กรรมฐานภาพพระ จากพระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺปญฺโญ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย firstini, 5 พฤศจิกายน 2012.

  1. firstini

    firstini เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 มีนาคม 2006
    โพสต์:
    1,213
    ค่าพลัง:
    +3,770
    วันก่อนมีกระทู้ถามถึงกรรมฐานภาพพระ ผมแนะนำไปว่าให้ไปค้นๆที่ท่านพระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ แห่งวัดท่าขนุนได้เคยกล่าวสอนเอาไว้...
    เพราะผมใช้ตรงนั้นนั่นแหละมาเจริญกรรมฐาน และจำได้ว่าท่านสอนควบวิปัสสนาไว้ด้วย
    แต่มาคิดได้ในภายหลังว่า เขาจะหาเจอมั้ยหนอ วันนี้เลยไปค้นมาแบ่งปันเพื่อนๆสมาชิกครับ
    โดยผมจัดหน้า ย่อหน้า ให้อ่านแล้วคิดตามได้ง่ายตามความรู้สึกของผมนะครับ


    ๖. พุทธานุสติ พรหมวิหาร ๔ ธาตุ ๔

    ทุกคนนั่งตัวตรงแต่ไม่ต้องเกร็งร่างกาย หลับตาลงเบาๆ สบายๆ เหมือนกับเรากำลังนั่งคุยกับใครสักคน
    เอาตาเรามองย้อนเข้าไปในศีรษะ มองย้อนลงไปในอก มองย้อนลงไปถึงในท้อง
    ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าว่า พุท หายใจออกว่า โธ
    หายใจเข้าผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกจากท้อง ผ่านกลางอก ออกมาที่ปลายจมูก
    เวลาลมกระทบจมูก กระทบกึ่งกลางอก กระทบที่สุดของท้องให้รู้ไว้ เวลาลมออกจากท้อง กระทบกึ่งกลางอก กระทบปลายจมูกให้รู้ไว้
    เอาความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกนี้เท่านั้น
    ถ้ามันคิดเรื่องอื่น ให้ดึงมันกลับมาอยู่กับลมหายใจทันที หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ

    นึกถึงภาพพระไว้องค์หนึ่ง ที่เรารักเราชอบมากที่สุด จะเป็นภาพแบบพระสงฆ์ก็ดี แบบพระพุทธก็ดี แบบพระวิสุทธิเทพก็ดี
    ให้อยู่ตรงหน้าของเรา ตรงๆ ไปข้างหน้า อย่าใช้สายตามอง อย่าใช้สายตาเพ่ง
    กำหนดใจสบายๆ ว่ามีภาพพระพุทธรูปอยู่ตรงหน้าของเรา จะเห็นหรือไม่เห็นช่างมัน
    ให้เรารู้สึกและมั่นใจว่ามีพระอยู่ตรงหน้าของเรา หายใจเข้าจดจ่ออยู่ที่ภาพพระนั้น หายใจออกกำลังใจจดจ่ออยู่ที่ภาพพระนั้น
    หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระก็สว่างขึ้น หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น
    ทำใจเบาๆ สบายๆ นึกว่ามีพระพุทธรูปสว่างๆ องค์หนึ่งอยู่ตรงหน้าของเรา สายตาไม่เห็นไม่เป็นไร เพราะเราหลับตาต้องไม่เห็นอยู่แล้ว

    เอาความรู้สึกทั้งหมดจดจ่ออยู่ตรงหน้านั้น นึกถึงภาพพระนั้นไว้ หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ
    หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น จดจ่อให้แน่วแน่อยู่สักครู่หนึ่ง

    คราวนี้กำหนดกำลังใจของเรา ดึงเอาภาพพระนั้นมา อยู่เหนือศีรษะของเรา
    เท่ากับว่าตอนนี้ เรามีพระพุทธรูปอยู่บนศีรษะ เป็นพระพุทธรูปแก้วใส สว่าง สะอาด อยู่ข้างบน เปล่งรัศมีใสสว่าง ครอบคลุมตัวเราลงมา

    หายใจเข้า พระพุทธรูปก็สว่าง หายใจออก พระพุทธรูปก็สว่าง ความสว่างไสวอยู่เหนือศีรษะของเรานี่เอง ให้พระพุทธรูปหันหน้าไปด้านเดียวกับเรา
    เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขนาดที่เรากำหนดความรู้สึก ควบคุมได้แบบสบาย ๆ ต้องการหน้าตักกว้างสักเท่าไหร่ เรากำหนดเอาเอง

