรลุธรรมของสัตว์โลก ก็จะต้องมีมูลคือเหตุคือการทำบุญไว้ในปางก่อนกับพระพุทธเจ้าในอดีต แม้ท่านทั้งสอง ก็ทำบุญไว้ในปางก่อนกับพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆดังนี้​
    .
    ย้อนถอยหลังไปนับจากกัปนี้ไปอีก ๙๑ กัป เป็นสมัยของสมเด็จพระวิปัสสีพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก. ในกาลนั้น กุฎุมพี ๒ พี่น้องคือ มหากาล(พระอัญญาโกณฑัญญะจุลกาล(พระสุภัททะ) ให้หว่านนาข้าวสาลีไว้มาก.​
    ในเวลานั้นพระเจ้าพันธุมะ แห่งกรุงพันธุมดีได้ทำมหาทานถวายแก่สมเด็จพระวิปัสสีพุทธเจ้า และเหล่าสาวก แล้วจึงโปรดให้เสนาบดีเป็นผู้ถวายต่อมา ครั้นในวันที่ ๒ เสนาบดีก็ได้ถวายมหาทาน หลังจากนั้น ชาวพระนครกระทำสักการะและสัมมานะให้ยิ่งกว่าสักการะที่พระราชาทรงกระทำแล้ว เมื่อถึงลำดับของชาวพระนครทั่วๆ ไป ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ประตูได้ตระเตรียมสักการะสัมมานะแล้ว.​

    มหากาล จึงกล่าวกับ จุลกาลผู้น้องชายว่า วันพรุ่งนี้ ถึงคราเราได้โอกาสสักการะแด่พระทศพล เราจะทำสักการะ โดยนำข้าวสาลีที่มีอยู่ในนาของเรา ที่กำลังออกรวงอ่อน แล้วนำเอาข้าวอ่อนนั้นเอามาเคี่ยวเป็นน้ำนมจนข้นปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวด ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข จุลกาลผู้น้องไม่เห็นด้วยเพราะจะเป็นการทำลายข้าวที่กำลังตั้งท้องอยู่ให้เสียหาย​
    .
    ในที่สุดสองพี่น้องตกลงแบ่งนาเป็น ๒ ส่วน ใครอยากทำอะไรก็ไปทำในนาที่เป็นส่วนของตน มหากาลจึงนำข้าวในส่วนของตนไปทำเป็นภัตตาหารตามที่ตนตั้งใจ แล้วถวายแด่พระบรมศาสดาและเหล่าพระภิกษุทั้งหลาย ในกาลเสร็จภัตกิจ เขาได้ทราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานอันเลิศของข้าพระองค์นี้ จงเป็นไปเพื่อความแทงตลอดธรรมอันเลิศก่อนกว่าสาวกทั้งปวง” พระศาสดาตรัสว่า "จงเป็นอย่างนั้นเถิด" แล้วได้ทรงทำอนุโมทนา​
    .
    มหากาลกลับไปดูนาข้าวอีกครั้ง ก็พบว่าข้าวในนาส่วนที่ถูกนำมาเป็นภัตตาหารก็กลับมีขึ้นเต็มดังเดิม มหากาลผู้พี่ในเวลาต่อ ๆ มาก็ได้ทำทานเช่นนั้นเป็นระยะ ๆ รวม ๙ ครั้ง ในเวลาข้าวเม่า ได้ถวายส่วนเลิศในข้าวเม่า ได้ถวายข้าวกล้าอย่างเลิศพร้อมกับชาวบ้าน ในเวลาเกี่ยว ได้ถวายส่วนเลิศในข้าวเกี่ยว ในเวลาทำเขน็ด ก็ถวายส่วนเลิศในข้าวเขน็ด ในเวลามัดเป็น ฟ่อนเป็นต้น ก็ถวายส่วนเลิศในข้าวฟ่อน ได้ถวายส่วนเลิศในข้าวในลาน ในเวลานวดก็ถวายส่วนเลิศในข้าวนวด ในเวลาข้าวขึ้นยุ้งก็ถวายส่วนเลิศในข้าวขึ้นยุ้ง ได้ถวายทานตามคราว ๙ ครั้ง สำหรับข้าวกล้าอย่างเดียวเท่านั้น ดังกล่าวมาฉะนี้ ข้าวกล้าแม้นั้นก็คงยังตั้งขึ้นเหลือเฟือ​
    ท่านกระทำเช่นนั้นตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ และตราบเท่าที่พระสงฆ์ยังมีอยู่ ครั้นสิ้นชีพแล้ว ก็บังเกิดในเทวโลก ท่านท่องเที่ยวไปในเทวดาและ มนุษย์ เสวยสมบัติตลอด ๙๑ กัป
    .
