เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 4 สิงหาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,586
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,544
    ค่าพลัง:
    +26,384
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,586
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,544
    ค่าพลัง:
    +26,384
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพเพิ่งจะมีเวลาบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุน เนื่องเพราะว่าไปร่วมพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลรุ่นอนุสรณ์ ๑๕๑ ปีมรณกาล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ที่วัดระฆังโฆสิตารามมา กว่าที่จะฝ่ารถติดกลับมาได้ ก็เพิ่งจะถึงที่พักในขณะนี้เอง

    สำหรับวันนี้ตั้งแต่เช้ามืด หลังจากเจริญพระกรรมฐานและทำวัตรเช้าแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ได้ขอสัตตาหะฯ ในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อที่จะเดินทางไปกิจนิมนต์และงานต่าง ๆ ที่มีต่อเนื่องอยู่หลายวัน คำว่า สัตตาหะ นั้น มาจากสัตตาหะกรณียะ ซึ่งแปลว่า ถ้ามีเหตุจำเป็น สามารถที่จะไปได้ ๗ วัน ภายในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งเหตุจำเป็นนั้นประกอบไปด้วย

    ข้อที่ ๑ พ่อป่วย แม่ป่วย พระอุปัชฌาย์อาจารย์ป่วย สามารถที่จะไปเพื่อรักษาพยาบาลได้

    ข้อที่ ๒ สหธรรมิกที่อยู่ต่างวัดต่างสถานที่กระสันจะสึก สามารถไปเพื่อห้ามปรามได้ ข้อนี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงบอกว่า ในสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตให้ไปได้ เพราะทราบว่าพระที่จะสึกนั้น ถ้าท่านอยู่ต่อแล้วตั้งใจปฏิบัติธรรม จะบรรลุอรหัตผล แต่ในยุคปัจจุบันนี้ ท่านไม่อนุญาตให้ไปห้ามปรามเพื่อนพระที่จะสึก เนื่องเพราะว่าถึงห้ามไปแล้วท่านอยู่ต่อ ก็ไม่ได้มรรคไม่ได้ผลอะไร

    ข้อที่ ๓ วัดพัง ต้องไปหาทัพพสัมภาระมาเพื่อซ่อมวัด สร้างวัด ในกรณีนี้สามารถที่จะไปได้ เพราะว่าในสมัยก่อนนั้นต้องเข้าป่าไปหาไม้ หาหวาย หาหญ้าแฝก หาหิน เพื่อที่จะมาสร้างกุฏิ ซ่อมกุฏิ จำเป็นที่จะต้องไปค้างอ้างแรมในป่า

    แต่ในปัจจุบันนี้ อย่างของวัดท่าขนุน เราแค่ยกหูโทรศัพท์ แค่ ๑๐ กว่านาที ทางร้านค้าวัสดุภัณฑ์ก็นำของมาส่งให้แล้ว ดังนั้น..สำหรับที่อื่น กระผม/อาตมภาพไม่ขอก้าวล่วงท่าน แต่ว่า
    ของวัดท่าขนุน ห้ามใช้ข้ออ้างนี้ในการขอไปในระหว่างพรรษา เนื่องเพราะว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ทั้งสิ้น
    ข้อที่ ๔ ข้อสุดท้ายก็คือ ถ้าได้รับกิจนิมนต์ ไปเพื่อเจริญศรัทธาได้
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,586
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,544
    ค่าพลัง:
    +26,384
    ทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นข้อที่มีพระบรมพุทธานุญาตไว้อย่างชัดเจน แต่สำหรับเรื่องอื่น ๆ นั้น ถ้าหากว่าจำเป็นที่จะไปในระหว่างพรรษา แล้วจะอาศัยสิทธิ์ในสัตตาหกรณียะ ก็คือถือว่าเรื่องจำเป็น สามารถไปได้ไม่เกิน ๗ วันนั้น ต้องดูจากข้ออ้างในการพิจารณาพระวินัย ก็คือมหาปเทส ๔ ซึ่งระบุไว้ว่า สิ่งที่ไม่สมควร ถ้าพิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นย่อมสมควร

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ในปัจจุบันที่พบเห็นอยู่ ก็คือ ข้อที่ ๑ การปฏิบัติธรรมของพระนวกะ ซึ่งจะต้องไปอยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกันยังสถานที่ซึ่งกำหนดเอาไว้ โดยเฉพาะในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ กำหนดเอาไว้ว่า พระนวกะที่บวชใหม่ในพรรษา จะต้องไปปฏิบัติธรรมร่วมกัน โดยมีครูบาอาจารย์ควบคุมดูแล อย่างน้อย ๕ วัน