    หายใจเข้าพระก็สว่าง หายใจออกพระก็สว่าง
    ยิ่งเอาใจจดจ่ออยู่กับภาพพระ ยิ่งกำหนดลมหายใจเข้าออกมากเท่าไหร่ พระองค์ท่านก็สว่างมากขึ้นทุกทีๆ
    ความสว่างนั้นครอบคลุมตัวเราลงมา จนกระทั่งตัวเราก็พลอยสว่างไปทั้งหมดด้วย

    กำหนดใจว่าภาพพระสว่าง ตัวเราก็สว่าง ถ้ามันจะภาวนา ให้มันภาวนา ถ้ามันไม่ต้องการภาวนาก็ปล่อยมัน ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน
    กำหนดลมหายใจเข้าออก พร้อมกับภาพพระที่สว่างอยู่เฉย ๆ

    คราวนี้กำหนดภาพพระ เพิ่มขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง องค์แรกสว่างไสวอยู่บนศีรษะของเรา องค์ที่สองนี้เอาท่านเข้ามา อยู่ในกะโหลกศีรษะของเรา
    เหมือนกับว่าตอนนี้หัวของเราว่างๆ เปล่า ๆ ไม่มีอะไรเลย มีพระพุทธรูปแก้วใสๆ สว่างๆ อยู่ในหัวองค์หนึ่ง อยู่บนหัวองค์หนึ่ง
    พระพุทธรูปองค์แรกอยู่เหนือหัวของเรา องค์ที่สองอยู่ในหัวของเรา
    หายใจเข้าภาพพระทั้งสองก็สว่างขึ้น หายใจออกภาพพระทั้งสององค์ก็สว่างขึ้น หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น

    จากนั้นกำหนดภาพพระองค์หนึ่ง ให้อยู่กึ่งกลางอกของเรา ตรงที่ลมหายใจต้องผ่าน
    ภาพพระองค์แรก อยู่เหนือศีรษะของเรา องค์ที่สอง อยู่ในหัวของเรานี่เอง องค์ที่สาม อยู่กึ่งกลางอกของเรา

    หายใจเข้าภาพพระทั้งสามองค์ก็สว่างขึ้น หายใจออกภาพพระทั้งสามองค์ก็สว่างขึ้น ใครจะกำหนดให้องค์ไหนใหญ่ แล้วแต่เราชอบ แล้วแต่ถนัด
    องค์ที่หนึ่งใหญ่ องค์ที่สองเล็ก องค์ที่สามใหญ่ ก็แล้วแต่เราชอบ
    หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ หายใจเข้า ภาพพระทั้งสามองค์สว่างขึ้น หายใจออก ภาพพระทั้งสามองค์สว่างขึ้น

    จากนั้นให้กำหนดภาพพระองค์ที่สี่ ให้อยู่ในท้องของเรา
    อยู่ตรงที่ลมหายใจเข้าออกไปสุดอยู่ตรงนั้น หายใจเข้าลมจะไปสุดอยู่ตรงนั้น หายใจออกลมจะออกจากตรงนั้น
    ให้มีภาพพระพุทธรูปองค์ที่สี่อยู่ในท้องของเรา ใสสว่างเหมือนกัน

    องค์ที่หนึ่งอยู่เหนือศีรษะของเรา องค์ที่สองอยู่ในศีรษะของเรา ระดับเดียวกับสายตาของเรา องค์ที่สามอยู่ในอก องค์ที่สี่อยู่ในท้อง
    ตอนนี้เรามีพระพุทธรูปอยู่ด้วยกับเราสี่องค์ หายใจเข้าพระพุทธรูปก็สว่างขึ้น หายใจออกพระพุทธรูปก็สว่างขึ้น

    เหมือนกับว่าเราหายใจผ่านทางศีรษะของเรา ลมหายใจเข้า ผ่านพระองค์ที่หนึ่ง มาถึงองค์ที่สอง ถึงองค์ที่สาม ไปสิ้นสุดที่องค์ที่สี่
    ภาพพระสว่างสดใสขึ้นตามลมหายใจ หายใจออก ลมหายใจกลับพระองค์ที่สี่ มาพระองค์ที่สาม มาที่พระองค์ที่สอง ไปหมดที่พระองค์ที่หนึ่ง
    ภาพพระยังคงใสสว่างอย่างนั้น