    มหากาลได้ถวายทานอัน เลิศรวม ๙ ครั้ง ในหน้าข้าวคราวหนึ่ง ส่วนจุลกาลถวายทานทำบุญตอนสุดท้าย คือ เมื่อข้าวกล้าสมบูรณ์ ​
    .
    มหากาลนั้นได้กลับชาติมาเกิดในสมัยสมเด็จพระโคดมพุทธเจ้า ได้ชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ ด้วยอานิสงส์ที่ได้ถวายถวายทานอันเลิศ ๙ ครั้ง ในหน้านาเดียวแก่สมเด็จพระวิปัสสีพุทธเจ้า พร้อมขอพรในการเป็นสาวกผู้บรรลุธรรมคนแรกในคราวนั้น จึงส่งผลให้ท่านได้เป็นสาวกผู้บรรลุธรรมองค์แรก เมื่อพระพุทธองค์ทรงกล่าวพระปฐมเทศนา ​
    .
    ส่วนจุลกาลได้กลับชาติมาเกิดเป็น สุภัททะปริพาชก ด้วยอานิสงส์ที่ได้ถวายถวายทานทีหลังสุด คือเมื่อข้าวกล้าออกรวงสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้ไปจะเฝ้าพระศาสดา ทั้งในปฐมโพธิกาล ทั้งในมัชฌิมโพธิกาล, แต่ว่าในปัจฉิมโพธิกาล ในเวลาเป็นที่ปรินิพพานแห่งพระศาสดา คิดว่า ​
    .
    "เราถามความสงสัยของเราในปัญหา ๓ ข้อกับปริพาชกทั้งหลายซึ่งเป็นคนแก่ ไม่ถามกะพระสมณโคดม ด้วยความสำคัญว่า "เป็นเด็ก" ​
    .
    แต่ตอนนี้ เป็นเวลาที่จะปรินิพพานของพระสมณโคดมนั้น ถ้าไม่ถามข้อสงสัยในตอนนี้ ความร้อนใจจะเกิดแก่เราในภายหลัง " สุภัททะจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา แม้ถูกพระอานนทเถระห้ามอยู่ เข้าไปแล้วสู่ภายในม่าน เพราะความที่พระศาสดาทรงอนุญาตแล้ว ​
    .
    สุภัททะจึงได้นั่งใกล้ข้างล่างเตียง ทูลถามปัญหากับพระพุทธองค์ ซึ่งเมื่อเขาได้ฟังพระเทศนาแล้ว ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี จึงเป็นพระสาวกองค์สุดท้าย ที่ได้รับฟังพระธรรมจากพระพุทธองค์ก่อนที่จะทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน​
    .
    .
    [​IMG]ร่วมเผยแผ่เรื่องกฎแห่งกรรมเป็นธรรมทาน [​IMG]

    http://www.facebook.com/LawsOfKarma
    .​
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 กันยายน 2014
  2. ถิ่นธรรม

    ถิ่นธรรม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    1,824
    ค่าพลัง:
    +5,398
    เล่าเรื่องดีแต่สลับกันครับ มหากาลมาเกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะซึ่งเป็นปฐมสาวก ส่วนจุลกาลมาเป็นพระสุภัททะซึ่งเป็นปัจฉิมสาวก เรื่องราวจริงเป็นแบบนี้
    -----------------------------------------------------------------------
    สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งผู้แทงตลอดธรรมก่อนในพระศาสนาของพระองค์ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ.
