"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระคติธรรมวิสาขบูชา 64

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย rachotp, 25 พฤษภาคม 2021.

  1. rachotp

    rachotp เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 ตุลาคม 2020
    โพสต์:
    1,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    252
    ค่าพลัง:
    +23,807
    "สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระคติธรรมวิสาขบูชา 64

    1.PNG

    ทรงชี้ทุกคนเป็นผู้กำหนดชีวิตตัวเอง พัฒนาตนให้ประเสิรฐ พ้นทุกข์ หาใช่เพราะการดลบันดาลของพรหม เทพ หรือชะตาฟ้าดิน

    เมื่อวันที่ 24 พ.ค. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา 26 พ.ค. 2564 ใจความว่า ดิถีวิสาขบูชา อันเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นวันสำคัญสากลของโลก ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ชวนให้ระลึกถึงเหตุการณ์ เมื่อพระโพธิสัตว์สิทธัตถราชกุมารเสด็จอุบัติขึ้นบนโลกนี้ ดังปรากฏเรื่องราวในพระไตรปิฎกว่า พระองค์ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ทอดพระเนตรทิศทั้งหลาย ทรงพระดำเนินย่างพระบาทไปเจ็ดก้าว แล้วทรงเปล่งพระอาสภิวาจาว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก เราคือผู้เป็นใหญ่แห่งโลก” ดังนี้อุปมาดั่งการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ให้ต่างตระหนักว่าเราทุกคนล้วนเป็นผู้กำหนดชีวิตของตนเอง สามารถพัฒนาตนให้ประเสริฐ ให้พ้นทุกข์ ให้มีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ ถึงขั้นจะรู้แจ้งสัจธรรมเป็นพระพุทธเจ้าก็ยังได้ โดยหาใช่เพราะการดลบันดาลของพรหม เทพ หรือชะตาฟ้าดินแต่อย่างใด


    พุทธบริษัททั้งหลาย จึงพึงพิจารณาถึงย่างก้าวแห่งธรรมะ 7 ประการ อันนำไปสู่การตรัสรู้ ซึ่งเรียกว่า “โพชฌงค์ 7” ประกอบด้วย สติ ความระลึกได้, ธรรมวิจยะ การศึกษาสอดส่องธรรมะ, วิริยะ ความพากเพียร, ปีติ ความเอิบอิ่มใจโดยปราศจากอามิส, ปัสสัทธิ ความสงบกายใจ, สมาธิ ความมีจิตตั้งมั่น และ อุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง อย่างไรก็ดี ก่อนจะย่างไปให้ครบทั้ง 7 ก้าว สู่ความเป็นเลิศในโลกนั้น มนุษย์ผู้ปรารถนาอิสรภาพ จำเป็นต้องเริ่มต้นฝึกฝนตนเองให้มั่นคง ในย่างก้าวสำคัญก้าวแรกแห่งการพัฒนา ได้แก่ “สติ” กล่าวคือ ให้รู้เท่าทันในการเคลื่อนไหว ในอารมณ์ที่ปรุงแต่งจิต และในความคิดทั้งหลายให้ได้ หากปราศจากสติเสียแล้ว องค์ธรรมแห่งความสำเร็จสูงสุดสำหรับมนุษยชาติประการอื่นๆ ย่อมไม่อาจจะติดตามมาได้เลย ขอสาธุชนจงมุ่งมั่นหมั่นศึกษาอบรมเจริญสติ ให้รู้เท่าทันกาย วาจา และใจของตนเอง อันนับเป็น “ปฏิบัติบูชา” ที่พึงกระทำต่อพระรัตนตรัย เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประทีปส่องใจเวไนยนิกรทั้งปวง สืบไปตลอดกาลนาน เทอญ.


    Credit: ขอขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ https://www.dailynews.co.th/education/845400


     
  2. rachotp

    rachotp เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 ตุลาคม 2020
    โพสต์:
    1,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    252
    ค่าพลัง:
    +23,807
    ในหลวง พระราชทาน “บัตรอวยพรวิสาขบุรณมีบูชา วันสำคัญสากลของโลก พ.ศ.2564 ทรงสืบสานพระราชปณิธาน ร.6

    564000005174301.jpg

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน “บัตรอวยพรวิสาขบุรณมีบูชา วันสำคัญสากลของโลก พ.ศ. 2564 สืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

    วันนี้ (25 พ.ค.) เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ (www.royaloffice.th) ได้เผยแพร่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน “บัตรอวยพรวิสาขบุรณมีบูชา วันสำคัญสากลของโลก พ.ศ. 2564 พระราชทาน” ที่ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานบัตรอวยพรเนื่องในวันวิสาขบูชา ให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการส่งบัตรอวยพรแก่กัน ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2563 และครบรอบ 100 ปีใน พ.ศ. 2564 นี้