    ข้อที่ ๒ คือการไปศึกษาตามวิทยาลัยสงฆ์ วิทยาลัยเขต ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็ดี หรือว่าการศึกษาในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ของพระภิกษุสามเณรก็ตาม ส่วนมากแล้วก็เป็นการศึกษาเพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้งในพระพุทธศาสนายิ่ง ๆ ขึ้นไป จะได้นำมาเผยแผ่ต่อให้แก่ญาติโยมอย่างมีหลักการ มีหลักเกณฑ์ และชัดเจนยิ่งกว่าเดิม ถึงแม้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่เคยอนุญาตไว้ ถือว่าไม่สมควร แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าสมควร ก็ไปได้

    ประการต่อไป คือการเจ็บไข้ได้ป่วยที่ไม่สามารถจะหักห้ามได้ ถ้าหากว่าป่วยหนักขนาดต้องไปนอนโรงพยาบาล วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือขอให้ทางวัดส่งตัวแทนคณะสงฆ์อย่างน้อย ๔ รูป ไปให้ผู้ป่วยบอกสัตตาหะฯ ในโรงพยาบาล ขออนุญาตที่จะอยู่ค้างตามที่หมอสั่ง เพื่อที่จะได้รักษากันอย่างต่อเนื่อง แต่ว่าต้องไม่เกิน ๗ วัน ถ้าหากว่าถึง ๗ วันแล้ว ก็ต้องเคลื่อนย้ายกลับวัดมาก่อน ข้ามคืนไปแล้ว ถึงบอกสัตตาหะฯ เพื่อไปรักษาต่อได้ เหล่านี้เป็นต้น

    เมื่อได้รับสัตตาหะเรียบร้อยแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ออกเดินทางมายังวัดอุทยาน ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เพื่อที่จะฉันเพล แล้วหลังจากนั้นก็เดินทางต่อไปยังสถานที่นิมนต์ ก็คือวัดระฆังโฆสิตามราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันง่าย ๆ ว่า "วัดหลวงพ่อโต"
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,586
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,544
    ค่าพลัง:
    +26,384
    เหตุที่ต้องรีบไป ก็เนื่องจากว่าองค์ประธานทรงเจิมและทรงจุดเทียนชัย ก็คือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พวกเราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไปลงทะเบียน เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ กันก่อน แล้วพระภิกษุสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์ไป ทั้งพระเกจิอาจารย์ที่รับนิมนต์ไปนั่งปลุกเสกก็ดี พระมหาเถระที่ไปเจริญพระพุทธมนต์ หรือว่าเจริญชัยมงคลคาถาก็ตาม รวมแล้วมีถึง ๑๕๐ กว่ารูป จึงต้องรีบไป เพื่อที่จะได้ไม่สะดุดติดขัด

    เมื่อไปถึง ทำการตรวจเรียบร้อยแล้วว่าไม่มีเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ กระผม/อาตมภาพก็เข้าไปยังอาคารปิยธรรมที่เขาจัดไว้ให้เป็นที่พักพระเถระ พบบรรดาพระเถรานุเถระ ทั้งฝ่ายปกครองและพระเกจิอาจารย์จำนวนมากต่อมากด้วยกัน จึงได้เข้าไปกราบไหว้ทักทาย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกัน

    โดยเฉพาะทางด้านจังหวัดกาญจนบุรีนั้น พระเดชพระคุณพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ, ดร. (ปัญญา วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ.๙) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี พระเดชพระคุณพระราชวิสุทธาภรณ์ (ทองดำ อิฏฺฐาสโภ ป.ธ.๖) รองเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี และพระครูสุทธิสารโสภิต รองเจ้าคณะอำเภอไทรโยค ก็ได้รับกิจนิมนต์มาในงานนี้ด้วย

    นอกจากนั้นแล้ว ที่นั่งคุยกันอยู่ก็มี ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพวัชราจารย์ (เทียบ สิริญาโณ, ป.ธ.๙) รศ.ดร. หรือที่เรียกกันว่าท่านเจ้าคุณเทียบ ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวที (พล อาภากโร, ป.ธ.๙) รศ.ดร. หรือที่เรียกกันว่าท่านเจ้าคุณพล

    โดยเฉพาะท่านเจ้าคุณเทียบนั้น ถึงขนาดสอบถามเรื่องที่ท่านสมศักดิ์ อนุราชเสนา อัญเชิญผ้าไตรพระราชทาน พร้อมด้วยสังฆทานทรงจบ ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ไปถวายให้แก่กระผม/อาตมภาพยังวัดท่าขนุน ก็แปลว่า สิ่งที่ทางวัดท่าขนุนกระทำนั้น ได้อยู่ในสายตาผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นทางคณะสงฆ์ก็ดี ครูบาอาจารย์ เพื่อนสหธรรมิกก็ตาม ล้วนแล้วแต่รู้เห็นด้วยกันทั้งสิ้น