    กุลบุตรนั้นได้สดับเหตุนั้นแล้วคิดว่า ภิกษุนี้เป็นผู้ใหญ่หนอ ได้ยินว่า เว้นพระพุทธเจ้าเสีย ผู้อื่นชื่อว่าผู้แทงตลอดธรรมก่อนกว่าภิกษุนี้ ย่อมไม่มี แม้เราพึงเป็นผู้สามารถแทงตลอดธรรมก่อน ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต.
    ในเวลาจบเทศนา จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า นิมนต์ว่า พรุ่งนี้ขอพระองค์โปรดทรงรับภิกษาของข้าพระองค์. พระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว กุลบุตรนั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกระทำประทักษิณแล้วไปยังที่อยู่ของตน ประดับที่ประทับนั่งสำหรับพระพุทธเจ้า ด้วยของหอมและพวงมาลัยเป็นต้น ให้จัดของควรเคี้ยวและควรบริโภคอันประณีต ตลอดคืนยังรุ่ง.
    ล่วงราตรีนั้นได้ถวายข้าวสาลีหอมมีแกงและกับข้าวต่างๆ รส มีข้าวยาคูและของเคี้ยวอันวิจิตรเป็นบริวาร แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูปเป็นบริวาร ในที่อยู่ของตน ในเวลาเสร็จภัตกิจ ได้วางผ้าคู่พอทำจีวรได้สามผืน ใกล้พระบาทของพระตถาคต คิดว่า
    เราไม่ได้ขอเพื่อประโยชน์แก่ตำแหน่งเล็กน้อย เราปรารถนาตำแหน่งใหญ่จึงขอ แต่เราไม่อาจให้ทานเพียงวันเดียวเท่านั้นแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น จึงคิด (อีก) ว่า จักถวายทานตลอด ๗ วัน ติดต่อกันไป แล้วจึงจักปรารถนา.
    โดยทำนองนั้นนั่นเอง เขาจึงถวายมหาทาน ๗ วัน ในเวลาเสร็จภัตกิจ ได้ให้เปิดคลังผ้าวางผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีเยี่ยม ไว้ใกล้พระบาทแห่งพระพุทธเจ้า ให้ภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูปครองไตรจีวรแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าย ๗ วันแต่วันนี้ ข้าพระองค์พึงเป็นผู้สามารถบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้จะอุบัติในอนาคตแล้วรู้แจ้งได้ก่อนเหมือนภิกษุนี้ แล้วหมอบศีรษะลงใกล้พระบาทของพระศาสดา.
    พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงส่งอนาคตังสญาณไปตรวจดูว่า กุลบุตรนี้ได้กระทำบุญญาธิการไว้มาก ความปรารถนาของเธอจักสำเร็จไหมหนอ เมื่อทรงรำลึกก็ทรงเห็นความสำเร็จ.
    จริงอยู่ เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงรำพึงถึงอดีต อนาคตหรือปัจจุบัน ย่อมไม่มีอะไรขัดขวางเลย. เหตุที่เป็นอดีตหรือเหตุที่เป็นอนาคต ที่เป็นไปในภายในระหว่างแสนโกฏิกัปเป็นอันมากก็ดี ปัจจุบันระหว่างแสนจักรวาลก็ดี ย่อมเนื่องด้วยการนึก เนื่องด้วยมนสิการทั้งนั้น.
    พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ได้ทรงเห็นเหตุนี้ ด้วยญาณที่ไม่มีใครๆ ให้เป็นไปได้ว่า ในอนาคต ในที่สุดแสนกัป พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคตมะ จักอุบัติขึ้นในโลก ครั้งนั้น ความปรารถนาของกุลบุตรนี้จักสำเร็จ.