    หายใจเข้า ภาพพระพุทธรูปองค์ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ สว่าง
    หายใจออก พระพุทธรูปองค์ที่สี่ ที่สาม ที่สอง ที่หนึ่งก็สว่าง
    หายใจเข้าหนึ่ง สอง สาม สี่ หายใจออก สี่ สาม สอง หนึ่ง
    เข้าพระสว่างทุกองค์ ออกพระสว่างทุกองค์

    หายใจเข้า พระพุทธรูปองค์ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ สว่างขึ้น
    หายใจออก พระพุทธรูปองค์ที่สี่ ที่สาม ที่สอง ที่หนึ่ง สว่างขึ้น
    เข้า หนึ่ง สอง สาม สี่ ออก สี่ สาม สอง หนึ่ง
    เข้า หนึ่ง สอง สาม สี่ ออก สี่ สาม สอง หนึ่ง พระพุทธรูปสว่างไสวไม่มีประมาณ

    จากนั้นกำหนดภาพพระองค์ที่หนึ่ง องค์สอง และองค์สี่ มารวมกันอยู่ในอกของเรา
    กลายเป็นพระพุทธรูปแก้วใส อยู่ในอกของเราองค์เดียว
    ภาพพระทั้งสี่องค์ ตอนนี้เหลืออยู่ในอกของเราองค์เดียว

    กำหนดให้ท่านเลื่อนลงไปอยู่ในท้อง เล็กลงไปหน่อยหนึ่ง ตามลมหายใจเข้าไป อยู่ที่ท้องท่านก็เล็กลง
    เลื่อนออกมาตามลมหายใจออก ท่านก็ค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น มาที่อก มาที่ศีรษะ ไปอยู่เหนือหัวโน่น ใหญ่เบ้อเร่อเลย

    หายใจเข้า ท่านก็ไหลเข้ามา จากใหญ่ก็เป็นเล็ก มาอยู่ในศีรษะ มาอยู่ในอก ลงไปที่ท้อง เป็นองค์เล็กจิ๋วอยู่ในท้องโน่น
    หายใจออก กำหนดภาพท่านใหญ่ขึ้น มาที่หน้าอก มาที่ศีรษะ ไปใหญ่โตมโหฬาร อยู่เหนือศีรษะเราโน่น

    หายใจเข้า พระพุทธรูปแก้วองค์ใหญ่เล็กลง ๆ ๆ ไปอยู่ในท้องของเรา
    หายใจออก พระพุทธรูปแก้วองค์เล็กใหญ่ขึ้น ๆ ๆ จนไปอยู่บนศีรษะของเรา
    หายใจเข้า ภาพพระเล็กลง ๆ ๆ ไปอยู่ในท้อง หายใจออก ภาพพระใหญ่ขึ้น ๆ ๆ เลื่อนไปอยู่บนศีรษะ

    คราวนี้กำหนดใจ ให้นิ่งอยู่กับภาพพระบนศีรษะ ตอนนี้เรามีพระพุทธรูปองค์เดียว
    พระพุทธรูปทุกองค์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหมด อยู่บนศีรษะของเรา สว่างไสวไปทั่ว ให้กำหนดใจ แผ่เมตตาไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
    ให้รัศมีขาวสะอาดสว่างไสวของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แผ่กว้างจากร่างกายของเราออกไป เหมือนอย่างกับเราโยนก้อนหินลงน้ำ
    แล้วน้ำกระเพื่อมเป็นวงกว้างออกไป ๆ ทุกที กว้างออกไปจากร่างกายของเรา เต็มทั้งห้อง ๆ นี้ ทั้งวัดนี้ ทั้งตลาด ทั้งอำเภอ ทั้งจังหวัด
    กำหนดใจกว้างออกไปเรื่อย ๆ ตั้งใจว่า
    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
    ผู้ที่ชีวิตทั้งหลายของท่านเหล่านั้น ตกล่วงไปแล้วในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงไปเสวยสุขในสุคติภพโดยทั่วหน้ากันเถิด...”

    กำหนดกำลังใจ ให้แผ่กว้างออกไปเรื่อย ๆ จากทั้งจังหวัดก็ไปทั้งประเทศ ไปทั้งทวีป ไปทั้งโลก
    เหมือนกับภาพพระพุทธรูปและตัวเรา โตเต็มแผ่นดินแผ่นฟ้า โลกเราทั้งโลกเหมือนกับลูกอะไรเล็กๆ ลูกเดียว ที่อยู่ภายใต้ร่างกายของเรา
    กำหนดใจเอาไว้แผ่เมตตาออกไปให้ตั้งใจเอาไว้ว่า
    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
    ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ตกอยู่ในความทุกข์ยากเศร้าหมอง เดือดร้อนลำเค็ญ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เจ็บไข้ได้ป่วย พิกลพิการใดๆ ก็ดี
    ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงได้ล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายนั้นเถิด...”