    “บัตรอวยพรวิสาขบุรณมีบูชา วันสำคัญสากลของโลก พ.ศ. 2564 พระราชทาน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ ที่ทรงอธิบายถึง พระราชมรดกทางปัญญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ก็คือ แนวพระราชดำริเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง


    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เมื่อแปลตามหลักนิรุกติศาสตร์จะได้ความว่า “ความพอเพียง เป็นกิจอันประเสริฐ” (สนฺตุฏฺฐี เสฏฺฐกิจฺจํ) ซึ่งเป็นหลักใจที่เป็นกลาง ๆ ในการดำเนินชีวิตที่ทุกคนปฏิบัติได้ ปฏิบัติถึง และปฏิบัติให้เป็นผลได้


    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงขยายความให้เกิดความชัดเจนอีกว่า ความจริงคุณสมบัติของหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ที่ประกอบด้วย ความพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และความมีเหตุผล ก็คือหลักการทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า ไตรสิกขานั่นเอง กล่าวคือ “ศีล” ที่แปลว่า ปกติ เป็นการดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนและสังคม มีชีวิตที่เป็นปกติ เรียกว่า รู้จักดำเนินชีวิตอย่าง “พอประมาณ” คือมีกายวาจาที่สมดุล ไม่ใช้กายวาจาของตนสร้างความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและสังคม


    การเจริญสติที่ต่อเนื่องจนเป็น “สมาธิ” คือ ความตั้งใจมั่น จะก่อให้เกิดผล “มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี” และการตื่นรู้ ที่นำไปสู่การพัฒนา ก่อให้เกิด “มีเหตุผล” เรียกอีกอย่างว่า “ปัญญา”


    ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียง ในการปฏิบัติการที่แท้จริงก็คือ พัฒนาพฤติกรรมทางกายวาจาให้มีความพอประมาณ หรือความปกติ พัฒนาสติต่อเนื่องจนมีจิตที่ตั้งมั่นเรียกว่า “สมาธิ” มีผลทำให้มีภูมิคุ้มกัน และปฏิบัติเรียนรู้จนเกิดการตื่นรู้ เห็นทุกอย่างตามเหตุปัจจัย ทำให้กระบวนการคิดประกอบด้วยหลักการของเหตุและผล

    ดังนั้น ทุกกิจกรรมของมนุษยชาติควรประกอบด้วยหลักการแนวพระราชดำริที่ว่า “ความพอเพียง เป็นกิจอันประเสริฐ” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กิจกรรมใดที่ประกอบด้วยหลักแห่งความพอเพียง คือหลักแห่งความสมดุลเป็นพื้นฐาน ก็เรียกได้ว่า เป็นกิจอันประเสริฐ เป็นกิจที่นำไปสู่ความสงบสุขของตนและผู้อื่นในสังคมเป็นที่สุด


    วิสาขบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือในกรณีปีใดมีอธิกมาสจะกำหนดในเดือน 7 อันเป็นวันคล้ายดิถีประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับบัตรอวยพรเนื่องในวันวิสาขบูชา เพื่อให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการส่งบัตรอวยพรแก่กันในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ทำนองเดียวกับการอวยพรในวันสมโภชพระคริสตสมภพ จึงทรงริเริ่มการพระราชทานบัตรอวยพรวันวิสาขบูชาแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนัก เป็นครั้งแรกเมื่อ พุทธศักราช 2563

    บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ได้รับพระราชทานบัตรอวยพร ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพร้อมใจกันสนองพระราชนิยมด้วยการจัดทำบัตรถวายพระพร เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเช่นกัน ลักษณะของบัตรถวายพระพรแต่ละฉบับ มีขนาด ลวดลาย และข้อความที่แตกต่างกันไป มีทั้งข้อความเป็นคาถาภาษาบาลี ความเรียงร้อยแก้ว และบทร้อยกรองประเภท โคลง หรือกลอน เป็นต้น

    บัตรอวยพรวันวิสาขบูชา สะท้อนให้เห็นถึงแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชปรารถนาให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา พร้อมส่งความปรารถนาดี ด้วยภาพและข้อความอันเป็นมงคล ทำให้ผู้ได้รับเกิดความปีติยินดี ก่อให้เกิดสามัคคีธรรม และน้อมนำใจให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเป็นสรณะนำทางชีวิต

    Credit: ขอขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000050496
     

แชร์หน้านี้

Loading...