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะกุลบุตรนั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนกุลบุตรผู้เจริญ ในอนาคต ในที่สุดแสนกัป พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคตมะ จักอุบัติขึ้นในโลก ท่านจักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล อันถึงพร้อมด้วยนัยพันนัย พร้อมด้วยพรหม ๑๘ โกฏิ เวลาจบพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรอันมีวนรอบ ๓ ด้วยการแสดงธรรมครั้งแรกของพระโคดมพุทธเจ้านั้น.
    พระศาสดาครั้นทรงพยากรณ์กุลบุตรนั้นดังนี้แล้ว ทรงแสดงธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ, สรีระของพระองค์ผู้ปรินิพพานแล้ว ได้เป็นแท่งอันเดียวกัน เหมือนก้อนทองฉะนั้น.
    ก็ชนทั้งหลายได้สร้างเจดีย์บรรจุพระสรีระของพระองค์สูง ๗ โยชน์ อิฐทั้งหลายล้วนแล้วด้วยทองคำ ชนทั้งหลายใช้หรดาลและมโนสิลาแทนดินเหนียว ใช้น้ำมันงาแทนน้ำ ในเวลาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายยังทรงพระชนม์อยู่รัศมีแห่งพระสรีระแผ่ไป ๑๒ โยชน์. ก็เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายปรินิพพานแล้ว รัศมีนั้นสร้านออกปกคลุมที่ร้อยโยชน์โดยรอบ.
    เศรษฐีนั้นให้สร้างของควรค่าเท่ารัตนะพันดวงล้อมเจดีย์บรรจุพระสรีระของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. ในวันประดิษฐานพระเจดีย์ ให้สร้างเรือนแก้วภายในเจดีย์. เศรษฐีนั้นกระทำกัลยาณกรรม ล้วนแล้วด้วยทานใหญ่โตถึงแสนปี เคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในสวรรค์.
    เมื่อเศรษฐีนั้นท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนั่นเอง ล่วงไป ๙๙,๙๐๙ กัป เมื่อกาลล่วงไปเท่านี้ ในท้ายกัปที่ ๙๑ จากภัทรกัปนี้ กุลบุตรนี้บังเกิดในเรือนแห่งกุฏุมพี ในรามคาม ใกล้ประตูกรุงพันธุมดี ได้นามว่ามหากาล. ส่วนน้องชายของท่านนามว่าจุลกาล.
    สมัยนั้น พระโพธิสัตว์พระนามว่าวิปัสสี จุติจากดุสิตบุรี บังเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าพันธุมะ กรุงพันธุมดี บรรลุพระสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ อันท้าวมหาพรหมอาราธนาเพื่อประโยชน์แก่การแสดงธรรม จึงดำริว่า เราจักแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ทรงเห็นพระราชกุมารทรงพระนามว่าขัณฑะ ผู้เป็นพระกนิฏฐาของพระองค์ และบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ ว่าเป็นผู้สามารถตรัสรู้ธรรมก่อน จึงทรงดำริว่า เราจักแสดงธรรมแก่ชนทั้งสองนั้น และจักสงเคราะห์พระพุทธบิดา จึงเสด็จเหาะมาจากโพธิมัณฑสถาน ลงที่เขมมิคทายวัน รับสั่งให้เรียกคนทั้ง ๒ นั้นมาแล้วแสดงธรรม.
    ในเวลาจบเทศนา ชนทั้งสองดำรงอยู่ในพระอรหัตผลพร้อมกับสัตวโลก ๘๔,๐๐๐ คน อีกพวกหนึ่งผู้บวชตามในเวลาพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ ฟังเรื่องนั้นแล้ว ก็มาเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมเทศนา ดำรงอยู่ในพระอรหัตผล.
    ณ ที่นั้นเอง พระศาสดาทรงสถาปนาพระขัณฑเถระไว้ ในตำแหน่งพระอัครสาวกรูปที่ ๑ ทรงสถาปนาพระติสสเถระไว้ในตำแหน่งอัครสาวกรูปที่ ๒.