    กำหนดกำลังใจให้แผ่กว้างออกไปเรื่อย ๆ จากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น ๆ ดวงดาวดวงอื่น ๆ ไปทั้งจักรวาลนี้ ไปทั้งจักรวาลอื่น ๆ ที่มีดวงดาวนับประมาณไม่ได้
    ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ที่มีมนุษย์ มีสัตว์ ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น ได้รับผลแห่งความเมตตา ที่แผ่ออกจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผ่านกายของเราออกไป
    ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น พ้นทุกข์ มีความสุขโดยทั่วหน้ากัน กำหนดใจสบาย ๆ คิดว่า
    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ท่านทั้งหลายเหล่านั้น มีความสุขความเจริญดีอยู่แล้ว
    ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น มีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยเถิด...”

    นึกถึงภาพพระที่ใสสว่าง นึกถึงตัวเราที่ใสสว่าง นึกถึงกระแสเมตตาที่ใสสว่าง ให้แผ่ปรกไปทั่วทั้งทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า
    เบื้องต่ำสุด ถึงอเวจีมหานรก นรกทุกขุม เปรตทุกจำพวก อสุรกายทุกประเภท สัตว์เดรัจฉานทุกชนิด
    มนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ในทุกจักรวาล เทวดาทั้งหมด พรหมทั้งหมด พระในนิพพานทั้งหมด
    ล้วนแต่อยู่ในกระแสเมตตา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสิ้น ให้กำหนดใจว่า
    “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
    พึงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกัน เสียสละให้ปัน ช่วยเหลือเกื้อกูล แก่ผู้ที่ตกอยู่ใน ความทุกข์ยากยิ่งกว่าเรา ให้พ้นทุกข์ เพื่อยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย
    ไปสู่สันติสุขโดยถ้วนหน้าคือพระนิพพาน ด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ...”

    จากนั้นน้อมจิตน้อมใจ กราบลงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สว่างไสว ที่ใหญ่โตหาประมาณไม่ได้
    ให้คิดว่าท่านคือพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาโปรดเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่อยู่ที่ใดเลยนอกจากพระนิพพาน
    เราเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน ถ้าเราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน

    ให้กำหนดใจเบา ๆ สบาย ๆ มีองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวอยู่กับเรา
    ความใส สะอาด สว่าง สงบ เยือกเย็นของพระนิพพานเป็นอันหนึ่งอันเดียวของเรา
    จากนั้นกำหนดใจดูสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่ตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ คือความเป็นจริง ๓ อย่าง
    ได้แก่ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนให้ยึดถือได้

    ดูว่า ไม่ว่าคน ว่าสัตว์ ว่าพืชก็ตาม เมื่อแรกเกิดก็เล็กนิดเดียว แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปเรื่อย ๆ เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จนอยู่ในวัยเด็ก
    จากเด็กเล็กก็เป็นเด็กโต เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นวัยกลางคน เป็นคนแก่ เป็นสัตว์แก่ เป็นต้นไม้ชรา
    ในที่สุดก็เสื่อมสลายตายพังไป มันไม่เที่ยงอย่างนี้ ขณะที่ดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์
    ต้องเจ็บ ต้องป่วย ต้องหนาว ต้องร้อน ต้องหิว ต้องกระหาย ต้องหาให้มันกิน หาให้มันดื่ม เข้าห้องน้ำ เข้าห้องส้วม
    รักษาพยาบาล ดูแลทำความสะอาดมัน ไม่ให้สกปรก
    ต้นไม้ทั้งหลายก็ต้องหากิน ต้องแผ่ขยายรากลงไปในหิน ในดิน ซึ่งบางที่ก็แข็งกว่าจะเจาะผ่านไปได้ ก็แสนลำบากยากเย็น
    กว่าจะหาธาตุอาหารได้สักส่วนหนึ่ง กว่าจะหาน้ำได้สักส่วนหนึ่ง มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา
    ไม่ว่าจะคน จะสัตว์ จะวัตถุธาตุ สิ่งของใดๆ ก็ตาม ตกอยู่ในความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์อย่างนี้ทั้งนั้น
    จากนั้นก็กำหนดใจดูไปว่า ตัวคนก็ดี ตัวสัตว์ก็ดี ต้นไม้ก็ดี สิ่งของก็ดี มันไม่มีอะไร เป็นส่วนประกอบแท้จริงส่วนเดียว
    ล้วนเกิดจากสิ่งของหลายอย่าง รวมกันขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนทั้งนั้น
    เอาตัวเราเป็นหลักก็แล้วกัน ร่างกายของเรานี้เกิดจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ รวมกันขึ้นมาชั่วคราว
    แล้วเราก็มาอาศัยอยู่ เหมือนคนที่อยู่ในบ้าน เหมือนเต่าที่อยู่ในกระดอง เหมือนหอยที่อยู่ในเปลือก เหมือนคนที่ขับรถยนต์
    ธาตุ ๔ นี้เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ เป็นอย่างไร ? ให้กำหนดใจนึกตามไป