    จึงเป็นเรื่องที่ยิ่งเตือนให้กระผม/อาตมภาพจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง ว่าสิ่งที่เรากระทำทุกอย่างนั้นอยู่ในสายตาของผู้อื่น โดยเฉพาะอยู่ในสายพระเนตรพระกรรณอีกด้วย
    สิ่งหนึ่งประการใดที่กระทำแล้ว จะสร้างความเสียหายให้แก่พระพุทธศาสนา เป็นอันว่าลืมไปได้เลย ไม่มีสิทธิ์ที่จะกระทำอย่างเด็ดขาด..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,586
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,544
    ค่าพลัง:
    +26,384
    ส่วนอีกท่านหนึ่งก็คือหลวงพี่มหาดำของคณะศิษย์วัดท่าซุง หรือท่านเจ้าคุณพระราชสุวรรณเวที ป.ธ. ๖ ซึ่งสมัยที่ท่านยังเป็นพระมหาสันติ สนฺติญาโณนั้น ได้เป็นผู้ที่วิ่งงานต่าง ๆ ให้แก่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงเป็นประจำ

    เมื่อได้เจอหน้าผู้ที่เป็นหลวงพี่ แต่ความจริงแล้ว ท่านเป็นระดับครูบาอาจารย์ ก็ได้คุยกันถึงวีรกรรมสมัยอยู่วัดท่าซุงกันเป็นที่สนุกสนานเฮฮา จนกระทั่งบรรดาพระเถรานุเถระ "มเหสักโข" ต่าง ๆ มากันมากมาย หลายท่านก็ได้เจอหน้ากันแค่แวบเดียว ก่อนที่จะเข้าสู่อุโบสถ วัดระฆังโฆสิตาราม ส่วนหลายท่านก็นั่งเคียงกันไปเลยในระหว่างที่กำลังพุทธาภิเษก

    เมื่อถึงเวลาที่กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาถึง ก็ได้ทรงศีล ทรงเจิม และทรงจุดเทียนชัย จากนั้นก็ได้ถวายผ้าไตรพระราชทานแก่พระเถรานุเถระ ซึ่งกระผม/อาตมภาพนั้นรับด้วยความเคยชิน เพราะว่าผ้าไตรพระราชทานนั้นรับมาน่าจะเป็น ๑๐ วาระแล้ว

    แต่ว่ามีพระเกจิอาจารย์บางรูปที่ไม่เคยชิน เมื่อถึงเวลารับผ้าประเคนแล้วก็เดินออกไปเลย ถึงขนาดพระองค์ท่านมีรับสั่งว่า "พระคุณเจ้าอย่าเพิ่งไป ยังไม่ได้นำผ้าไตรจีวรไปด้วยเจ้าค่ะ" พวกกระผม/อาตมภาพเมื่อออกมาข้างนอกยังแซวกันว่า "หลวงพ่อรู้สึกว่าจะมีบุญเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่ากรมสมเด็จฯ ทรงมีรับสั่งกับหลวงพ่อองค์เดียวเท่านั้น ไม่เห็นพระองค์ท่านรับสั่งกับองค์อื่นเลย"
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,586
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,544
    ค่าพลัง:
    +26,384
    เมื่อได้เวลา ทางด้านพระมหานาคเริ่มสวดพุทธาภิเษก กระผม/อาตมภาพก็น้อมจิตน้อมใจกราบขอบารมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตเจ้า ครูบาอาจารย์ ตลอดจนกระทั่งพรหมเทวดา และเจ้าที่เจ้าทาง อนุเคราะห์สงเคราะห์ในการพุทธาภิเษกวัตถุมงคลรุ่นอนุสรณ์ ๑๕๑ ปีมรณกาล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม

    แล้วก็เห็นหลวงปู่โต วัดระฆัง ซึ่งต้องเรียกว่า "ท่านอาจารย์ปู่ทวด" องค์ใหญ่ล้นโบสถ์วัดระฆังเลย จึงน้อมใจถวายภาระให้แก่ท่าน จนกระทั่งท่านบอกว่า "เต็มที่แล้ว" กระผม/อาตมภาพก็ "ถอนใจ" ออกมาทำน้ำมนต์ แล้วก็เรียกให้ผู้ติดตามนำเอาไทยธรรมไปขึ้นรถ

    แต่ว่าวันนี้รถนั้นก็มามากเหลือเกิน จึงต้องติดอยู่ข้างล่างเป็นเวลานาน ได้มีเวลาสนทนากับพระเดชพระคุณพระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร) ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกันมาตั้งแต่สมัยกระผม/อาตมภาพยังอยู่วัดท่าซุง แล้วก็ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.๙, Ph.D.) ประธานคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่รถวิ่งผ่านมายังอุตส่าห์เปิดกระจกมาทักทาย เมื่อรอจนรถของกระผม/อาตมภาพมาถึงแล้ว กว่าที่จะฝ่ารถติดมาถึงที่พัก ก็เลยเวลาทุ่มครึ่งไปแล้ว จึงต้องขออภัยต่อญาติโยมทั้งหลาย ที่วันนี้ได้ฟังเสียงธรรมช้าไปสักหน่อย

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...