    ฝ่ายพระราชาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่าจักเยี่ยมบุตรจึงเสด็จไปพระราชอุทยาน ทรงสดับพระธรรมเทศนา ดำรงอยู่ในรัตนะ ๓ นิมนต์พระศาสดาเพื่อเสวยภัตตาหาร ถวายบังคมแล้ว กระทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ พระองค์ขึ้นสู่ปราสาทอันประเสริฐแล้วประทับนั่ง ทรงดำริว่า บุตรคนโตของเราออกบวชเป็นพระพุทธเจ้า บุตรคนที่ ๒ ของเราก็เป็นอัครสาวก บุตรปุโรหิตเป็นสาวกที่ ๒ และภิกษุที่เหลือเหล่านี้ ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ เที่ยวแวดล้อมบุตรของเราเท่านั้น ภิกษุเหล่านี้ทั้งเมื่อก่อน ทั้งบัดนี้เป็นภาระของเราผู้เดียว เราเท่านั้นจักบำรุงภิกษุเหล่านั้นด้วยปัจจัย ๔ จักไม่ให้โอกาสแก่คนเหล่าอื่น จึงให้สร้างรั้วไม้ตะเคียนสองข้าง ตั้งแต่ซุ้มประตูพระวิหารจนถึงทวารพระตำหนักพระราชนิเวศน์ ให้ปิดด้วยผ้า ให้สร้างเพดานพวงดอกไม้ต่างๆ แม้ขนาดต้นตาล วิจิตรด้วยดาวทองห้อยเป็นระย้า ให้ลาดพื้นล่างด้วยเครื่องลาดอันวิจิตร ให้ตั้งหม้อน้ำเต็ม ไว้ใกล้กอมาลัยและของหอมทั้งสองข้าง วางดอกไม้ไว้ระหว่างของหอม และวางของหอมไว้ในระหว่างดอกไม้ เพื่อให้กลิ่นตลบตลอดทาง แล้วกราบทูลเวลาแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
    พระผู้มีพระภาคเจ้าอันหมู่ภิกษุแวดล้อมแล้วเสด็จไปสู่พระราชมณเฑียร กระทำภัตกิจแล้ว กลับมายังวิหารภายในม่านนั่นแหละ. ใครๆ อื่น แม้จะดูก็ยังไม่ได้ แล้วไฉนจะได้ถวายภิกษาหารและการบูชาเล่า.
    ชาวพระนครคิดว่าเมื่อพระศาสดาเสด็จอุบัติขึ้นในโลกเป็นเวลา ๗ ปี ๗ เดือน ในวันนี้ พวกเราก็ยังไม่ได้เฝ้า จะป่วยกล่าวไปไยที่จะได้ถวายภิกษา กระทำการบูชา หรือฟังธรรมเล่า. พระราชายึดถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นของเรา พระสงฆ์เป็นของเรา จึงทรงบำรุงด้วยพระองค์เองผู้เดียว. พระศาสดา เมื่อเสด็จอุบัติก็อุบัติเพื่อประโยชน์แก่โลกพร้อมด้วยเทวโลก หาอุบัติเพื่อประโยชน์แก่พระราชาเท่านั้นไม่ นรกเป็นของร้อนสำหรับพระราชาพระองค์เดียว สำหรับชนเหล่าอื่นเป็นเหมือนดอกอุบลเขียว ก็หาไม่ เพราะฉะนั้น เราจะกราบทูลพระราชาอย่างนี้ว่า ถ้าพระราชาจะประทานพระศาสดาแก่พวกเราไซร้ ข้อนั้นเป็นการดี ถ้าไม่ให้ พวกเราจะรบกับพระราชาแล้วรับสงฆ์ไปกระทำบุญมีทานเป็นต้น
    ก็แลชาวพระนครล้วนๆ ไม่อาจทำอย่างนี้ได้ พวกเราจะยึดเอาแม้คนผู้เป็นหัวหน้าไว้คนหนึ่ง ดังนี้แล้วจึงเข้าไปหาเสนาบดี บอกความนั้นแก่ท่าน แล้วกล่าวว่า นาย ท่านเป็นฝ่ายของเรา หรือฝ่ายพระราชา.