    ธาตุดิน คือส่วนที่แข็ง เป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ ปอด
    อวัยวะภายในใหญ่น้อย อวัยวะภายนอกใหญ่น้อย ทั้งปวงที่จับได้ต้องได้ มีความแข็งเรียกว่าธาตุดิน
    ธาตุน้ำ คือส่วนที่เหลว เอิบอาบไหลอยู่ในร่างกายของเรา คือเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ
    ธาตุลม คือส่วนที่พัดไปมาอยู่ในร่างกายของเรา มีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมที่ค้างในท้อง ลมที่ค้างในไส้ เรียกว่าแก๊ส
    ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย เรียกความดันโลหิต
    ธาตุไฟ คือส่วนที่ให้ความอบอุ่น ได้แก่ ไฟธาตุที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต เผาผลาญร่างกายให้ทรุดโทรมลง ช่วยในการย่อยอาหาร
    ช่วยในการรักษาสภาพความสมดุลของร่างกายเราเอาไว้

    ลองแยกทั้งหมดออกเป็น ๔ ส่วนด้วยกัน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ ปอด อวัยวะภายในภายนอก รวมไว้กองหนึ่ง
    ส่วนที่เป็นน้ำ คือ เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ แยกไว้อีกกองหนึ่ง
    ส่วนที่เป็นลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดขึ้นเบื้องสูง ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมพัดไปทั่วร่างกาย แยกไว้อีกกองหนึ่ง
    ส่วนที่เป็นความอบอุ่นในร่างกาย ที่ก่อให้เกิดความสมดุล ส่วนที่ช่วยเผาผลาญย่อยอาหาร
    ส่วนที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต ทำลายร่างกายให้ทรุดโทรมลง แยกไว้อีกกองหนึ่ง
    จะเห็นว่ากองนี้คือดิน กองนี้คือน้ำ กองนี้คือลม กองนี้คือไฟ ไม่มีอะไรเหลือเป็นเราเลยแม้แต่นิดหนึ่งก็ไม่มี
    เอาดิน เอาน้ำ เอาลม เอาไฟเหล่านี้มาขยำรวม ๆ กันเข้า ปั้นเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เรามาอาศัยมันอยู่ ก็ไปคิดว่าเป็นตัวกู ของกู

    ตัวเรา ของเรา จริง ๆ แล้วมันไม่มี มันเป็นรถยนต์ที่เราอาศัยขับมันอยู่ มันเป็นกระดองที่เต่าต้องแบกไป มันเป็นเปลือกที่หอยต้องแบกไป
    มันเป็นบ้านที่เราอาศัยมันอยู่ ถึงเวลาบ้านพังก็ไม่เกี่ยวกับเรา
    ขณะที่อยู่กับมัน ก็มีแต่ความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยน แปลงในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด
    อยู่กับมันก็มีแต่ความทุกข์ ทุกข์ของการเกิด ทุกข์ของการแก่ ทุกข์ของการเจ็บ ทุกข์ของการตาย
    ทุกข์ของการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์ของความปรารถนาไม่สมหวัง ทุกข์ของการกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ
    เกิดมาเมื่อไหร่ก็ทุกข์อย่างนี้อีก เกิดมาเมื่อไหร่ ก็มีร่างกายที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราอีก อยู่บนโลกที่ทุกข์ยากแบบนี้อีก มีสถานที่เดียวที่ไม่เกิดไม่ตาย ก็คือ พระนิพพาน
    เมื่อเห็นชัดแล้วว่า ร่างกายนี้หาความดีไม่ได้ มีแต่ความทุกข์ แล้วเรายังจะปรารถนาร่างกาย ที่เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้
    ปรารถนาโลกที่ทุกข์ยากเร่าร้อนอย่างนี้ไปอีกทำไม ? เพราะเกิดอีกเมื่อไร ก็ทุกข์เมื่อนั้น
    ขึ้นชื่อว่าการเกิดเช่นนี้ เราไม่ต้องการมันอีกแล้ว ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่มีแต่ความทุกข์เห็นปานนี้ เราไม่ต้องการมันอีกแล้ว
    ขึ้นชื่อว่าโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเร่าร้อนนี้ เราไม่ต้องการมันอีกแล้ว
    เป็นเทวดาหรือพรหม มีความสุขเพียงชั่วคราว หมดบุญเมื่อไหร่ก็ต้องลงมาทุกข์อีก เราไม่ต้องการมันอีกแล้ว
    ตายลงไปเมื่อไรเราขอมาอยู่ที่นี่ อยู่ที่พระนิพพานกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ที่พระนิพพานนี้เท่านั้น
    เอาใจเกาะพระนิพพานให้มั่นคง ทรงอารมณ์นี้เอาไว้ ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ จนกว่าจะได้ยินเสียงบอกหมดเวลา ?