    เสนาบดีกล่าวว่า เราจะเป็นฝ่ายท่าน ก็แต่ว่า พวกท่านต้องให้เราวันแรก.
    ชาวพระนครก็รับคำ.
    เสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ชาวพระนครโกรธพระองค์. พระราชาถามว่า โกรธเรื่องไรละพ่อ.
    เสนาบดีกราบทูลว่า ได้ยินว่า พระองค์เท่านั้นบำรุงพระศาสดา พวกเราไม่ได้ แล้วทูลว่า ถ้าพวกอื่นได้ เขาไม่โกรธ เมื่อไม่ได้ ประสงค์จะรบกับพระองค์ พระเจ้าข้า.
    พระราชาตรัสว่า รบก็รบซิพ่อ เราไม่ให้ภิกษุสงฆ์ละ.
    เสนาบดีทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พวกทาสของพระองค์พูดว่าจะรบกับพระองค์ แล้วพระองค์จักเอาใครรบ. พระราชาตรัสว่า ท่านเป็นเสนาบดี มิใช่หรือ? เสนาบดีทูลว่า เว้นชาวพระนครเสีย ข้าพระองค์ไม่สามารถ พระเจ้าข้า.
    ลำดับนั้น พระราชาทราบว่า ชาวพระนครมีกำลัง ทั้งเสนาบดีก็เป็นฝ่ายของชาวพระนครเหล่านั้นเหมือนกัน จึงตรัสว่า. ชาวพระนครจงให้ภิกษุสงฆ์แก่เราอีก ๗ ปี ๗ เดือน. ชาวพระนครไม่รับ พระราชาทรงให้ลดลงอย่างนี้คือ ๖ ปี ๕ ปี จึงขออีก ๗ วัน.
    ชาวพระนครอนุญาตด้วยเห็นว่า การที่เรากระทำกรรมอันหยาบช้า กับพระราชาในบัดนี้ ไม่สมควร.
    พระราชาทรงจัดทานมุข (ทานที่เป็นประธาน) ที่จัดไว้สำหรับ ๗ ปี ๗ เดือน เพื่อ ๗ วันเท่านั้น เมื่อใครๆ ไม่เห็นอยู่เลย ให้ทานอยู่ ๖ วัน ในวันที่ ๗ จึงให้เรียกชาวพระนครมาตรัสว่า ดูก่อน พ่อทั้งหลาย พวกท่านจักอาจให้ทานเห็นปานนี้หรือ.
    ชาวพระนครแม้เหล่านั้นกราบทูลว่า ทานนั้นเกิดขึ้นแก่พระองค์ เพราะอาศัยพวกข้าพระองค์เท่านั้นมิใช่หรือ? เพราะฉะนั้น พวกข้าพระองค์จักอาจถวายทานได้.
    พระราชาทรงเอาหลังพระหัตถ์เช็ดน้ำพระเนตร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดว่า จักทำภิกษุ ๖,๘๐๐,๐๐๐ รูปให้เป็นภาระของคนอื่นแล้วบำรุงด้วยปัจจัย ๔ ตลอดชีวิต บัดนี้ ข้าพระองค์อนุญาตให้ชาวพระนครแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ชาวพระนครเขาโกรธว่า พวกเขาไม่ได้ถวายทาน ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป โปรดทรงอนุเคราะห์แก่ชาวพระนครเหล่านั้นเถิด.
    ครั้นในวันที่ ๒ เสนาบดีได้ถวายมหาทาน. ต่อแต่นั้น ชาวพระนครกระทำสักการะและสัมมานะให้ยิ่งกว่าสักการะที่พระราชาทรงกระทำแล้ว ได้ถวายทานโดยทำนองนั้นนั่นแหละ เมื่อถึงลำดับของชาวพระนครทั่วๆ ไป ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ประตูได้ตระเตรียมสักการะสัมมานะแล้ว.
    กุฏุมพีมหากาลกล่าวกะกุฏุมพีจุลกาลว่า สักการะและสัมมานะของพระทศพล ถึงแก่เราวันพรุ่งนี้ เราจะทำสักการะอย่างไร? จุลกาลกล่าวว่า ดูก่อนพี่ท่าน ท่านเท่านั้นจงรู้.
    มหากาลกล่าวว่า ถ้าท่านทำตามชอบใจของเรา ข้าวสาลีที่ตั้งท้องแล้วๆ มีอยู่ในนา ประมาณ ๑๖ กรีสของเรา เราจักให้ฉีกท้องข้าวสาลี ถือเอามาหุงให้สมควรแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย. จุลกาลกล่าวว่า เมื่อทำอย่างนี้ย่อมไม่เป็นอุปการะแก่ใครๆ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่พอใจข้อนั้น.
    มหากาลกล่าวว่า ถ้าท่านกล่าวอย่างนี้ ข้าก็จะทำตามความชอบใจของข้า แล้วจึงแบ่งนา ๑๖ กรีส ผ่ากลางเป็น ๒ ส่วนเท่าๆ กัน ปักเขตในที่ ๘ กรีส ผ่าท้องข้าวสาลีเอาไปเคี่ยวด้วยน้ำนมไม่ผสม ใส่ของอร่อย ๔ ชนิด แล้วถวายแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน. ที่ที่ฉีกท้องข้าวสาลีแม้นั้นแล้วถือเอาๆ ก็กลับเต็มอีก. ในเวลาข้าวเม่า ได้ถวายส่วนเลิศในข้าวเม่า ได้ถวายข้าวกล้าอย่างเลิศ พร้อมกับชาวบ้าน ในเวลาเกี่ยว ถวายส่วนเลิศในข้าวเกี่ยว ในเวลาทำเขน็ดก็ถวายส่วนเลิศในข้าวเขน็ด ในเวลามัดเป็นฟ่อนเป็นต้นก็ถวายส่วนเลิศในข้าวฟ่อน ได้ถวายส่วนเลิศในข้าวในลาน ในเวลานวดก็ถวายส่วนเลิศในข้าวนวด ในเวลาข้าวขึ้นยุ้งก็ถวายส่วนเลิศในข้าวขึ้นยุ้ง ได้ถวายทานตามคราว ๙ ครั้งสำหรับข้าวกล้าอย่างเดียวเท่านั้น ดังกล่าวมาฉะนี้ ข้าวกล้าแม้นั้นก็คงยังตั้งขึ้นเหลือเฟือ.

    ท่านกระทำกรรมงามตามทำนองนั้นแลตราบเท่าที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ และตราบเท่าที่พระสงฆ์ยังมีอยู่. (ครั้น) จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก. ท่านท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ เสวยสมบัติตลอด ๙๑ กัป.
    ในเวลาที่พระศาสดาของเราทรงอุบัติขึ้นในโลก ก็บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในบ้านพราหมณ์โทณวัตถุ ไม่ไกลกรุงกบิลพัสดุ. ในวันขนานนาม พวกญาติขนานนามท่านว่า โกณฑัญญมาณพ. ท่านเจริญวัยแล้ว เรียนไตรเพทจบ ลักษณะมนต์ทั้งหลาย (ตำราทายลักษณะ).
    ที่มา อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๑

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 สิงหาคม 2014
  3. Lady_Yuna

    Lady_Yuna เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 พฤษภาคม 2013
    โพสต์:
    41
    ค่าพลัง:
    +359
    ตรวจสอบแล้วชื่อสลับกันจริงๆ ขอบคุณมากที่ทักท้วงค่ะ ได้ทำการแก้ไขให้ถูกต้องแล้วค่ะ

    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 กันยายน 2014

แชร์หน้านี้

Loading...