    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    วันพฤหัสบดีที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๗

    จาก http://www.grathonbook.net/book/grammathan40/02.html

    ต่อจากนี้คือความเห็นของผมนะครับ ถูกผิดตามประสาผู้ไม่ใช่พระอริยปฏิสัมภิทาญาณ
    ในเบื้องต้นจะเห็นว่าท่านพระครูฯท่านให้อุบายในการเจริญอานาปานสติก่อน
    ตัวผมเองได้ลองฝึกตามรู้ลมหายใจหลายแบบ แต่แบบนี้จะสบายที่สุด โล่ง ไม่อึดอัด
    จากนั้นก็ตามด้วยกสิณภาพพระ จะเห็นว่าท่านสอนตามลำดับตามกำลังใจของผู้ฝึก
    คือ ใครที่ยังไม่เห็น ก็ให้ใช้ความรู้สึกก่อน และก็ไม่ใช้ตาเห็นด้วย ท่านกำกับเอาไว้
    จากนั้นท่านไล่ให้เราลองใช้อุคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต
    ตรงจุดนี้ ถ้าใครตามไม่ทันทำไม่ได้ก็ไม่ต้องเครียดหรือหนักใจอะไรนะครับ
    สิ่งสำคัญของกรรมฐานก็คือ ต้องปฏิบัติด้วยอารมณ์ที่สบาย ทำไม่ได้ก็ข้ามไปครับ
    เพราะท่านต่อด้วยกรรมฐานที่สำคัญมาก คือ พรหมวิหาร ๔ หรือ อัปปัมญญา
    ตรงนี้จะเริ่มมีวิปัสสนามาควบด้วยแล้ว
    จากนั้นก็เป็นธาตุ ๔ ก็ควบวิปัสสนาด้วยเช่นกัน
    สุดท้ายท่านมีห้อยอุปสมานุสสติเป็นจุดจบของกรรมฐาน(แน่นอนว่ามีวิปัสสนาควบด้วย)
    ซึ่งผมคิดว่า ไม่ว่าจะเจริญพระกรรมฐานแบบไหน ก็ควรเจริญมาจนถึงจุดๆนี้ให้ได้

    ปล. ศิษย์สายพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง กรุณาอ่าน เวบไซท์อ้างอิง โดยเฉพาะหัวข้อที่ ๔. ทาน ศีล ภาวนา ด้วยนะครับ
     
  2. tanaong2011

    tanaong2011 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    6,233
    ค่าพลัง:
    +7,421
    สาธุ สาธุ สาธุ ครับ
    เป็นอีกหนทางหนึ่งครับ
    จะลองนำไปปฏิบัติดูครับ
    ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแด่เจ้าของกระทู้ครับ.
     
  3. cnxchool

    cnxchool เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    32
    ค่าพลัง:
    +138
    สาธุครับ สาธุ ขอบคุณสำหรับแนวทางการปฎิบัติ
    ขอน้อมรับ และนำไปปฎิบัติตามแนวทางที่ ท่าน ให้ไว้
    อนุโมทนาสาธุครับ
     
  4. มีดสยาม

    มีดสยาม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ธันวาคม 2010
    โพสต์:
    94
    ค่าพลัง:
    +2,535
    สาธุ ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาบุญกับท่านเจ้าของกระทู้ด้วยครับ:cool:
     

แชร์หน้านี้

Loading...